นายธรรมยศ ศรีช่วย
วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานทดแทน
นายธรรมยศ ศรีช่วย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเมื่อปีพุทธศักราช 2526 ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การทำงานด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 35 ปี โดยท่าน เริ่มต้นชีวิตการทำงานในตำแหน่ง วิศวกรไฟฟ้า 3 ฝ่ายวิศวกรรมไฟฟ้า กองออกแบบ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เมื่อพุทธศักราช 2526 จากนั้นเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนกำกับการอนุรักษ์พลังงาน สำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เมื่อพุทธศักราช 2543 และดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในปีพุทธศักราช 2550-2551
นายธรรมยศ ศรีช่วย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเสนอและผลักดัน นโยบายและแผนการบริหารจัดการ และการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย เป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทั้งในรูปแบบของการวิจัยและการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองแผนพัฒนา พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ร้อยละ 25 ในระยะเวลา 10 ปี (พุทธศักราช 2555-2565) ของกระทรวงพลังงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ด้านการใช้เทคโนโลยีพลังงานชีวมวล ได้แก่ การพัฒนาระบบ ฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทย ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืช พลังงานที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้า หรือผลิตเป็น CBG (Compress Bio-Methane Gas) เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทดแทนก๊าซ LPG ส่งเสริมการผลิต ก๊าซชีวภาพจากขยะตลาดสด การพัฒนาก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร เพื่อการคมนาคม การผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียผสม (Co-Digestion) ในสวนสัตว์ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพ อย่างปลอดภัย
ด้านการใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การศึกษาปรับปรุง ระบบส่งข้อมูลแสงอาทิตย์ การสนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ชนบทที่การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุม โครงการศึกษา และพัฒนาต้นแบบบ่อเลี้ยงปลาแสงอาทิตย์สำหรับชุมชน ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ของปลา และโครงการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนแสงอาทิตย์ในสถานศึกษา เป็นต้น
ด้านการใช้พลังงานลม ได้แก่ การศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมในแหล่งลมดี การจัดทำแผนที่ลม ระดับไมโครสเกลสำหรับส่งเสริมการพัฒนาพลังงานลมในประเทศไทย ปรับปรุงและบำรุงรักษาสถานีวัดศักยภาพพลังงานลม และสนับสนุนระบบผลิต ไฟฟ้าแบบผสมผสานจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งประสบความสำเร็จ อย่างดีเยี่ยม ดังจะเห็นได้จาก “โครงการพะลวยกรีนไอส์แลนด์” เกาะพลังงาน สะอาด หรือ Green Island ที่ดำเนินการในพื้นที่เกาะพะลวย ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อพุทธศักราช 2554 จนสำเร็จ เป็นเกาะต้นแบบด้านพลังงานสะอาด ที่มีการใช้พลังงานทดแทนเต็มพื้นที่ ร้อยละ 100 ทำให้ชุมชนบนเกาะเกิดความเข้มแข็งด้วยการดำเนินชีวิต แบบ Living Green เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และพัฒนาต่อมาจนเป็น ศูนย์การเรียนรู้การใช้พลังงานสะอาดในชุมชนแห่งแรกของโลก
ด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การศึกษาแนวทางการจัดทำ ค่ากิจกรรมการใช้พลังงาน (Activity Data) และค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซ เรือนกระจก (Emission Factor) จากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตพลังงาน ของประเทศไทย การศึกษาและประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกจากภาคพลังงาน โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพและความพร้อม ในการเป็นผู้ตรวจประเมิน (DOE) โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ของประเทศไทย ระยะที่ 2
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และยังเป็นผู้อุทิศตนทำคุณประโยชน์แก่สังคมนานัปการ อาทิ การให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และการสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยและกิจกรรมโครงการด้านการผลิต และการใช้พลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ นายธรรมยศ ศรีช่วย เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ จนเป็นที่ยอมรับจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่ม อุทิศตนทำคุณประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา วิศวกรรมพลังงานทดแทน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 38 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2559