Skip to content Skip to footer

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์

ปริญญาเทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอาหาร

 

พิธีทูนเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 8 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม  พ.ศ. 2529

ในการประชุมสภาสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พุทธศักราช 2528 ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ขอพระราชทานทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวายปริญญาแต่ใต้ฝ่าละอองพระบาท เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ ในการใช้ประโยชน์จากผลิตผลเกษตร และทรงค้นคว้าทดลองนําสมุนไพรมาสกัด เอาน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ประโยชน์ เช่น ต้นโกฐจุฬาลำพา ยูคาลิปตัส และ ดอกไม้ไทยหลายชนิด ทรงแนะนำและเผยแพร่กิจกรรมเกษตรหลวง ซึ่งเป็นผลงานอาชีพแสดงถึงความสําเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ งานศิลปาชีพ ทรงเผยแพร่ ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ได้แก่ ทรงแนะนำอบรมให้เกษตรกรรู้จักการใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ และการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร โดยการแปรรูป อาทิ การทำน้ำผลไม้ การทำน้ำส้มสายชูจากสับปะรดและ เนื้อมะม่วงหิมพานต์ การทำผลไม้กวน เป็นต้น ทรงช่วยเหลือยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎร โดยใช้วิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ตลอดมา นอกจากพระปรีชา สามารถดังกล่าวมาแล้ว ใต้ฝ่าละอองพระบาทยังทรงมีฝีพระหัตถ์ทางด้านศิลปะ ทรงสนพระทัยด้านการแพทย์ และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นเอนกประการล้วนแต่เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนทั่วไปทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถจะบรรยายให้ครบถ้วน ณ ที่นี้ได้ ประชาชนทุกหมู่เหล่าซาบซึ้งและภาคภูมิใจในพระเกียรติคุณของให้ฝ่าละอองพระบาทเป็นที่ยิ่ง

สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวายปริญญาเทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอาหาร อันเป็นปริญญาสูงสุดของสถาบันฯ แด่ใต้ฝ่าละอองพระบาท เพื่อเป็นมงคลและเป็นเกียรติแก่สถาบันฯ สืบไป

หมายเหตุ ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 8 ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม  พ.ศ. 2529

ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเคมี

ด้วยสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2542 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พุทธศักราช 2552 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ถวายปริญญาวิทยาศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเคมี แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในฐานะที่พระองค์คือ “องค์ขัตติยนารี” ผู้มีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ และทรงประกอบพระกรณียกิจเป็นอเนกประการในด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งในและนอกประเทศ

พระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ยังทรงศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ทรงได้รับเข็มทองคำรางวัล พร้อมด้วยประกาศนียบัตรประกาศพระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงสอบได้คะแนนเฉลี่ยยอดเยี่ยมตลอดระยะเวลาการศึกษา นอกจากนี้ยังทรงได้รับรางวัลของมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ในสาขาวิชาเคมี และทรงได้รับทุนอุดหนุนการศึกษา ต่อในระดับปริญญาเอก สาขาอินทรีย์เคมี ในปีพุทธศักราช 2528 จึงทรงสำเร็จ การศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหิดล จะเห็นได้ว่าพระอัจฉริยลักษณ์ นั้นเป็นเลิศยิ่งนัก

นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับพระประวัติทางการศึกษาดังกล่าวแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นแบบอย่างในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของชาติ ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระทัยอันสูงส่งในการสอนวิทยาการอันก้าวหน้าด้านสาขาวิชาเคมีและ วิทยาศาสตร์สาขาอื่น แก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนักเรียนนายเรืออากาศ รวมทั้งนักเรียนนายเรือ นอกจากนี้ ในปีพุทธศักราช 2530 – 2532 ยังทรงเป็นพระอาจารย์พิเศษ ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยอุล์ม ประเทศเยอรมนี มหาวิทยาลัยโตเกียว (เกษตรกรรม) มหาวิทยาลัยอิเฮเมะ ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยอิลลินอยล์แห่งชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากพระเกียรติคุณด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แล้ว พระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจที่สําคัญต่อประเทศชาติ นั่นคือทรงเป็นองค์ ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ การพยาบาล และเคมี นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เพื่อส่งเสริมการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต เพื่อความเป็น อยู่ที่ดีของประชาชน และเป็นศูนย์กลางการระดมสติปัญญาของนักวิชาการระดับสูง การระดมทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานของสถาบันฯ และทรงกำหนดกิจกรรมของสถาบันฯ ไว้หลายด้าน อาทิ ด้านงานวิจัย ทรงดำเนิน การวิจัยทางเคมีและชีวการแพทย์ ทรงจัดหน่วยวิจัยเคมีอันประกอบด้วยห้อง ปฏิบัติการผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีเภสัช อินทรีย์เคมีสังเคราะห์ การเกิดมะเร็งจากสารเคมี พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ อิมมูโนวิทยา ชีวเคมี พยาธิชีววิทยา และเภสัชวิทยา นอกจากงานวิจัยดังกล่าวแล้ว ยังทรงตระหนักในความสำคัญของ การประชุมนานาชาติ ทรงเป็นองค์ประธานจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ทรงเน้นเรื่องผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพและโรคเอดส์

กิจกรรมสําคัญอื่น ๆ ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ คือ การศึกษาอบรม การบรรยายพิเศษต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การร่วมงานกับองค์การต่างประเทศ โครงการพิเศษ โครงการวิจัยต่าง ๆ และการประชุม สหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา จะเห็นได้ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ล้วนแสดงถึงพระปรีชาญาณในการสร้างวิสัยทัศน์ให้แก่นักวิชาการไทยและต่างประเทศ พระดำริของพระองค์เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ จึงทรงได้รับการทูลเชิญให้ทรงดำรงพระตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ องค์ประธานคณะทํางานด้านเคมี สาขาผลิตภัณฑ์ ธรรมชาติของโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น องค์ผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมนานาชาติ และทรงเป็นกรรมการบริหารของหน่วยงานตลอดจนองค์การระหว่างประเทศ อาทิ กรรมการบริหารของคณะกรรมาธิการนานาชาติทางวิทยาศาสตร์เคมี นอกจากนี้ยังทรงได้รับการทูลเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมเคมีของประเทศอังกฤษด้วย

พระเกียรติคุณอีกประการหนึ่งที่ทรงได้รับการเชิดชูคือ องค์การยูเนสโกได้ ถวายเหรียญทองคำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์แด่พระองค์ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่น ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงนำเอาผลงานทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาสภาพ การดำเนินชีวิตของอาณาประชาราษฎร์ ทรงตระหนักในปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้แก่ทวยราษฎร์ กอปรกับทรงส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ใน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง จึงทรงได้รับการยกย่องสูงสุดและพระองค์ทรง เป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกและนักวิทยาศาสตร์พระองค์ที่สามของโลกที่ทรงได้รับเหรียญเชิดชูเกียรตินี้

ด้วยพระอัจฉริยลักษณ์ พระปรีชาสามารถ และพระกรณียกิจที่กอปรด้วย พระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี พระราชทานแก่วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและของโลกดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงมีมติให้ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเคมี เพื่อเทิดพระเกียรติให้ปรากฏสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 22 วันอาทิตย์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543

 

ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คือ องค์ขัตติยนารี นักวิทยาศาสตร์ ผู้มีพระอัจฉริยลักษณะเป็นเลิศ ในศิลปวิทยาการ พระองค์ทรงสนพระทัยในวิทยาศาสตร์หลายสาขา รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีชีวภาพดังจะเห็นได้จาก พระกรณียกิจนานัปการที่ทรงมุ่งมั่น และเพียรพยายามอันแสดงพระเกียรติคุณ จนเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั้งในและต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเป็นอัครราช กุมารีที่ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถยิง

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นองค์ผู้นำที่มีพระวิสัยทัศน์และมีพระเมตตากรุณาต่อประชาชน ทรงกำหนดพระนโยบายในการดำเนินการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดย ยึดหลักความสำคัญของปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศ ทรงเน้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและคนในสังคมอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขอันยั่งยืนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

การวิจัยโรคมะเร็งและการบำบัดรักษาโดยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการใช้สมุนไพรไทยเพื่อหาแนวทางในการบําบัดรักษา เป็นตัวอย่างพระกรณียกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ทรงได้รับการยกย่องจากทั่วโลก โดยพระองค์ทรงร่วมมืออย่างเป็นทางการกับหลายหน่วยงานในต่างประเทศ ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และได้เสด็จพระราชดำเนินไป ทอดพระเนตรการดําเนินงานของสถาบันมะเร็งหลายแห่ง อาทิ ที่ประเทศสิงคโปร์ สาธารณรัฐโรมาเนีย ฮังการี สหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมันนี สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพื่อทรงสานต่อพระปณิธานในการก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและบำบัดโรคมะเร็งแบบครบวงจร ซึ่งทรงมุ่งหวังให้สถาบันนี้มีความเป็นเอกด้านวิชาการ การวิจัยศึกษาโรค มะเร็ง และการบําบัดรักษาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย พระองค์ได้เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ศูนย์วิจัยมะเร็งดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พุทธศักราช 2546

นอกจากนี้ ยังมีพระกรณียกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ทรงได้รับการยกย่องอีกหลายโครงการ อาทิ พระกรณียกิจการวินิจฉัยโรคไวรัสของพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย การวินิจฉัยโรคพืชที่เกิดจากไวรัสนับเป็นงานพื้นฐานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อการควบคุมโรค ปัจจุบันการใช้วิธีทดสอบดูอาการบนพืชอาศัย วิธีทางเซรุ่มวิทยา เป็นหลักการตรวจสอบไวรัสไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยตัวอย่างที่มีเชื้อโรคปริมาณต่ำ ดังนั้นการใช้เทคนิคหลักทาง พันธุศาสตร์เพื่อศึกษาโมเลกุลของสิ่งมีชีวิต จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่นํามาใช้ตรวจสอบวินิจฉัยและจัดจำแนกโรคพืช ที่เกิดจากไวรัส

พระกรณียกิจการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์กล้วยไม้ด้วยอุณหภูมิต่ำเสริมด้วยการใช้สารเคมี ทั้งนี้เนื่องจากเมล็ดกล้วยไม้มีลักษณะพิเศษ คือ ขนาดเล็กมาก และไม่มีแหล่งอาหารให้แก่เอมบริโอ เพื่อการงอกของเมล็ดทำให้ไม่ สามารถเก็บรักษาเมล็ดได้นาน สถาบันฯ ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อ ศึกษาชนิดของสารเคมีกลุ่มต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการนำมายืดอายุของเมล็ดพันธุ์กล้วยไม้ให้นานขึ้น และพัฒนาวิธีการเก็บรักษาแบบประหยัด ลดต้นทุน และความยุ่งยากใน การเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และศึกษาวิธีการเพื่อให้เกษตรกรสามารถนําไปปฏิบัติได้

พระกรณียกิจโครงการปรับปรุงสายพันธุ์ของกล้วยไม้ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางเศรษฐกิจของดอกพิษเหล่านี้ ในปัจจุบันทำได้ยากและมีขั้นตอนมาก ต้องการเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสูง มีความซับซ้อนและราคาแพง รวมทั้งต้องการบุคลากรที่มีความชำนาญโดยเฉพาะในการตรวจหาและวิเคราะห์สารเหล่านี้ งานวิจัยนี้ทำการพัฒนา ระบบตรวจหาสารพิษที่เรียกว่า ไบโอเซนเซอร์ คือ พัฒนาสายพันธุ์ของแบคทีเรียที่สร้างปุ๋ยในดินให้เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น คือ สามารถใช้เป็นตัวตรวจสอบสารพิษได้ด้วย กล่าวคือ เชื้อนี้เมื่อนำมาทดสอบกับตัวอย่างที่ปนเปื้อนสารพิษจะแสดงผลออกมาเป็นสีบ่งบอกปริมาณสารเคมีที่ปนเปื้อนได้ เชื้อนี้ถูกพัฒนาให้มีความจำเพาะตอบสนองต่อสารแต่ละ ชนิดต่าง ๆ กัน คือมีความจำเพาะสูงมาก โดยเน้นเพื่อตรวจสอบสารปราบศัตรูพืชที่มีพิษสูงและคงทนในสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีนี้สามารถใช้เป็นตัวทดสอบหาสารพิษในเบื้องต้น จึงเหมาะสมกับสภาพของประเทศไทย เนื่องด้วยไม่ต้องการเครื่องมือวิเคราะห์ที่ราคาแพง หรือบุคลากรที่เชี่ยวชาญพิเศษ

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระกรณียกิจที่ทรงบําเพ็ญ เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนอย่างอเนกอนันต์ ดังกล่าว ทําให้ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติคุณจากหลายสถาบัน อาทิ ในการประชุมนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม ณ นครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประชุมได้ประกาศพระเกียรติคุณยกย่องพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเสียสละอย่างยิ่งในการทรงงาน เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพ อันจะส่งผลให้สังคมมีความยั่งยืน นอกจากนี้ องค์การยูเนสโกได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองไอน์สไตน์แด่พระองค์ รวมทั้งราชสมาคมเคมีของอังกฤษได้ถวายพระเกียรติให้ทรงเป็นสมาชิกและราชบัณฑิตทางเคมีของสมาคมฯ

ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณดังกล่าวข้างต้น สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเทิดพระเกียรติให้เป็นที่ปรากฎ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และแวดวงวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 28 วันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549

 

Go to Top