ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย เป็นปูชนียบุคคล ที่ชาวแม่โจ้ให้ความรักเคารพนับถือและอยู่ในดวงใจของพวกเราตลอดมา โดยท่านได้สร้างคุณูปการแก่แม่โจ้มากมาย สิ่งที่ควรยกย่องในการทำงานของท่าน ศาสตราจารย์ ดร. วิภาต บุญศรี วังซ้าย ทั้งชีวิต การเรียน และการทำงานที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกแม่โจ้ อาทิ ท่านเป็นนักประชาธิปไตยตัวอย่าง ,เป็นผู้มีเมตตาธรรม,เป็นผู้มีความคิดและพัฒนางานใหม่ ,เป็นนักพัฒนาชนบท,เป็นผู้ส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ,เป็นนักปกครองที่ดีเยี่ยม , เป็นครูที่ประเสริฐ และ เป็นผู้มีความสมถะ
ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย คือปูชนียบุคคล ของชาวแม่โจ้ เป็นผู้ให้วลีอมตะ “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” ไว้ แก่ลูกแม่โจ้ทุกคน
ชีวประวัติของ ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย
|
พ.ศ. 2459
ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2459 ที่บ้านสันกลาง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ 7 ของนายบุญมา (บุตรเจ้ามหาชัย วังซ้าย) และ นางบัวเกี๋ยง วังซ้าย
ต้นตระกูลของ ศ.ดร.วิภาต มาจากเชียงแสน ชื่อพระยาหัวเวียงแก้ว และบรรดาลูกชายซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของท่านคือ เจ้ามหาจักร์ เจ้ามหาชัย เจ้ามหาเทพ เจ้ามหาพรหม ทั้งหมดที่เอ่ยชื่อดังกล่าวถือเป็นต้นตระกูล “วังซ้าย”
เจ้ามหาจักร์นั้นสมรสกับธิดาของเจ้าวังซ้ายอันเป็นศักดินาเทียบวังซ้าย วังขวา แบบวังหน้าวังหลัง เมื่อเจ้าวังซ้ายทิวงคตลงในเวลาต่อมา เจ้ามหาจักร์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าวังซ้ายจากเจ้าหลวง เมืองแพร่
ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติใช้นามสกุลขึ้น ท่านจึงใช้ “วังซ้าย” เป็นนามสกุลสืบต่อมา
ส่วนเจ้าคุณปู่โดยตรงของท่าน ศ.ดร. วิภาต คือเจ้ามหาชัย นั้นมีบุตรชายชื่อ บุญมา วังซ้าย คือบิดาของท่าน ศ.ดร. วิภาต
ศ.ดร. วิภาต มีพี่น้องรวม 8 คน ดังนี้
1 นายคำปัน วังซ้าย (ภายหลังเปลี่ยนสกุลเป็น “ชยันตราคม”)
2 นางคำป้อ วังซ้าย (ใช้นามสกุลสามี “อินทราวุธ”)
3 นางคำป่าย ววังซ้าย (ใช้นามสกุลสามนีเป็น “โสภา”)
4 นางสมนา วังซ้าย (ใช้นามสกุลสามีเป็น “ไพชยนตร์”)
5 นางไฮแก้ว วังซ้าย (ใช้นามสกุลสามีเป็น “อนันตจิตร”)
6 นางบุญปั๋น วังซ้าย (ใช้นามสกุลสามีเป็น “ทิพย์วิชัย”)
7 นายบุญศรี วังซ้าย (ภายหลังเพิ่มชื่อเป็น วิภาต บุญศรี วังซ้าย)
8 นางบัวเขียว วังซ้าย (ใช้นามสกุลสามีเป็น “โกศัยเสวี” และชื่อใหม่เป็น “อรพรรณ”) |
|
พ.ศ. 2476
ชีวิตเมื่อเยาว์วัย
ท่านเริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
ชั้นมัธยมศึกษาเรียนที่โรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จากนั้นท่านจึงเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมปีที่ 7 ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2476 |
|
พ.ศ. 2477
ท่านเรียนอยู่ที่โรงเรียนยุพราชได้เพียงปีเดียว ก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ขึ้นที่แม่โจ้ ท่านจึงย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เป็นรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2477 ซึ่งถือเป็นรุ่นบุกเบิกและสร้างแม่โจ้ โดยมีพระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) เป็นอาจารย์ใหญ่และหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้อีกด้วย ท่านย้ายมาเรียนแม่โจ้ก็เพราะเห็นว่า เมื่อจบการศึกษาที่แม่โจ้แล้วก็สามารถรับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ มีโอกาสที่จะขยับขยายที่ทำงานและการเรียนต่อให้สูงขึ้นไปได้ |
|
พ.ศ. 2478
หลังจากเรียนจบ ในปี พ.ศ. 2478 อาจารย์วิภาต ได้เข้าบรรจุทำงานเป็นพนักงานเกษตกรรมผู้ช่วย ชั้น 2 ที่แผนกยาง กองขยายการกสิกรรม กรมเกษตรและการประมง จังหวัดสงขลา |
|
พ.ศ. 2481
ท่านสามารถสอบชิงทุนหลวงเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ฟิลิปปินส์ ในระดับปริญญาตรีที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เมืองลอสบานยอส (University of the Philippines Los Baños : UPLB) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ โดยความช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ส่งทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลมาช่วยด้านการศึกษาที่คณะเกษตรและป่าไม้แห่งนี้ ท่านเลือกเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์ ตามความต้องการของกรมเกษตรและการประมง โดยใช้เวลาศึกษาเพียงสามปีครึ่งก็จบการศึกษา |
|
พ.ศ. 2484
ท่านได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์แม่โจ้ ในตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครองนานถึง 6 ปึ |
|
พ.ศ. 2489
อาจารย์วิภาต ได้ลาออกจากราชการที่แม่โจ้ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ และได้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2491 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ด้วยมรสุมทางการเมือง ท่านจึงอำลาชีวิตการเมือง ไปเป็นเกษตรกรทำไร่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา |
|
พ.ศ. 2497
หลวงปราโมทย์ จรรยาวิภาต ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอาชีวศึกษาขณะนั้น ขอร้องให้ท่านไปช่วยแม่โจ้ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดผู้บริหารโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ เพราะเสียดายวิชาความรู้ ความสามารถ อยากให้ไปช่วยปรับปรุงแม่โจ้ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่ชั้นเอก ของโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ กองโรงเรียนเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ |
|
พ.ศ. 2499
กรมอาชีวศึกษาได้ปรับยกฐานะของโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ก็ได้ปรับเลื่อนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ชั้นพิเศษ |
|
พ.ศ. 2500
ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ ได้รับทุนดูงานในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจบโครงการดูงานก็ได้รับอนุมัติให้อยู่ศึกษาต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาโท (M.S.in Agriculture) จากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา (Oklahoma State University) ปี พ.ศ. 2502 |
|
พ.ศ. 2518
วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ ได้รับการสถาปนาเป็น สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย เป็นอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร (พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2526) |
|
พ.ศ. 2527
ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษ และรับพระราช ทานปริญญา “เทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์” สาขาส่งเสริมการเกษตร อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ท่านได้ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษาแม่โจ้เรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต (30 ตุลาคม 2527) |
ชีวิตงานเกษตรกร ตำนาน “คนต้นแบบคาวบอยลูกแม่โจ้”
อาจารย์ วิภาต บุญศรี วังซ้าย หันเหชีวิตไปทำฟาร์มปลูกผักส่งตลาดกรุงเทพ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ถึง 7 ปี นับตั้งแต่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี พ.ศ. 2491 ท่านเล่าว่าชีวิตในช่วงนั้นต้องต่อสู้กับระบบการตลาดเรื่องการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรสู่ตลาดปลายทางที่กรุงเทพ แม้การผลิตจะได้ผลดีอย่างไร แต่หากต้องผ่านระบบการขนส่งซึ่งเป็นปัญหาด่านแรกที่จะนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้ก็ไม่สดหรือทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสินค้าใหม่ นอกจากเสียค่าแรงเพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้น้ำหนักของลดลงไปอีกด้วย
ในฟาร์มที่ท่านดูแลบริหารงานอยู่นั้น มียานพาหนะจำกัดเพื่อการขนส่งเท่านั้น การเดินทางตรวจงานหรือดูแลการทำงานของคนงานในฟาร์มมีเพียงจักรยานเท่านั้น ข้อจำกัดอันนี้เองทำให้ท่านต้องฝึกการขี่และบังคับม้าสำหรับทำงานจนสามารถขี่ม้าได้ในเวลาต่อมา กลับเป็นผลดีเพราะนอกจากไม่ต้องเปลืองน้ำมันแล้วจะต้องขี่ม้าเป็นคาวบอยไปรอบๆ ฟาร์ม
อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ทำงานหนักเพื่อแก้ปัญหางานผลิตในฟาร์มซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ประสบการณ์ชีวิตท่านแข็งแกร่ง ทรหดอดทนในการทำงานไม่ท้อถอยและยอมแพ้ต่อปัญหา การดำเนินชีวิตที่ผ่านอุปสรรคมาได้จึงทำให้เกิดปรัชญาความจริงของชีวิตซึ่งกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของลูกแม่โจ้ด้วยวลีอมตะของท่าน “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” จากประสบการณ์จริงแห่งชีวิตของคนต้นแบบคาวบอยลูกแม่โจ้ท่านนี้
องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (Future Farmers of Thailand: FFT : Maejo Chapter)
ก่อตั้งครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2504 ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) โดยนำแนวคิดและการปฏิบัติดำเนินงานขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งอเมริกา (Future Farmers of America: FFA) มาปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับแนวการเรียนการสอนอาชีวเกษตรและให้เหมาะกับประเทศไทย หน่วยแรกจัดตั้งและดำเนินงานที่แม่โจ้เรียกชื่อว่า องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย หน่วยแม่โจ้ (Future Farmers of Thailand: FFT : Maejo Chapter) นำโดยอาจารย์วิภาต บุณศรี วังซ้าย, อาจารย์ประสงค์ วรยศ, อาจารย์สุรพล สงวนศรี, อาจารย์บุญธรรม เทศนา, อาจารย์บุญ กล่อมจอหอ และอาจารย์สราญ เพิ่มพูล
โครงการเกษตรกรหนุ่มแห่งประเทศไทย (Young Farmers Pilot Project of Thailand)
อีกกิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ร่วมกับคณาจารย์จัดให้มีขึ้นครั้งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยขณะนั้น คือ โครงการเกษตรกรหนุ่มแห่งประเทศไทย (Young Farmers Pilot Project of Thailand : YTF) จัดตั้งขึ้นที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ ในระหว่างปี พ.ศ. 2510-2512 รวม 3 รุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้ที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ม.ศ. 3 ทั่วไป ได้เข้ารับการฝึกอบรมความรู้พื้นฐานการเกษตร ที่เน้นฝึกปฏิบัติจริง มีระยะเวลาฝึกอบรม 1 ปีการศึกษา โดยมีคณาจารย์ของแม่โจ้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พวกเด็กหนุ่มที่เข้ารับการฝึกอบรมจะถูกเรียกขานว่า “ยังฟาร์มเมอร์” ตามชื่อภาษาอังกฤษของโครงการ
ที่มา :
1 หนังสืออนุสรณ์ 100 ปีชาตกาลอาจารย์บุญศรี คนต้นแบบลูกแม่โจ้ “งานหนักไม่เคยฆ่าคน”
2 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย