Skip to content Skip to footer

นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์

นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวบาล คณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อพุทธศักราช 2528 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทเชียงใหม่ เฟรชมิลค์ จำกัด กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กรรมการ ประจำฝ่ายผลิต องค์การส่งเสริมกิจการโคนมห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ อุปนายก สมาคมนักศึกษาเก่าเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ด้านธุรกิจสัมพันธ์ เชียงใหม่) นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งอุปนายก สมาคมนักเรียนเก่า ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย พุทธศักราช 2551-2553

ในด้านการทำงาน นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร นับเป็นผู้ประสบความสำเร็จ อย่างยอดเยี่ยมในธุรกิจด้านการปศุสัตว์และอุตสาหกรรมน้ำนมโค กล่าวคือ ดำเนินธุรกิจน้ำนมโคเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี โดยเริ่มต้นจากการจัดจำหน่าย นมพาสเจอไรซ์ ในโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่พุทธศักราช 2537 จากนั้นจึงขยายครอบคลุม เขตภาคเหนือทั้งหมด ต่อมาได้ใช้เทคโนโลยีและวิชาการด้านสัตวศาสตร์มาปรับปรุง มาตรฐานการผลิตนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมโคที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เลือกใช้น้ำนมโคสดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ในภาคเหนือ และน้ำนมโคสดจากฟาร์มเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ผ่านกระบวนการตรวจสอบ คุณภาพอย่างพิถีพิถัน จากนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารและโภชนาการ มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานและทันสมัย จนได้รับการรับรองมาตรฐาน พรีเมียร์มิลค์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ในส่วนของการบริหารจัดการฟาร์ม ได้ออกแบบโรงเรือนตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้โรงเรือนที่สามารถรับลมธรรมชาติ มีระบบการระบายอากาศที่ดี มีการดูแลสุขอนามัยแม่โคและมีการออกแบบซองนอนพร้อมเบาะรองนอนสำหรับ ให้แม่โคได้พักผ่อนอย่างสบาย มีการทำความสะอาดพื้นโรงเรือนด้วยเครื่องกวาดมูลโคแบบอัตโนมัติ ทำให้โรงเรือนสะอาดตลอดเวลา มีระบบการจัดการฟาร์ม ที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยมูลโคที่ได้จากโรงเรือนจะถูกส่งเข้าสู่ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากไบโอก๊าซ เพื่อนำมาใช้ภายในฟาร์มและกระแสไฟฟ้า ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยังโรงไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ด้านผลงานวิชาการ นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร นับเป็นนักวิจัยที่มีผลงาน วิจัยโดดเด่นในด้านปศุสัตว์และการบริหารจัดการฟาร์ม โดยทำงานวิจัยร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ จำนวน 3 เรื่อง อาทิ (1) การใช้บ่อแก๊ส ชีวภาพในการกำจัดของเสียในฟาร์มโคนม (2) การนำแก๊สชีวภาพไปใช้ประโยชน์ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และ (3) การผลิตแก๊สไบโอมีเทนอัด (Compressed Biomethane Gas : CBG) จากแก๊สชีวภาพที่ได้จากการหมักมูลโคนม ด้านการทำงานวิจัยเชิงพาณิชย์ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การนำกากมูลโคที่ผ่านบ่อแก๊สชีวภาพมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด โดยมีการเพิ่มแหล่งแร่ธาตุฟอสฟอรัสและโพตัสเซียมอื่นๆ การทำงานวิจัยร่วมกับ อาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่อง การผลิตน้ำเชื้อคัดเพศโคนมเพื่อให้ลูกเพศเมีย และ เรื่อง การวิจัยและพัฒนาการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพดีจากแม่โคฐานขาวลำพูน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับปศุสัตว์ในการศึกษาวิจัยการผลิตอาหารหยาบ คุณภาพดี (หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1) เพื่อใช้เลี้ยงโคนม เป็นการแก้ปัญหาการ ขาดแคลนอาหารหยาบ และกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญในการทำแปลงหญ้า เลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุนด้านอาหาร และทำให้แม่โคมีความสมบูรณ์เพื่อผลิตนม คุณภาพดี

ในด้านการอุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์นั้น นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในการบรรยายให้ความรู้ด้านการเลี้ยงโคนม การทำฟาร์มให้ประสบความสำเร็จ การเป็น “เกษตรกรอัจฉริยะ” (Smart Farmer) แก่นักเรียนนักศึกษาสถาบันต่างๆ เป็นวิทยากรบรรยาย อภิปราย และเสวนา เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม การพัฒนาอุตสาหกรรมโคนม การแข่งขันในตลาด ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในการประชุมสัมมนานักวิชาการและเกษตรกร นอกจากนั้น ยังเปิดฟาร์มเฟรชมิลค์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโคนมครบวงจรเพื่อให้ สื่อมวลชนหรือหน่วยงานต่างๆ เข้าถ่ายทำสารคดี และเปิดโอกาสให้นักศึกษา

จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้าศึกษาดูงานและฝึกงานอย่างต่อเนื่องจนทำให้ นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร ได้รับรางวัล นักสัตวบาลดีเด่นแห่งประเทศไทย จากสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พุทธศักราช 2554 และรางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับเขต (สาขาอาชีพการเลี้ยงสัตว์) จากสำนักงาน ปศุสัตว์เขต 5 กรมปศุสัตว์ พุทธศักราช 2557

โดยที่ นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น ในวิชาชีพ จนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ รวมทั้งเป็นผู้อุทิศตนให้เป็นประโยชน์และ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติ เหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 37 วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2558

Go to Top