Skip to content Skip to footer

รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชศาสตร์

รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ สำเร็จการศึกษาในระดับประโยค อาชีวศึกษา แผนกเกษตรกรรม จากโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

ในด้านงานประจำ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้รับราชการ เป็นครั้งแรก ที่วิทยาลัยครูนครราชสีมา เมื่อปีพุทธศักราช 2502 จากนั้น จึงได้ เข้ารับราชการที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม เมื่อปีพุทธศักราช 2513 จาก นั้นจึงเข้ารับราชการที่ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้รับราชการ ด้วยความอุตสาหะ และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง เป็นลำดับ ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ หัวหน้าภาควิชา พืชสวนและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในขณะ รับราชการในตำแหน่งดังกล่าว ได้ปฏิบัติงานจนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง ท่านจึงเป็นแบบอย่างของ “ครู” อย่างแท้จริงได้ทุ่มเทกับการสอนอย่างเต็มความสามารถ โดยยึดหลักว่า “ทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นความสุขอย่างยิ่ง เมื่อมีหน้าที่สอน ก็ต้องสอนให้ศิษย์พัฒนาความรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีที่สุด” ด้วยความมุ่งมั่นจึงทำให้ก้าวหน้าในวงวิชาการจนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาพืชสวน

ในด้านงานวิชาการ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้สร้างผลงาน วิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เป็นคุณูปการต่อวงการการเกษตรของประเทศไทย ผลงานที่สร้างชื่อเสียงอาทิการถ่ายขวดเพาะกล้วยไม้ ตำรากล้วยไม้สำหรับผู้เริ่มเล่น คู่มือครูวิชาชีพไม้ประดับบ้าน และการปลูกกล้วยไม้ในบ้าน นอกจากนี้ ยังได้เป็น บรรณาธิการหนังสือที่ทรงคุณค่าหลายฉบับ ผลงานดังกล่าว ได้ยังประโยชน์มหาศาลต่อวงการพืชสวน อาทิ คู่มือเกษตรกรการทำสวนมะม่วง หนังสือหนึ่งสี่ครบสี่หนึ่ง และหนังสือแม่โจ้หกสิบครบสิบหก ในส่วนของงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้คิดค้นการนำเมล็ดกล้วยไม้ที่ยังไม่แก่มาเพาะให้งอกได้สำเร็จ ซึ่งเรียกว่า การเพาะเมล็ดอ่อนหรือ การเพาะคัพภะ นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่อง “เทคนิคการผสมพันธุ์กล้วยไม้เพื่อให้ได้กล้วยไม้ลูกผสม” เป็นผลงานที่อำนวยประโยชน์ ในการปรับปรุงพันธุ์ ช่วยร่นระยะเวลาให้ได้ผลเร็วขึ้น อีกทั้งสามารถขยายพันธุ์ กล้วยไม้ลูกผสมได้เป็นจำนวนมาก

ในด้านบริการวิชาการ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้อุทิศตน ให้แก่วงการเกษตร จนเป็นที่ประจักษ์ดังจะเห็นได้จากการให้ความรู้ด้านการเกษตร ทางวิทยุอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2507 ถึง 2530 ในรายการ “เกษตรสรร” ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “รายการอิ่มท้อง อิ่มใจ” นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้ให้ความรู้ด้านการเกษตรผ่านรายการโทรทัศน์ ระหว่าง ปีพุทธศักราช 2513 ถึง 2524 รายการชีวิตกับต้นไม้ การเผยแพร่ความรู้ ด้านการเกษตรในสื่อสารมวลชนนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการเกษตรอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าตอบแทน อีกทั้งต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยตนเอง

ในด้านงานพิเศษ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้รับคัดเลือกให้ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2513 – 2516 ก่อตั้งชมรมพฤกษชาติ นครราชสีมาและพัฒนาเป็นสมาคมกล้วยไม้ โคราชในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังร่วมก่อตั้งสโมสรกล้วยไม้บางเขน และเป็นนายกสโมสร กล้วยไม้บางเขนระหว่างปีพุทธศักราช 2520 – 2521 เป็นเหรัญญิกสมาคม ไม้ประดับแห่งประเทศไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2521 – 2523 เป็นอุปนายก สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2534 – 2536 เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ อีกทั้งเป็นอาสาสมัครฟื้นฟู บูรณะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โดยมีหน้าที่เข้าไปฟื้นฟูกล้วยไม้ที่ทรุดโทรม เนื่องจาก สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อีกทั้งดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยมีหน้าที่พิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ขาดแคลน

โดยที่ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้าน เกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกล้วยไม้ อีกทั้งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในงานวิชาชีพอย่างโดดเด่น มีผลงานวิจัย ซึ่งเป็นหิตานุทิตประโยชน์ทางด้านวิชาการ เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งได้อุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างอเนกอนันต์ ทั้งในด้าน การศึกษา ในด้านบริการวิชาการ เป็นศิษย์เก่าผู้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม อันเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม เป็นแบบอย่างครูที่อุทิศตนต่อวงการศึกษา อย่างยอดเยี่ยม นับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติประประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 อาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555

Go to Top