รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี พ.ศ. 2560 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
เรื่อง “เจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ : ข้าวหอมเพื่อสุขภาพ”
หน่วยงานเจ้าของรางวัล : สภาวิจัยแห่งชาติ
สายพันธุ์ข้าว เจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงที่ใช้บริโภคในแบบ ข้าวกล้อง โดยสายพันธุ์ข้าว เจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ข้าวเจ้าสีดำที่มีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นกลิ่นหอมของใบเตย (2AP) ที่ได้ยีนหอมมาจากข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 กับกลิ่นหอมของข้าวสีดำซึ่งได้มาจากเจ้าหอมนิล เป็นข้าว ต้นเตี้ยต้านทานต่อการหักล้ม ไม่ไวต่อช่วงแสงทำให้ปลูกได้ตลอดทั้งปี ใช้วิธีปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน คือ พันธุ์ประวัติร่วมกับการใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เป็นส่วนหนึ่งของยีนควบคุมความหอม BADH2/badh2 ช่วยในการคัดเลือก การปรับปรุงพันธุ์ใช้เวลาทั้งหมด 17 ฤดู เริ่มจากในฤดูนาปี 2551 ผลิตเมล็ด F1 โดยทำการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ปทุมธานี 1 ที่เป็นข้าวเจ้า สีขาว มีกลิ่นหอม (2AP) ต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง กับพันธุ์เจ้าหอมนิลที่เป็นข้าวเจ้าสีดำ ต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง มีกลิ่นเฉพาะตัวของข้าวสีดำที่ไม่ได้เกิดจากสาร 2AP จากนั้นในฤดูนาปรัง 2552 ผลิตเมล็ด F2 ในฤดูนาปี 2552 ปลูกต้น F2 คัดเลือกด้วยเครื่องหมายโมเลกุลที่เฉพาะกับยีน BADH2/badh2 (Bradbury et. al, 2005) โดยคัดเลือกต้น F2 ที่มี ยีโนไทป์ badh2badh2 ของยีนหอมที่เหมือนกับข้าวเจ้าพันธุ์ปทุมธานี 1 จึงทำให้ได้เมล็ด F3 ที่มีกลิ่นหอมจากสาร 2AP เหมือนข้าวปทุมธานี 1 ในฤดูนาปรัง 2553 ปลูกต้น F3 คัดเลือกอีกครั้งด้วยเครื่องหมายโมเลกุลดังกล่าว เพื่อตรวจสอบว่าต้น F3 ที่มียีโนไทป์ badh2badh2 ของยีนหอมจริง แล้วจึงผสมตัวเองได้เมล็ด F4 (badh2badh2) ต่อจากนั้นในฤดูนาปี 2553–นาปี 2554 ทำการปลูกคัดเลือกแบบพันธุ์ประวัติ (pedigree method) จนได้เมล็ด F8 ในฤดูนาปรัง และนาปี 2555 ทำการปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นต้นสายพันธุ์ F8 และ F9 ในฤดูนาปรัง 2556-นาปรัง 2558 ทำการปลูกทดสอบผลผลิตทั้งหมด 5 ฤดู รวมทั้งหมด 7 การทดลอง โดยทดสอบผลผลิตที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จำนวน 5 การทดลอง และอีก 2 การทดลองเป็นแปลงเกษตรกรที่ อำเภอพาน และแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของสายพันธุ์ดีเด่นเปรียบเทียบกับของข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ที่ปลูกในแปลงทดลองเดียวกัน ทำให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ข้าว “เจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1เอ” ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับของข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีผลผลิตดีสูง และมีกลิ่นของของสาร 2AP
ระดับรางวัล (รางวัล): ระดับดี
ระดับรางวัล (ภูมิประเทศ): ระดับประเทศ (National)
ปีที่ได้รับรางวัล: พ.ศ.2560
สถานที่รับรางวัล: กรุงเทพมหานคร
ผู้เกี่ยวข้อง: วราภรณ์ แสงทอง, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้