Skip to content Skip to footer

นายอภิชาต จงสกุล

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน

นายอภิชาต จงสกุล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาฟิสิกส์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2520 ระดับ ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีการบริหารสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อพุทธศักราช 2528 และสำเร็จหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 50 จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เมื่อพุทธศักราช 2551

ด้านการทำงาน นายอภิชาต จงสกุล มีประวัติการทำงานที่แสดงถึงความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อพุทธศักราช 2543 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 จังหวัดพิษณุโลก และผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 จังหวัดราชบุรี เมื่อพุทธศักราช 2546 ดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อพุทธศักราช 2548 และเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อพุทธศักราช 2550 อีกทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ ให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้านผลงานทางวิชาการ นายอภิชาต จงสกุล เป็นผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เรื่องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด ของดินกรดกำมะถัน จากกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อพุทธศักราช 2538 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รับผิดชอบงานวิจัยโครงการแกล้งดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส วางแผนการทดลอง การเก็บรวบรวม ข้อมูล การจัดทำรายงานผลการศึกษา มีการขยายผลและประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นที่ประจักษ์จนได้รับรางวัลสังข์เงิน จากทำเนียบรัฐบาล เมื่อพุทธศักราช 2539

ด้านผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีนั้น นายอภิชาต จงสกุล เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมที่ดิน ปรากฏเป็นที่ยอมรับเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีของคนทั่วไปในการประพฤติตนเป็นข้าราชการที่ดี ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในด้านทรัพยากรมนุษย์ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปีพุทธศักราช 2545 จากสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ ปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นตัวอย่างการฟื้นฟูป่าและ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบการปลูกพืชพลังงานทดแทนปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ การใช้ประโยชน์สารสกัดจากสะเดาตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งรับผิดชอบโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หนองพลับ-กลัดหลวง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการพัฒนาพื้นที่ และการให้การสนับสนุนสมาชิกโครงการในการประกอบอาชีพ รวมถึงบริหาร จัดการโครงการการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการเกษตร แหล่งเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ความร่วมมือระหว่างประเทศของกรมพัฒนาที่ดินกับ IRD เจรจาการขอรับทุน สนับสนุนงานวิจัยทุนฝึกอบรมให้นักวิชาการกรมพัฒนาที่ดินและการจัดทำข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการระยะที่ 3 (2550-2554) การให้ความช่วยเหลือด้าน วิชาการการวิเคราะห์ดิน กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกทั้งเป็น ผู้บริหารเทคโนโลยีระดับสูง (Chief Information Officer: CIO) ของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ประสานงานอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการเป็นทะเลทราย (UNCCD) และ เป็นประธานการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆ อาทิ การจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาโลหะหนักปนเปื้อนในดิน พื้นที่ลุ่มแม่น้ำตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก การจัดทำแผนบรรเทาภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรดิน ปีพุทธศักราช 2550-2554 ในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน รับผิดชอบการจัดทำเขตพัฒนาที่ดิน ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ “ตามรอยพระบาทครองราชย์ 50 ปี ฟื้นฟูปฐพีไทย” นอกจากนี้ ยังเป็นประธาน คณะทำงานโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพป่าชายเลนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา รวมถึงเป็นผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และเป็นผู้ริเริ่มนำแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี มาใช้ในงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นครั้งแรก อีกทั้งเป็นศิษย์เก่าดีเด่น ในด้าน การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อพุทธศักราช 2555

ด้านการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน นายอภิชาต จงสกุล ได้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยรับผิดชอบ โครงการในพระราชดำริต่าง ๆ พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ ในการจัดทำแผนเพื่อกำหนดเรื่องวิกฤตอาหาร และพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งยังจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร หรือ AEOC เป็นอาคารด้านเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อเตือนภัยโดยเฉพาะ ภัยธรรมชาติ รวมถึงการบริหารและจัดการข้อมูลที่มีอยู่ให้นำไปใช้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยใช้แบบจำลองต่างๆ

นอกจากนี้ นายอภิชาต จงสกุล ยังเป็นผู้สนับสนุนทำคุณประโยชน์ให้กับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและ พัฒนาพื้นที่โครงการพระราชดำริบ้านโปง สนับสนุนและร่วมจัดนิทรรศการ ด้านศูนย์การเรียนรู้และการปรับพื้นที่แปลงเกษตร 35 ไร่ สนับสนุนและ ร่วมจัดนิทรรศการที่มีชีวิต “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” ของหลักสูตรภูมิสังคม อย่างยั่งยืน ในโครงการแม่โจ้…ภูมิปัญญาด้านการเกษตร เป็นผู้สนับสนุน งานวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อพุทธศักราช 2557 โดยการเป็นวิทยากร บรรยายหัวข้อ “การใช้ประโยชน์ในพื้นที่และการโซนนิ่งพื้นที่” อีกทั้งยังสนับสนุน โครงการแลกเปลี่ยน โดยรับนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ทั่วประเทศ และรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้าทำงานในกรมพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ในปีพุทธศักราช 2557 รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษสอนรายวิชา พภ 513 แนวคิด และทฤษฎีในพระราชดำริ และรายวิชา พภ 531 การบริหารโครงการพัฒนา ของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2557 จนถึงปัจจุบัน

โดยที่ นายอภิชาต จงสกุล เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ในวงวิชาการ อีกทั้งเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นผู้เพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์ต่อสังคม และทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นบุคคลที่มี เกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 37 วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2558

Go to Top