Skip to content Skip to footer

นายจอนิ โอ่โดเชา

รัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารงานภาครัฐและเอกชน

นายจอนิ โอ่โดเชา เป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ตามวิถีทางของบรรพบุรุษชาวปาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน จนเป็นที่ประจักษ์ในด้านการพัฒนา นายจอนิ โอ่โดเชา ได้เริ่มงานอนุรักษ์ป่าตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2516 ควบคู่กับการสร้างกิจกรรมการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหา ความอดอยาก ดังจะเห็นได้จาก การรวบรวมเครือข่าย ชาวไทยภูเขา 13 เผ่า ร่วมจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลรักษาป่าไม้ และทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ได้ดำเนินการ บวชป่า 50 ล้านต้น เนื่องในวโรกาสปีกาญจนาภิเษก ปีพุทธศักราช 2539 จัดตั้งธนาคารข้าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ 100 องค์กร ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำวาง จำนวน 40 หมู่บ้าน จากการทุ่มเทในการทำงาน จึงทำให้นายจอนิ โอ่โดเชา ได้รับการยกย่อง จากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิได้รับการประกาศจากคณะกรรมการ “คนดีศรีสังคม” ให้เป็น “ปราชญ์แห่งขุนเขา” อีกทั้ง ได้รับยกย่องเป็น “บุคคลผู้ที่มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรม” ตามคำประกาศของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ในด้านงานวิชาการ นายจอนิ โอ่โดเชา เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา โดยได้ ทำการค้นคว้าด้วยตนเองอยู่เป็นอาจิณตราบเท่าปัจจุบัน ได้ศึกษาหาความรู้ ตามวิถีของบรรพบุรุษ จนสามารถรวบรวมและเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์” ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจอันลุ่มลึก และตกผลึก ทางความรู้ ด้านป่าไม้และธรรมชาติ

ในด้านการเผยแพร่ความรู้ นายจอนิ โอ่โดเชา ได้พยายามถ่ายทอด ความรู้ และได้จัดให้มีการเรียนนอกระบบโรงเรียน เพื่อให้ลูกหลานปาเกอะญอได้เรียนรู้วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง ซึ่งได้รับการยอมรับ ในวงกว้าง อีกทั้งเป็นต้นแบบของการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ได้รับเชิญให้เป็น วิทยากรพิเศษไปบรรยายในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียนต่าง ๆ เป็นผู้นำ ในการถ่ายทอดแนวความคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยใช้แนวคิดทาง วัฒนธรรม และได้รับยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 สาขาการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

โดยที่ นายจอนิ โอ่โดเชา เป็นผู้มีความรู้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และ การพัฒนาชุมชน ตลอดจนได้เผยแพร่องค์ความรู้แก่สังคมในวงกว้าง ซึ่งล้วนเป็น ส่วนหนึ่งที่นำความเจริญก้าวหน้าเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างยั่งยืน มีผลงานซึ่งเป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้ง ได้อุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างอเนกอนันต์ เป็นผู้ที่เพียบพร้อม ด้วยความรู้ความสามารถและคุณธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการชุมชน ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม เป็นผู้ถ่อมตน และมีคุณธรรมอันสันโดษ นับได้ว่า เป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติ เหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 อาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555

Go to Top