Skip to content Skip to footer

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพลังงานทดแทน

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช 2521 และ Graduation Diploma, (Hydraulic Engineering) ทุนรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ผ่านกรมวิเทศสหการ จาก International Institute of Hydraulic Engineering, Delft Netherlands ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เมื่อปีพุทธศักราช 2532

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพการทำงาน จนเป็นที่ยอมรับ โดยปีพุทธศักราช 2541 ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการ และบำรุงรักษา 1 สำนักปฏิบัติการและบำรุงรักษา กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ปีพุทธศักราช 2546 ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ กระทรวงพลังงาน ปีพุทธศักราช 2550 ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ กระทรวงพลังงาน ปีพุทธศักราช 2552 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ปีพุทธศักราช 2554 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และปีพุทธศักราช 2556 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวง พลังงาน กระทรวงพลังงาน

ด้านผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีนั้น นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ เป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านพลังงานมากว่า 22 ปี บทบาทหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหาร พัฒนาพลังงาน ของประเทศไทย ประกอบด้วย การพัฒนานโยบายด้านการจัดหาพลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบ แหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งลิกในต์ และแหล่งพลังงานเชิงพาณิชย์อื่น ๆ การพัฒนานโยบายด้านการเพิ่มบทบาทของ ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในภาคธุรกิจด้านการผลิตพลังงานให้มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน การพัฒนานโยบายราคาพลังงานให้มีความชัดเจน การพัฒนานโยบายการอนุรักษ์พลังงาน รณรงค์สร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาวิจัย เทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนานโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน การพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมพลังงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาสังคม ในกระบวนการกำหนดนโยบาย และการเผยแพร่และให้บริการข้อมูลพลังงาน แก่ประชาชน องค์กร และชุมชน รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการบุคลากร จัดทำแผนฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบควบคุมภายใน และการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงาน

ด้านการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ได้เป็นผู้ส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พลังงาน การจัดการพลังงานในประเทศไทย นอกจากนั้น ยังส่งเสริมเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ เพื่อเสริมศักยภาพ ด้านพลังงานของประเทศในรูปแบบของงานวิจัยและการพัฒนา เช่น โครงการไฟฟ้า พลังน้ำระดับหมู่บ้าน โครงการพลังงานหมู่บ้านชนบท โครงการบ้านมั่นคงพลังงาน โครงการอนุรักษ์พลังงานในวัด โครงการสร้างจิตสำนึกการใช้พลังงาน ให้เยาวชนในสถานศึกษา โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามโครงการพระราชดำริ โครงการพัฒนาก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรเพื่อการคมนาคม โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio-jet) สำหรับประเทศไทย รวมทั้งได้จัดทำโครงการด้านการจัดการพลังงานและผลิต พลังงานทดแทนในระดับชุมชน ทั้งในระดับหมู่บ้าน โรงเรียน วัด และค่ายทหาร การพัฒนาเกาะพลังงานสะอาดต้นแบบ เกาะพะลวย, กรีนไอส์แลนด์

นอกจากนี้ ในปีพุทธศักราช 2555 และ 2556 นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ได้ส่งเสริมการพัฒนางานด้านก๊าซชีวภาพเพื่อการคมนาคม โดยเสนอให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยศูนย์วิจัยพลังงาน ร่วมกับบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนเคมิคัลล์ จำกัด (มหาชน) ศึกษาและสร้างต้นแบบระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร เพื่อการคมนาคม ต้นแบบระบบการผลิตก๊าซชีวภาพและการใช้งานในพื้นที่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์และระบบต้นแบบที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งให้การสนับสนุน ในเรื่องการวิจัยด้านพลังงานทดแทน ให้คำปรึกษาและคำแนะนำอย่างเต็มกำลังความสามารถแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ และผลักดันให้เกิด ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับสำนักงานนโยบายและ แผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อศึกษางานวิจัยเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ เหมาะสมสำหรับชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป

โดยที่ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป และทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นบุคคลที่มี เกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพลังงานทดแทน เพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 36 วันที่ 1-2 มีนาคม 2557

Go to Top