นายเถลิง ธํารงนาวาสวัสดิ์
ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร
นายเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นในปี พุทธศักราช 2493 – 2500 ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต จากภาควิชาเศรษฐศาสตรการเกษตร มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
หลังจากสำเร็จการศึกษานายเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ด้วยการรับราชการเป็น อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2500 – 2503 จากนั้นในปีพุทธศักราช 2504 ดำรง ตำแหน่งเศรษฐกรโท สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2508 ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภา พัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2514 – 2523 ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีพุทธศักราช 2523 – 2530 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในปีพุทธศักราช 2531 – 2535 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
นายเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นในด้านการริเริ่มและผลักดันพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมาย นโยบายสำคัญหลายฉบับโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พุทธศักราช 2518 ซึ่งมี วัตถุประสงค์หลัก คือ ซื้อที่ดินขนาดใหญ่จากเอกชน ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร มาจัดสรรให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาในสังคมภาคเกษตรโดยรวม และพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร
พุทธศักราช 2522 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรของชาติเป็นไปอย่างมีระบบสอดคล้องกับนโยบายและแผน
นอกจากนี้ นายเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกหลายตำแหน่ง ได้แก่ ที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายณรงค์ วงศ์วรรณ) ที่ปรึกษารัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 3 สมัย สมาชิกวุฒิสภา 2 สมัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพุทธศักราช 2517 – 2518 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
โดยที่นายเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ จนปรากฏเป็นที่ ยอมรับเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร ได้บำเพ็ญกรณียกิจ จนเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวาง นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับ พระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 28 วันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549