นายสมชาย เขียวแดง
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว
นายสมชาย เขียวแดง สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี พุทธศักราช 2522 สำเร็จการศึกษา ระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงราย พุทธศักราช 2525 จากนั้นจึงเข้าศึกษาและสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาส่งเสริมการเกษตร จากสถาบันเทคโนโลยี การเกษตรแม่โจ้ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) พุทธศักราช 2529 เป็นศิษย์เก่า แม่โจ้รุ่น 49 และได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อพุทธศักราช 2550
ภายหลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี นับตั้งแต่พุทธศักราช 2529 นายสมชาย เขียวแดง ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลายแห่ง อาทิ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์พัฒนา โครงการหลวงขุนแปะ เมื่อพุทธศักราช 2529 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์พัฒนา โครงการหลวงหนองหอย หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะและรักษาการ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก พุทธศักราช 2539 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง พุทธศักราช 2542 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง พุทธศักราช 2548 และตั้งแต่พุทธศักราช 2552 นายสมชาย เขียวแดง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวง อ่างขางและอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้นายสมชาย เขียวแดง ยังได้ปฏิบัติงานพิเศษ เช่น เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ประเทศไทย – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิ โครงการหลวงและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เป็น เจ้าหน้าที่โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ประเทศไทย – สาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมาร์ โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการ พัฒนาตามพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการ ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านป่าสักทอง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และเป็นที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการ อำเภอเมืองและอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
นายสมชาย เขียวแดง เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความรับผิดชอบ จนประสบความสำเร็จและได้รับความไว้วางใจจากประธานมูลนิธิโครงการหลวง แต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง และดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นสถานีหลักในการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ในการปฏิบัติภารกิจด้านต่าง ๆ
นายสมชาย เขียวแดง มีผลงานวิชาการดีเด่น โดยได้เข้าร่วมโครงการ วิจัยต่าง ๆ และนำไปพัฒนาส่งเสริมสถานีเกษตรหลวง ทั้งด้านการปลูกพืช ปลูกดอกไม้ สมุนไพร ทำปุ๋ยหมัก และการท่องเที่ยว ได้แก่ การร่วมงานวิจัย การผลิตปุ๋ยหมักไส้เดือนดินจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและวัสดุอินทรีย์จากชุมชน สำหรับส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง และร่วมงานวิจัย การผลิตและทดลองธาตุอาหารรองอินทรีย์และจุลินทรีย์เชิงเดี่ยวที่ผลิตจากวัสดุ เหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อการผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่โครงการหลวง ระหว่างพุทธศักราช 2549 – 2550 งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์หน้าวัว – เปลวเทียน เพื่อตัดดอก ระหว่างพุทธศักราช 2554 – 2556 ศึกษาวิจัย สภาวะธาตุอาหารที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ติดดอกออกผลของกีวีฟรู้ท ระหว่าง พุทธศักราช 2554 – 2557) มีการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม สำหรับงานผลิตของมูลนิธิโครงการหลวง และการผลิตท่อนพันธุ์ซาโยเต้ ปลอดไวรัสโดยการเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญและเอ็มบริโอ ระหว่างพุทธศักราช 2556 – 2557 การศึกษาอิทธิพลของค่าการนำไฟฟ้าในการผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ ในระบบดีอาร์เอฟภายใต้สภาวะโรงเรือน โครงการงานทดสอบสายพันธุ์กาแฟ อาราบิก้าบนที่สูง โครงการขยายพันธุ์บลูเบอรี่โดยวิธีการปักชำกิ่ง โครงการปรับปรุงพันธุ์และทดสอบพันธุ์สตรอว์เบอร์รี การทดสอบวิธีการควบคุมโรคและ แมลงศัตรูพืชของพืชอย่างมีประสิทธิภาพและโครงการทับทิมเขตหนาว
พุทธศักราช 2557 ได้วิจัยการใช้สารอินทรีย์ยับยั้งการเจริญและแพร่โรคไวรัส พืชเศรษฐกิจของโครงการหลวง การปรับปรุงพันธุ์พืชและเนคทารีน การควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชโดยจุลินทรีย์เอนโดไฟท์และจุลินทรีย์ประจำถิ่นในดินเขตรากพืช ที่ผลิตสารออกฤทธิ์ชีวภาพ และการคัดเลือกสตรอว์เบอร์รี พันธุ์ลูกผสม เพื่อพัฒนาเป็นพันธุ์การค้า การสำรวจและการอนุรักษ์กล้วยไม้พื้นเมือง บนดอยอ่างขางเพื่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เมื่อพุทธศักราช 2558
งานวิจัยและงานวิชาการดังกล่าวที่นายสมชาย เขียวแดง ได้ร่วมศึกษาค้นคว้า ทำให้สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและอินทนนท์ ได้รับการพัฒนา อย่างต่อเนื่อง ทันต่อเหตุการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคมและความเหมาะสมกับภูมิอากาศ อันเป็นรากฐานของการค้นหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ วิธีการปลูกและการผลิต นอกจากนี้นายสมชาย เขียวแดง ยังได้ส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชาวเขา ด้านต่าง ๆ ในเขตรับผิดชอบของทั้งสองสถานี เช่น ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ ปลูกผักตามมาตรฐาน GAP ส่งเสริมการผลิตสตรอว์เบอร์รีไม้ผลเมืองหนาว (บ๊วย พลัม พีช) ผลไม้เขตร้อน (อะโวคาโด้) งานด้านพืชไร่ (กาแฟ เห็ด ไม้ดอก ปศุสัตว์) การส่งเสริมนอกภาคการเกษตร การส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ด้านการเกษตรกรรม การแปรรูปสินค้า ตามแนวทางการดำเนินงานของโครงการหลวง ช่วยให้เกษตรกร ชาวนา และชุมชนบนพื้นที่สูงมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีคุณภาพด้านวิชาการเกษตร อย่างแท้จริง นอกจากนี้ในส่วนของงานส่งเสริมและการท่องเที่ยวในสถานีเกษตร หลวงอ่างขางและอินทนนท์ นั้น นายสมชาย เขียวแดง ยังได้วางแผน จัดระบบและพัฒนาทั้งสองสถานีจนทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยว เข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก กระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐานและรางวัลด้าน การท่องเที่ยวจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศ เช่น รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 10 ประจำพุทธศักราช 2558 จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้รับรางวัลยอดเยี่ยม และสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่อง เที่ยวเชิงเกษตร สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน การท่องเที่ยวไทย ประจำพุทธศักราช 2557 จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำพุทธศักราช 2551 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว และได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 5 ประจำพุทธศักราช 2547 จากการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
นอกจากการเป็นผู้เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนแล้ว นายสมชาย เขียวแดง ยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบัน เป็นอเนกประการ เช่น ส่งเสริมให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเข้าฝึกงานในสถานี เกษตรหลวงทั้งสองแห่ง นอกจากนี้ยังอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษา และร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้อย่างสม่ำเสมอ
โดยที่ นายสมชาย เขียวแดง เป็นผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพนั้นจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจ ด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญ ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ ด้วยความตั้งใจจริง จึงนับเป็น ผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 39 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560