Skip to content Skip to footer

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน

 

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ ประจำปี 2566

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์วังชุกแห่งราชอาณาจักรภูฏาน พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก และ สมเด็จพระราชินีเชอริง ยางดน วังชุก พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ในระดับมัธยมศึกษาที่ Cushing Academy รัฐแมสซาชูเซตส์ และทรงศึกษาต่อในระดับ ปริญญาตรีที่ Wheaton College ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินมาศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา Foreign Service Programme และสาขาวิชาการเมืองที่ Magdalen College School สหราชอาณาจักรสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นธรรมราชาที่ทรงเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงได้รับการยกย่องจากราษฎรทั้งสองราชอาณาจักรอันได้แก่ราชอาณาจักรภูฏาน และราชอาณาจักรไทย ว่าทรงมีพระจริยวัตรที่งดงามยิ่ง ทรงเป็น ปิยราชของปวงชน

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้พระราชทานแนวพระราชดำริที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยพระวิริยะอันสุขุม คัมภีรภาพในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองด้วยรากฐานทางด้านการเกษตรอินทรีย์ ทรงนำทฤษฎีมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทำให้อาณาประชาราษฎร์มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและเปี่ยมสุข จนพระเกียรติคุณปรากฏในนานาอารยประเทศ พระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัด ทรงรอบรู้ในสหวิทยาการ ทรงเชี่ยวชาญการพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นความปลอดภัยทางด้านอาหาร ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราชอาณาจักรภูฏานเป็นอเนกอนันต์

โดยที่ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงมีบทบาทสำคัญ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรภูฏาน ทรงเลื่อมใสในแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระปรีชาสามารถ อันเกิดจากพระราชศรัทธาที่ทรงยึดมั่นในหลักธรรม ทรงใช้ความรู้ควบคู่กับการปฏิบัติ ทรงเป็นนักวิชาการที่ทรงอุทิศพระองค์อย่างทุ่มเท เพื่อราษฎรของพระองค์ ทรงเป็นผู้นำที่กอปรด้วยพระปรีชาสามารถและเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงมีความมุ่งมั่นที่จะค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา และทรงเน้นการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงราชอาณาจักรภูฏานให้วัฒนาสถาพร และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยมุ่งเน้นด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงขอทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ ให้ปรากฏเป็นเกียรติยศอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้สืบไป

ที่มา  : สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 46 ประจำปีการศึกษา 2565 2566 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

ภาพ : วิกิพีเดีย

Go to Top