นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์
นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนชาญวิทย์พิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2513 และสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ เมื่อพุทธศักราช 2516
ด้านประวัติการทำงาน นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ เริ่มต้นทำงานใน ตำแหน่งพนักงานจัดซื้อวัตถุดิบ บริษัท กรุงเทพ ฟีดมิลล์ จำกัด เมื่อพุทธศักราช 2517 – 2521 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกจัดซื้อวัตถุดิบ บริษัท วนนท์ จำกัด เมื่อพุทธศักราช 2521-2522 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อพุทธศักราช 2522 ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการ กิจการ บริษัท กรุงเทพฟาร์ม จำกัด เมื่อพุทธศักราช 2529 ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธุรกิจเป็ดครบวงจร บริษัท กรุงเทพฟาร์ม จำกัด เมื่อพุทธศักราช 2535 จากนั้นได้เข้าทำงานที่บริษัท ซี.พี.เมอร์แซนไดซิ่ง จำกัด (CP Merchandising Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ตามลำดับ กล่าวคือ ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการด้านการตลาดต่างประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2543 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (SVP) ธุรกิจการค้า ด้านผลิตภัณฑ์สัตว์บก เมื่อพุทธศักราช 2545 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (EVP) ธุรกิจการค้าด้านผลิตภัณฑ์สัตว์บก เมื่อพุทธศักราช 2547 ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ (เทียบเท่า EVP) สายธุรกิจการค้าต่างประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2553 ต่อมาดำรงตำแหน่งรองประธานคณะผู้บริหารธุรกิจการค้าด้านผลิตภัณฑ์ สัตว์บก เมื่อพุทธศักราช 2557 จากนั้นดำรงตำแหน่งประธานสายธุรกิจเป็ดเนื้อเมื่อพุทธศักราช 2558 และได้ดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติ การสายธุรกิจเป็ดเนื้อ
นับว่า นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพนั้นจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง อย่างเต็มความสามารถ และสร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมของบริษัทอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น
ด้านผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีนั้น นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาผลผลิตทางการเกษตรในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ร่วมบุกเบิกวางนโยบายและมีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการผลิตไก่แปรรูปครบวงจร ด้านการผลิตเป็ดแปรรูปครบวงจรด้านการแปรรูป กุ้งครบวงจร เป็นผู้ร่วมบุกเบิกสำคัญในการเปิดตลาดต่างประเทศและร่วมพัฒนา การค้าระหว่างประเทศให้แก่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ การเกษตรและประมง เช่น ไก่ เป็ด และกุ้งปรุงสุก เป็นผู้ร่วมสนับสนุนสำคัญในการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศของภาครัฐ ช่วยประสานงานระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทยในการปฏิบัติงานด้านการค้าต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ทูตทางการค้า ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้าและด้านอื่น ๆ ของประเทศ เป็นผู้มีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการผลิตไก่เพื่อส่งออก (การผลิตไก่ครบวงจร) ของประเทศ จนสามารถทำรายได้ให้ประเทศจำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนร่วมและผลักดันการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารจากไก่ เป็ด กุ้ง และผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่าง ๆ ให้แก่บริษัทผลิตภัณฑ์ อาหารซีพี นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนางานด้านดังกล่าวให้แก่ ประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน และยังเป็นผู้ร่วมกำหนดนโยบายด้านแรงงานและความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัท ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมระบบมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) เพื่อให้นโยบายด้านแรงงาน และความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัท ซีพีเอฟ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากล ก่อให้เกิดผลดีต่อพนักงาน ผู้ใช้แรงงานของบริษัท ซีพีเอฟจำนวนมาก และในด้านของสถานที่ทำงานที่มีความสุข Happy Work place มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นำมาซึ่ง ความสุขของคนในสังคม
นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่ม จนเป็นประโยชน์แก่สังคม กล่าวคือเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานในธุรกิจการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ที่ส่งเสริมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง Shrimp Sustainable Supply Chain Task force (SSSC Task Force) เป็นผู้มีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกให้แก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก ของประเทศจนวิกฤตการณ์คลี่คลาย เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีกของไทยที่ปลอดจากไข้หวัดนกโดยผ่านกิจกรรมของสมาคม ผู้เลี้ยงไก่เพื่อการส่งออกและกิจกรรมของบริษัท ซีพีเอฟ ที่ให้การสนับสนุนงาน วิจัยไข้หวัดนกและไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ และงานวิชาการให้แก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการ เช่น ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ใน งานวิจัยพัฒนาด้านการเกษตรและอาหาร นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ มีส่วนร่วม และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในการเป็นครัวของโลก สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยยกระดับและความปลอดภัยตลอดกระบวนการควบคู่ ไปกับการส่งเสริมเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนบรรเทาความหิวโหย การเข้าถึงอาหารและภาวะทุพโภชนาการในสังคมให้แก่คน ในประเทศและประชากรโลก และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Shrimp Sustainable Supply Chain Task force (SSSC Task Force) อีกด้วย
โดยที่ นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ในงานวิชาชีพนั้นจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทาน ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 39 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560