Skip to content Skip to footer

รางวัลชนะเลิศ การประกวดขบวนแห่โคมยี่เป็ง ในงานเทศกาลโคมยี่เป็งเชียงใหม่ ครั้งที่ 25

ชื่อรางวัล รางวัลชนะเลิศ การประกวดขบวนแห่โคมยี่เป็ง ในงานเทศกาลโคมยี่เป็งเชียงใหม่ ครั้งที่ 25

องค์กร/หน่วยงาน  ชมรมผู้ประกอบการฯ ย่านไนท์บาซาร์

รายละเอียดรางวัล รางวัลชนะเลิศ จากการประกวดขบวนแห่โคมยี่เป็ง ในงานเทศกาลโคมยี่เป็ง ครั้งที่ 25 “ต๋ามประทีปโคมไฟในงานบุญตั้งธรรมหลวง” ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 5 ขบวน โดยใช้แนวคิด อานิสงค์ผลบุญตั้งธรรมหลวง เพื่อสืบสาน รักษา สืบทอดประเพณีอันดีงามของล้านนาในเทศกาลยี่เป็ง

ระดับรางวัล (รางวัล)  รางวัลชนะเลิศ

ระดับรางวัล (ภูมิประเทศ) ระดับจังหวัด

ปีที่ได้รับรางวัล  2562

สถานที่รับรางวัล  เทศบาลนครเชียงใหม่ 

รายละเอียดผลงาน 

เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ชมรมผู้ประกอบการศูนย์การค้าย่านไนท์บาซาร์ สืบสานประเพณียี่เป็ง เปิดงานเทศกาลโคมยี่เป็งครั้งที่ 25 “ต๋ามประทีปโคมไฟในงานบุญตั้งธรรมหลวง” โดยมีการจัดการประกวดขบวนแห่โคมยี่เป็ง ซึ่งในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดทำโคมยี่เป็งส่งเข้าประกวด ภายใต้แนวคิด อานิสงค์ผลบุญตั้งธรรมหลวง เพื่อสืบสาน รักษา สืบทอดประเพณีอันดีงามของล้านนาในเทศกาลยี่เป็ง
บุญ….สืบสานยอดเเก้ว………….ล้านนา
ตั้ง……ใจ๋จิตเจตนา……………….เเต่ต้น……
ธรรม…เวสสันตรา…………………บุญนัก เเท้เนอ….
หลวง…หลายจักเตื่อมล้น………. ผลเอื้อ..บุญอวย…
ซึ่งตั้งธรรมหลวงเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีเก่าเเก่ของชาวล้านนา มักนิยมเทศน์กันในช่วงเทศกาลยี่เป็งตรงกับประเพณีลอยกระทง เนื้อหานั้นเเสดงถึงมหาชาติของพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ ดังนั้นจึงออกเเบบโคมเพื่อเเสดงถึงความงดงาม อ่อนช้อย ลักษณะโคมเป็นทรงธรรมาสน์หลวงหรือบุญบกทรงปราสาทเรือนยอด ด้านนอกฉลุลาย (ต้องลาย) เครือดอกเถาว์ดอกเพื่อจำลองทิพยสถานจากหิมพานต์ ฐานด้านล่างมีจระนำซุ้มโขงทั้ง 8 ทิศ หมายถึง คนเเละเทพทั้ง 8ทิศย่อมนบน้อมสดับในธรรมทั้ง 13 กัณฑ์นี้ ในเเต่ละซุ้มใส่ดวงไฟด้านใน เพื่อเเสดงถึงดวงปัญญาอันเเจ่มเเจ้ง ด้านนอกซุ้มคูหาฉลุลายก้านดอก หม้อดอก พรรณพฤษา เพื่อเเทนสิ่งสักการะของเทพยาดาเเละมนุษย์ในทิศทั้ง 8 ฐานธรรมมาสน์โคม ประดับด้วยช้าง สี่เศียรหันหน้าไปทิศทั้งสี่ หมายถึง ผู้เป็นนักปราชญ์ฉลาดรู้ย่อมเข้าใจเเละมีมานะในการสดับธรรมที่มีความยาว อีกทั้งนัยย์หนึ่งหมายถึงการค้ำชูพระบวรศาสนาให้จำเริญรุ่งเรืองไป ดั่งคำโบราณท่านว่า “ช้างเเก้วขึ้นสู่โรงธรรม.” ก็คือนักปราชญ์ราชเมธีทั้งหลาย ส่วนยอดเป็นดอกไม้เพชร ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ประดับคริสตัล ลูกแก้วเพราะถือว่าเป็นของสูงควรคู่บูชาธรรมดั่งเทพยดาทั้งหลายใช้ดอกไม้ทิพย์บูชาอย่างนั้น
สีที่ใช้ สีทอง สีเงิน สีเขียว สีเเดง สีทั้งหมดย่อมให้ความหมายในตัว เช่น สีทองหมายถึงความสูงส่ง สีเงินเป็นสีเเห่งความศรัทธา สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูณ์ของพิชชะข้าวกล้าเเละความสมบูรณ์ของป่าไม้เเผ่นดิน สีเเดงหมายถึงความเข้มเเข็งอดทน รวมเข้าเเล้วย่อมมีความเป็นมงคลเกี่ยวเนื่องกับพิธีเเละคติธรรมสอดเเทรกผ่าน เทศน์มหาชาติตั้งธรรมหลวง ซึ่งโคมของมหาวิทยาลัยเเม่โจ้ จึงได้ออกเเบบเเละถ่ายทอดผ่านรูปทรง รายละเอียด โทนสี ประกอบกับริ้วขบวนแห่สวยงาม มีการเเสดงเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ความงดงาม ความลงตัวในความเป็นวิถีชีวิตศิลปะวัฒนธรรมล้านนาในประเพณียี่เป็งครั้งนี้ ทำให้ขบวนแห่โคมยี่เป็งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวแม่โจ้ทุกส่วนฝ่าย สร้างประทับใจแก่ผู้ชม จนชนะใจคณะกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ

ข้อมูลรางวัลจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

https://stu2.mju.ac.th/informationDetail.aspx?newsId=3307 

 

Go to Top