ย้อนอดีตแม่โจ้

by

|

in
Archives-Logo-2021-black-3500x1000

Maejo University Oral History

เรื่องราวเหตุการณ์ ประสบการณ์ คำบอกเล่า จากศิษย์เก่าแม่โจ้ เพื่อการเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้่

            ในปี พ.ศ. 2478 นักเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม รุ่นที่ 1 มีนักเรียนสมัครเข้ามาศึกษา 200 กว่าคนมาจากเกือบทุกจังหวัด พอมาถึงโรงเรียนเห็นเรือนไม้สองชั้น โรงอาหาร โรงครัวและสนามบาสเกตบอลเท่านั้น ถัดไป เป็นแปลงขนาด 1×5 เมตร ของนักเรียน ป.ป.ก. รุ่นแรกทำไว้ นอกจากนั้นมองไปทางใดก็เป็นป่าทึบเต็มไปหมด จากอาคารโรงเรียนมีทางไปสถานีทดลองกสิกรรมห้วยแม่โจ้ด้านเหนือมีบ้านพักครู-อาจารย์เรียงกัน 4 หลัง จึงจะถึงสะพานแม่โจ้ ตรงสะพานข้ามลำห้วยแม่โจนี้เป็นที่ประทับใจของทุกคน เพราะมีรางน้ำไม้กว้าง 50 เซนติเมตร ทอดข้ามห้วยโจ้ไปทางทิศตะวันออกเพื่อใช้น้ำรดแปลงผักของนักเรียนใหม่ ท่านอาจารย์ใหญ่ สั่งให้ทำลำรางต่อตรงกลางรางน้ำให้ทอดไปตามลำห้วยยาว 10-15 เมตร แล้วเจาะรูทั้งสองข้างเพื่อให้น้ำตกลงมาใช้สำหรับนักเรียน ล้างความขี้เกียจสันหลังยาว ความเป็นผู้ดีถือตัว รวมทั้งดินโคลนที่เปรอะเปื้อนออกจากตัวทุกเช้าเย็นมียกพื้นห้วยปูไม้กระดาน 4 แผ่น ทั้งสองข้างให้ยื่นอาบอย่างสบายคราวละไม่ต่ำกว่า 20-30 คน

            วันรุ่งขึ้นทางโรงเรียนให้พักเหนื่อย 1 วัน แต่รุ่นพี่ ป.ป.ก. ก็มาชี้แจงให้นักเรียนใหม่เตรียมตัวตรวจสุขภาพ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้ว รุ่นพี่ ป.ป.ก. 2 คน นำเครื่องใส่หูฟังของหมอกระเป๋ายาและถุงมือยาง มาเตรียมเพื่อตรวจสุขภาพนักเรียนใหม่ บางคนบอกว่ามีใบรับรองแพทย์มาแล้วแต่คนของหมอเถื่อนก็แจ้งว่าทางโรงเรียนต้องตรวจใหม่อีกครั้งหนึ่ง สถานที่ตรวจอาจทำให้นักเรียนเอะใจเหมือนกัน เพราะแทนที่จะตรวจกันที่โรงเรียนเรือนไม้ชั้นล่าง กลับต้องมาเดินตรวจที่บ้าน ค ตีนสะพานแม่โจ้ด้านตะวันออก เมื่อเดินตามกันมาเป็นแถวก็เข้าสูตรเลย ไม่มีใครเฉลี่ยวใจเลย มีเจ้าหน้าที่จดชื่อ เรียงคิวกันเดินขึ้นไปบนบ้าน ค ทีละคน หมอซึ่งใส่เสื้อคลุมสีขาวก็สั่งให้ถอดเสื้อแล้วเอาหูฟังจิ้มที่หน้าอกบ้าง ปีกด้านหลังบ้าง ให้อ้าปากใช้ช้อนกดลิ้นดูลิ้นไก่และแหกตาดูโรคแทรโลม่า บิดหัวเอียงไปมานิดหน่อย พยักหน้าว่าดี ขั้นต่อไปก็ให้ปลดกระดุมกางเกง (ส่วนมากไม่ค่อยใช้ซิปกัน) หมอเถื่อนที่ใส่ถุงมือยางก็รีดจมูกล้างของทุกคนว่ามีขี้มูกไหลไหม (คนแรก ๆ หมอก็ยังทำหน้าไม่สนิทนักคนต่อ ๆ ไปค่อยทำหน้าเคร่งได้สำเร็จ) นักเรียนใหม่ถูกตรวจโรคกันเกิน 80% พวกที่รอดไปได้ก็เพราะมาไม่ทันบ้าง ออกไปซื้อของแถวตลาดแม่โจ้ ร้านค้าย่อยบ้าง มีนายประเสริฐ ชลทรัพย์ นายวิบูลย์ บุณยปรัตยุษ นายทวี ดิษยสุต นายไสว บุณยปรัตยุษ และนายประสบ ประทุมวัต เลขประจำตัว 12345 ตามลำดับเท่านั้น ที่นอนไม่ถูกตรวจ เพราะได้เข้ามาอยู่ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2478 เสียก่อนแล้ว รู้จักหมอเถื่อนดี พอถึงตอนอาหารกลางวันนักเรียนใหม่ที่โดนตรวจโรค ก็ได้พบหมอเถื่อนทั้ง 3 คนจึงรู้ว่าถูกต้มเสียแล้ว ต่างก็ก้มหน้ากินอาหารกันไปตามเรื่อง ละอายในใจเหลือเกิน บางคนอึดอัด และอาย แต่เหตุการณ์ทุกอย่างก็เป็นปกติตลอดมา

            ในเดือนมิถุนายน 2479 ก่อนรุ่งอรุณวันที่ 7 มิถุนายน 2479 เวลา 3.00 น. เศษ นายคางยื่น (ฉายาของหม่อมหลวงฉาบ คำภู) เป็นผู้ยิงปืนลูกซองเบอร์ 12 ขึ้น 2 นัดเป็นอาณัติสัญญาณให้บรรดาโจรนักเรียนรุ่น 1 แบ่งสัดส่วนกันเข้าบุกหอนอนตามจำนวนนักเรียนรุ่น 2 ประกบกันเป็นรายตัว ตัดหูมุ้ง 4 มุม ครอบตัวแล้วก็ส่งเสียงเอะอะโวยวายแบบโจร ตีปี๊บ ตีจอบเคาะฝากระดานให้ดังเซ็งแซ่ เพื่อให้นักเรียนใหม่ตกใจดิ้นขลุกขลักอยู่ในมุ้ง บรรดากระสือทั้งหลาย ก็ถือโอกาสฉกฉวยสิ่งของที่กินได้ทั้งปวง ตลอดจนผลไม้และสิ่งกวนที่บรรดานักเรียนใหม่นำติดตัวมารวมใส่เข่งและบุ้งกี้ที่เตรียมมาขน แล้วโยกย้ายไปเข้าช่องโจร ที่รู้แต่เฉพาะนักเรียนรุ่นเดียวกันเสียก่อนแล้วหวนกลับมาต้อนเอานักเรียนที่กำลังตื่นงัวเงีย สะลืมสะลืออยู่ให้เข้าแถวบอกแต่เพียงว่าเป็น พิธีการของโรงเรียนเกษตร แล้วนำขบวนไปเรียงรายรอบ “สระเกษตรสนาน

            นายประเสริฐ ชลทรัพย์ เลขประจำตัว 1 บอกนักเรียนทั้งหมดด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ให้นักเรียนใหม่ยืนเข้าแถวล้อมรอบสระสนาน นักเรียนเก่าทั้งหมดยืนเข้าแถวหลังนักเรียนใหม่เราจะเริ่มทำพิธี ณ บัดนี้แล้ว นักเรียนเก่าทั้งหมด ถีบนักเรียนใหม่ลงไปอาบน้ำในสระทุกคน” พอสิ้นเสียงสั่งการ นักเรียนเก่าก็ถีบนักเรียนใหม่ที่เผลอตัวลงไปในสระเสียงดังตูม ๆ บางคนไหวทันพอรู้ตัวทำท่าจะขัดขึ้นพวกเราก็พากันถีบให้ลงสระจนได้ นักเรียนใหม่บางคนฉลาด ไหน ๆ จะลงสระแล้ว ก็เลยฉุดเอารุ่นพี่ลงสระตามไปด้วย

            ในช่วงเช้าตอนก่อนตี 5 น้ำในสระมันหนาวเย็นดีเหลือเกิน นักเรียนใหม่บางคนฉุนเฉียวตะกายขึ้นสระมาได้ก็ชกต่อยตะลุยขึ้นมา พวกเราก็ใจเย็นพยายามจับตัวรวบแขนรวบขา แล้วตะโกนสำทับไปว่า เป็นประเพณีของแม่โจ้ ใครจะเข้ามาอยู่ร่วมด้วย ต้องชำระล้างความเป็นผู้ดีหยิบโหย่งในสระสนานเสียก่อน ในเช้านี้โดยรอบ ๆ สระโกลาหนอุตลุดพิลึก ดู ๆ แล้วก็เหมือนลูกหมาตกน้ำเป็นฝูง

            เวลาสายของวันที่ 7 มิถุนายน 2479 เวลา 10.00 น. ก็ถึงวาระแสดงความสามัคคีกัน ในการแย่งสี ธงเขียว ขาว เหลือง เพื่อเป็นการทดสอบพลังว่านักเรียนที่มาใหม่จะมีความอดทนรวมกำลังกันได้แค่ไหน ทำอย่างไรจึงจะเข้ามาอยู่ใต้ร่มธงของแม่โจ้ได้ การแย่งสีนักเรียนใหม่ถ้าต้องการเข้ามาอยู่ใต้ธงของแม่โจ้ให้ได้ ก็ต้องใช้ความอดทนใช้ความสามัคคีร่วมใจกันแย่งธงลงมาจากที่สูงให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็อย่าเป็นลูกแม่โจ้เลย สำหรับ พ.ศ. 2479 นี้ สีของพวกเราบังเอิญเชิญไปผูกไว้ที่ต้นตึง (ข้างสนามบาสเกตบอล) ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร เปลือกนอก ก็ขรุขระ ยากแก่การโอบกอดเพราะจะทำให้มือถลอกเป็นแผลได้ นายสุพิน สุขอริยะ เป็น ผู้ที่นักเรียนใหม่ช่วยกันดันขึ้นไป เกือบจะพันศีรษะพรรคพวกอยู่แล้ว นักเรียนเก่าก็รวมกำลังกันดึงข้อเท้าให้รูดจากต้นตึงลงมาถึงดิน ปรากฏว่าตั้งแต่หัวแม่เท้า หน้าอก คาง ปาก จมูก ใบหน้าถูกครูดมากับต้นตึงถลอกปอกเปิกเลือดไหลซิบ ๆ ทั้งเสื้อผ้าก็ขาดกระรุ่งกระริ่งจนเห็นว่าจวนจะเที่ยงวัน จึงลดข้อให้ทำเป็นดึง ๆ ผลัก ๆ รุมล้อมดึงเสื้อผ้าให้ฉีกขาดสนุกมือไปตาม ๆ กัน พอได้จังหวะนักเรียนใหม่ที่มีการรวมกำลังกัน 7-8 คนดันเพื่อนคนหนึ่งให้ปืนต้นไม้ได้ พวกเราก็ทำอ่อนข้อลงเสียบ้างมิฉะนั้นแล้ว วันทั้งวันทำยังไงก็คงไม่สามารถนำธงลงจากต้นตึงได้แน่ คนที่อยู่บนต้นไม้ก็เกร็งข้อครั้งสุดท้ายขยับเท้า ที่พ้นพวกเราดึงได้แล้วก็โหนตัวขึ้นไปเอาธงสำเร็จ ตอนนี้ทั้งนักเรียนเก่านักเรียนใหม่ก็โห่ร้องดีใจไปตาม ๆ กัน ความปลาบปลื้มในการแย่งสีถ้าใครไม่เข้าผจญด้วยตนเองมัวแต่แหยง ๆ อยู่ไม่กล้าเข้าร่วมพละกำลังจะไม่เกิดความปิติเท่าใดนัก

            ในแม่โจ้มีอีกหลายสิ่งหลายอย่าง มีนักกีฬาที่มีความสามารถ การจัดการทีมนักกีฬาที่มีความสามารถอยู่ในขั้นเก่งของเชียงใหม่ โดยเฉพาะฟุตบอลรุ่นใหญ่ ซึ่งได้ถ้วยชนะเลิศ 4 ปีซ้อน (พ.ศ. 2479-2481) ตะกร้อข้ามเน็ต เราก็เอามาแสดงที่เชียงใหม่เป็นปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2878 กรีฑาทั้งลู่และลาน เราเอาถ้วยเอาเหรียญมาให้โรงเรียนมากมาย

 

ผู้ให้ข้อมูล: อนุสรณ์ วิจารย์ปรีชา แม่โจ้รุ่นที่ 53
ที่มา: หนังสือบันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน 

เหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2478 บรรยายถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน และประเพณีการรับน้องใหม่ ซึ่งเป็นการทดสอบความอดทนและความสามัคคีของนักเรียนใหม่ ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง และบางกิจกรรมมีการเปลี่ยนรูปแบบไป ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง

เชิญชวนศิษย์เก่าแม่โจ้ ร่วมเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการบอกเล่าประสบการณ์จากอดีตที่ผ่านมาของท่านในแม่โจ้

สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลได้ที่ ฝ่ายจดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาคารวิภาต บุญศรี วังซ้าย

โทร. 0 5387 3508

หรือสามารถติดต่อได้ที่ Facebook: จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้