นายสาธิต รังคสิริ
เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
นายสาธิต รังคสิริ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีพุทธศักราช 2525 และสำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Atlanta ประเทศสหรัฐอเมริกา พุทธศักราช 2529 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งในหน้าที่อื่น ๆ อาทิ กรรมการธนาคาร แห่งประเทศไทย ประธานกรรมการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ ประธานกรรมการบริหารบรรษัท บริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
นายสาธิต รังคสิริ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในเรื่อง มาตรการ การคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการภาษี โดยมีผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่ ในวงกว้าง อาทิ ประมวลรัษฎากร และตารางสรุปภาษีประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2544 ถึงปัจจุบัน และหนังสือ “ภาษีกับความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มั่นคง” ซึ่งตีพิมพ์ ในปีพุทธศักราช 2552 นอกจากนี้ นายสาธิต รังคสิริ ยังมี ผลงานบทความที่เผยแพร่ในวารสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรและการคลัง อาทิ สรรพากรสาส์น วารสารด้านการเงิน การเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง วารสาร การเงินการธนาคาร รวมทั้งเป็นผู้เขียนบทความในคอลัมน์ “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย” ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันจันทร์
นอกจากนี้ นายสาธิต รังคสิริ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ด้านการพัฒนา เศรษฐกิจชาติหลายด้าน กล่าวคือ เป็นผู้ผลักดันให้มีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งใหม่ ในปีพุทธศักราช 2535 ในส่วนกองภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลและ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเรื่องสำคัญหลายเรื่อง อาทิ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรม และ ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนให้มีพระราชบัญญัติกองทุนการออม แห่งชาติ เป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญและนำเสนอแผนพัฒนาตลาดทุนไทย 5 ปี (ปีพุทธศักราช 2553-2557) และมีส่วนสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีสำหรับการ พัฒนาตลาดหุ้นไทย รวมทั้งจัดทำและเสนอแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 (ปีพุทธศักราช 2553-2557)
โดยที่ นายสาธิต รังคสิริ เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ และเป็นแบบอย่างที่ดี แก่คนทั่วไป ทั้งเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จนเกิดเป็นประโยชน์แก่สังคม ในวงกว้าง นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 33 วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554