นายอำพล เสนาณรงค์
ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชศาสตร์ (พืชไร่)
นายอำพล เสนาณรงค์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกสิกรรม และสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีพุทธศักราช 2498 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางการเกษตร สาขาพืชกรรม จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ (Mississippi State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีพุทธศักราช 2502 และสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโททางวิทยาศาสตร์ สาขาการปรับปรุงพันธุ์พืชและ พันธุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเนบร้าสก้า (University of Nabraska) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีพุทธศักราช 2507
นายอำพล เสนาณรงค์ เข้ารับราชการในตำแหน่งนักกสิกรรมตรี กรมกสิกรรม เมื่อปีพุทธศักราช 2494 จากนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้า สถานีทดลองกสิกรรมบางเขน กรมกสิกรรม หัวหน้าสาขาข้าวโพดข้าวฟ่าง กรมวิชาการเกษตร (เปลี่ยนชื่อจากกรมกสิกรรม) และผู้อำนวยการ กองพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ในปีพุทธศักราช 2504-2511 และ 2520 ตามลำดับ ปีพุทธศักราช 2523 ดำรงตำแหน่ง รองอธิบดี(ฝ่ายบริหารและฝ่ายสถานีวิจัย) กรมวิชาการเกษตร ปีพุทธ ศักราช 2534 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และดำรง ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปีพุทธศักราช 2535 และได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี
นายอำพล เสนาณรงค์ เป็นผู้มีผลงานวิชาการดีเด่นทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชที่สร้างคุณประโยชน์แก่ชาติและประชาชนนานัปการอาทิ เป็นผู้นำระบบการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต และคุณภาพข้าวโพดในประเทศไทย อีกทั้งเป็นผู้นำความรู้ด้านการ ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดมาแก้ปัญหาการระบาดของโรคราน้ำค้าง ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญและร้ายแรงที่สุดของข้าวโพดจนโรคลดลงและสงบไปในที่สุด
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มงานวิจัยพืชชนิดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง อีกหลายชนิด เช่น พืชพลังงาน มะคาเดเมีย ปาล์มน้ำมัน มะม่วง หิมพานต์ ฝ้าย กาแฟอาราบิก้า ธัญพืชเมืองหนาว เป็นต้น อีกทั้งเป็น ผู้ริเริ่มงานเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน ที่ไม่เป็นผลเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็น แนวทางการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ในปัจจุบัน
โดยที่นายอำพล เสนาณรงค์ เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญใน ด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช และเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ จนเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา พืชศาสตร์ (พืชไร่) เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 27 วันจันทร์ ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548