Skip to content Skip to footer

นายพิทยาพล นาถธราดล

ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร

นายพิทยาพล นาถธราดล สำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมเรียนดี) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีพุทธศักราช 2510 ต่อมาได้สำเร็จการศึกษาปริญญา เศรษฐศาสตรการเกษตรมหาบัณฑิต จาก Mississippi State University ในปีพุทธศักราช 2516 จากนั้นได้รับประกาศนียบัตร หลักสูตรบริหารการธนาคาร จากสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย ในปีพุทธศักราช 2534 และได้รับประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารระดับสูง (AMP / ISMP) จาก Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีพุทธศักราช 2538 และได้ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร

นายพิทยาพล นาถธราดล เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอย่างเต็มที่และเต็ม ความสามารถตลอดระยะเวลากว่า 35 ปี ตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นพนักงานสินเชื่อตรี ในปีพุทธศักราช 2511 จนกระทั่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีพุทธศักราช 2540 ซึ่ง เป็นปีที่ นายพิทยาพล นาถธราดล ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และเป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้บริษัทและสถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก ธนาคารพาณิชย์จำนวนมากมี NPL สูง ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกค้าได้ทำให้ต้องอยู่ในภาวะขาดทุนมาโดยตลอด แต่นายพิทยาพล นาถธราดล ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่บริหารงานและนำพาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตรจนรอดพ้นจากภาวะวิกฤตมาได้อย่างสง่างามและมีกำไรมาโดยตลอด ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นสถาบันการเงินภาคการเกษตรชั้นนำในเอเซียและแปซิฟิกในปัจจุบัน

นอกจากนี้นายพิทยาพล นาถธราดล ยังได้สนองนโยบายของรัฐโดยการจัดทำโครงการจำนำพืชผลทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือด้านการตลาดแก่เกษตรกรในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ เช่น โครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรับจำนำกระเทียม โครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการรับจำนำเมล็ด กาแฟ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ไม่ต่ำ จนเกินไป และเป็นการประกันราคาขั้นต่ำของสินค้าเกษตรช่วยให้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

โดยที่นายพิทยาพล นาถธราดล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรอย่างสูง และเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานเพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบต่อไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 26 วันอังคาร ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547

Go to Top