Skip to content Skip to footer

นายขุนศรี ทองย้อย

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชไร่

นายขุนศรี ทองย้อย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาพืชไร่ จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เมื่อพุทธศักราช 2531 ผ่านการอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร Mini Master of Business Administration (Mini MBA) จากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) นอกจากนี้ยังได้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้นำระดับสูง (Action Learning Program) จากสถาบันพัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Leadership Institute) พุทธศักราช 2557

ในด้านงานประจำ นายขุนศรี ทองย้อย ได้นำความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และก้าวหน้าในหน้าที่การงานในบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่อง เมื่อพุทธศักราช 2531-2535 ได้เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานเกษตร จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกขาย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ จำกัด ต่อมาพุทธศักราช 2535-2552 ได้ปฏิบัติงานใน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายขาย รองผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่ายขาย รองผู้จัดการทั่วไป ผู้จัดการทั่วไป และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เป็นลำดับ พุทธศักราช 2553-2555 ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจยางพาราและปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์

นอกจากดำรงตำแหน่งงานประจำแล้ว นายขุนศรี ทองย้อย ได้อุทิศเวลา เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยดำรงตำแหน่งที่สำคัญซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้านการศึกษา อาทิ เป็นกรรมการพัฒนากิจการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นอกจากนี้ยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่ง เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ อดีตที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร ได้ปฏิบัติงานเพื่อสังคมจนเป็นที่ ประจักษ์จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นเบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่ง มงกุฎไทย ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)

ในด้านการส่งเสริมการเกษตร นายขุนศรี ทองย้อย ได้ส่งเสริม การปลูกยางพาราโดยใช้วิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ กล้ายางพารา รวมถึงส่งเสริมให้มีระบบบริการและการบริการด้านตลาด ให้แก่เกษตรกร ดังจะเห็นได้จากโครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการผลิตยังผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้ดำเนินธุรกิจด้านโรงงานแปรรูปยางพาราในรูปแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรภายใต้คำขวัญ “น้ำยางทุกหยด คือ อนาคตของลูกหลาน” ในด้านการผลิตข้าว ได้รณรงค์ให้เกษตรกรลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในการปลูกข้าวโดยการใช้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี และใช้เทคโนโลยีช่วยในการปักดำแทนการหว่าน อีกทั้งได้รณรงค์ให้ใช้ ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไก่แทนปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตามสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสเข้าฝึกงานตามโครงการสหกิจศึกษา และได้มอบอุปกรณ์การเรียนให้แก่นักเรียนในชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในด้านการสนองงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายขุนศรี ทองย้อย ได้พัฒนาโครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการชั่งหัวมัน จังหวัดเพชรบุรี โดยรับผิดชอบโครงการปลูกยางพาราพันธุ์ดี JVP 80 เป็นผู้ดำเนินการศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย ข้าว-ปลา-ปาล์ม จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้เกษตรกรตามแนวพระราชดำริ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีรายได้จากการ ทำเกษตรแบบผสมผสาน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงการศูนย์สาธิตของมูลนิธิชัยพัฒนาภายใต้พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี รวมถึงส่งเสริมการปลูกชาภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

โดยที่ นายขุนศรี ทองย้อย เป็นผู้ประสบความสำเร็จในงานวิชาชีพอย่างโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ โดยได้รับการยอมรับจากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมีผลงานทางด้านการพัฒนาและการสนองงานในพระองค์ นำมาซึ่งความมั่นคงที่ยั่งยืน สามารถครองตน ครองคน และครองงาน ได้อย่างยอดเยี่ยม ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความริเริ่มด้านการเกษตรจนเกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติ และคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชไร่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 38 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2559

Go to Top