Skip to content Skip to footer

ดำรงค์ ปินทะนา

 

ดร.ดํารงค์ ปินทะนา
ศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2558

ดร.ดํารงค์ ปินทะนา สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต และปริญญาโท เทคโนโลยีการเกษตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เป็นศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 47 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในด้านการทํางาน ดร.ดํารงค์ ปินทะนา ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการ โครงการการจัดการลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมสะเมิง (Samoeng Participatory Watershed Management Project: SAMPART-WMP) ศูนย์วิจัยป่าไม้และชุมชน (Forest and People Research Centre: FP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ Danish National Environmental Programme ประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่ พุทธศักราช 2542 ในปัจจุบันมีความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรนานาชาติหลายแห่งในด้าน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ท่านยังดํารงตําแหน่งผู้จัดการสถานีวิจัยเกษตรป่าไม้แม่เหียะ ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยฝึกอบรมและสาธิตการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในด้านการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ดร.ดํารงค์ ปินทะนา ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์พิเศษ โดยร่วมสอนในกระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา และระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาทิ ระดับบัณฑิตศึกษา รายวิชา CONS 711 การใช้ที่ดินระบบวนเกษตร (Agroforestry Landuse Systems) รายวิชา CONS 731 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Sustainable Natural Resource Management) ระดับปริญญาตรี รายวิชา CONS 211 หลักการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Principles of Conservation) รายวิชา CONS 421 กฏระเบียบและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า (Regulations and Wildlife Resource Conservation) รายวิชา CONS 424 หลักการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ (Principles of Watershed Resource Management) นอกจากนี้ ท่านยังเป็นที่ปรึกษาและทํางานวิจัย อาทิ โครงการวิจัยการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเหนือของประเทศไทย (Research on Forest Carbon Sequestration for Climate Change Mitigation in Northern Thailand) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหพันธรัฐสวิส ด้านวนศาสตร์ชุมชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN-Swiss Partnership on Social Forestry and Climate Change: ASFCC) โครงการประเมินการทําไม่ผิดกฎหมาย ในประเทศไทย (Assessment of legal Logging in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือ กับสถาบันการต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร (Chatham House, the Royal Institute of International Affairs, United Kingdom) โครงการศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในภาคป่าไม้กับสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมป่าไม้ของประเทศไทย (Study of Forestry Stakeholders and Current Situation of Forest Industry in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันป่าไม้แห่งยุโรป (European Forest Institute: EFI) ด้านการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าแห่งสหภาพยุโรป (European Union Forest Law Enforcement, Governance and Trade: EU FLEGT) โครงการวิเคราะห์ข้อมูลระดับชาติ ด้านการรับรองป่าไม้ และการตรวจสอบเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมาย และธรรมาภิบาลด้านป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Critical Analysis of Country Data on Forest Certification and Verification as a Tool for Sustainable Forest Management, Law Enforcement and Good Forest Governance in Southeast Asia) ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรอินดูฟอร์ ออย (INDUFOR Oy) ประเทศฟินแลนด์ โครงการการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ อย่างมีส่วนร่วม ในลุ่มน้ำแม่ออก รวมที่พักพิงผู้อพยพชั่วคราวแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก (Participatory Watershed Resource Management Project (PWRMP) in Mae Ok Watershed Encompassing the Mae La Temporary Shelters, Tha Song Yang District, Tak Province, Thailand) ภายใต้ความร่วมมือ กับองค์กรนานาชาติโซลิดาริตี้ (Solidarités International) ที่สนับสนุนสํานักงาน ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โครงการสํารวจน้ำมันหอมระเหยที่มีแซฟโฟรในปริมาณมาก (น้ำมันหอมระเหยชนิดซาสซาฟราส) ในประเทศไทย : กรณีศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก (Survey of Safrole-rich Essential Oils (Sassafras Oil) in Thailand : Case Study in Southeast and East Asia) ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (United Nations Office of Drugs and Crime (UNODC), Regional Centre for East Asia and the Pacific) โครงการศึกษาแนวโน้มของกรรมสิทธิ์ในป่าไม้ การครอบครองทรัพยากรป่าไม้ และการจัดเรียงเชิงสถาบัน : สนับสนุนให้เกิดการจัดการป่าไม้ที่ดีขึ้นและ ขจัดความยากจนหรือไม่ (Study of Trends in Forest Ownership, Forest Resources Tenure and Institutional Arrangements : Are They Contributing to Better Forest Management and Poverty Reduction ?) ภายใต้ความร่วมมือกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO)

ด้านการเขียนผลงานทางวิชาการ ท่านเขียนร่วมกับสุรีรัตน์ ลัคนาวิเชียร เมื่อพุทธศักราช 2555 เรื่อง “ถิ่นที่อาศัย พฤติกรรม และการอนุรักษ์กวางผาในประเทศไทย” พุทธศักราช 2555 เรื่อง “นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์กวางผาในประเทศไทย” พุทธศักราช 2553 ได้เขียนผลงานร่วมกับสุรีรัตน์ ลัคนาวิเชียร และจรวยพร ซาวขัด เรื่อง การศึกษาการเจริญเติบโตและศักยภาพให้ผลิตผลของมะต๋าว (Arenga pinnata (Wurmb) Merr.) ที่แปลงวิจัยเกษตรป่าไม้แม่เหียะ ตําบลแม่เหียะ อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2558 เรื่อง “ผักหวานป่า (Milientha suavis Pierre) ในระบบวนเกษตร : ระยะเพาะชํา การทดลองในแปลงวิจัย และการปลูกโดยชุมชนท้องถิ่น”

ด้านการบําเพ็ญสาธารณประโยชน์ เมื่อพุทธศักราช 2518 ได้เป็น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนห้วยน้ำเย็น (แม่โจ้พัฒนา) ตําบลท่าตอน อําเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2527 เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงแม่สาใหม่ ตําบลโป่งแยง อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2530-2533 ท่านเป็นเจ้าหน้าที่เกษตรป่าไม้ (Agroforester) โครงการพัฒนาที่สูงดอยเวียงผา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยโดยกรมป่าไม้และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเชิญชวนชาวไทยภูเขาจํานวน 6 หมู่บ้านรวมกันเป็นหมู่บ้านเดียวบริเวณเชิงเขา ชื่อหมู่บ้าน “เวียงผาพัฒนา” ตําบลศรีดงเย็น อําเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และพุทธศักราช 2534-2538 เป็นผู้จัดการโครงการสหกรณ์สมบูรณ์แบบ เมืองบ่อแตน-แก่นท้าว แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว

ดร.ดํารงค์ ปินทะนา ได้ทําคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่พุทธศักราช 2548 จนถึงปัจจุบัน ท่านดํารงตําแหน่งเป็นคณะกรรมการ บริหารสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ รวม 6 สมัย และพุทธศักราช 2553 จนถึงปัจจุบัน เป็นคณะกรรมการไตรภาคี (สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ -มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ผู้นําองค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้)

โดยที่ ดร.ดํารงค์ ปินทะนา เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่น เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสําเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ และประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติ และคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ข้อมูล ณ : วันพุธที่ 18-19  กุมภาพันธ์ 2559 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 38 ประจําปีการศึกษา 2557-2558 

Go to Top