พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารศาสตร์
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 (จปร. 23) หลักสูตร Captain to Major Course จาก New Zealand Army Kitam หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 63 จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 42 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช 2549 และสำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาโท ได้รับวุฒิรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ในด้านประวัติการทํางาน พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ปฏิบัติราชการ ครั้งแรกในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2530 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกรมในหน่วยงานดังกล่าว พุทธศักราช 2549 ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พุทธศักราช 2554 ดํารงตําแหน่ง รองผู้บัญชาการทหารบก พุทธศักราช 2557 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พุทธศักราช 2558 ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพุทธศักราช 2559 ได้รับ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ มีผลงานซึ่งแสดงถึงความสำเร็จ ในการเป็นแบบอย่างที่ดีหลายประการ อาทิ การกำหนดนโยบายการบริหาร จัดการขยะและสิ่งแวดล้อม โดยการวางแนวทางการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ส่วนในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ท่านเป็นผู้กำหนดนโยบายการรักษาความมั่นคง ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยเน้นการรักษา ทรัพยากรป่าไม้ แนวทางการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ รวมทั้งการตัดไม้ การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทางน้ำ และการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยจัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ สนับสนุน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติโครงการปรับปรุง และซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างด้านแหล่งน้ำ นอกจากนี้ มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยเป็นผู้จัดทำโครงสร้าง ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และเป็นผู้วางแผนงาน ในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ
นอกเหนือจากผลงานที่กล่าวข้างต้น พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ยังเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พุทธศักราช 2557 – 2593 การจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ พุทธศักราช 2551 – 2555 โดยพัฒนาประเทศสู่สังคม คาร์บอนต่ำในปีพุทธศักราช 2593 การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ
ในด้านการศึกษา แม้จะดำรงตำแหน่งในระยะเวลาอันสั้น แต่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มีวิสัยทัศน์ ในการกำหนดนโยบายและแนวคิด ในการทำงาน ซึ่งเป็นแบบอย่างดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ อาทิ การขับเคลื่อนนโยบาย ด้านการศึกษา มีการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษามาเป็นแนวทาง ในการปฏิบัติงาน ทั้งด้านการสอนและการจัดกิจกรรมให้เป็นรูปธรรม ส่วนนโยบายทั่วไปของกระทรวง ด้านการจัดทำแผนงาน มีการเน้นเรื่อง ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ การกำหนดแผนงานและรายละเอียด เพื่อให้เห็น ทิศทางของการดำเนินงานในอนาคต การมีฐานข้อมูลที่ทันสถานการณ์และครบถ้วน การวิเคราะห์ปัญหาและทบทวนการทํางานเดิม ด้านโครงการตามแนวพระราชดำริ มีการถ่ายทอดให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความเข้าใจหลักการ เหตุผลและความสำคัญของโครงการ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
นอกเหนือจากความสามารถในด้านการบริหาร ซึ่งปรากฏชัดเจน จากผลงานการกําหนดแนวนโยบายดังที่กล่าวข้างต้น พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ยังมีวิสัยทัศน์ของผู้นําที่ควรชื่นชมยกย่อง สังเกตจากการขับเคลื่อนการดําเนินงานขององค์กรหลักและหน่วยงานทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สอดคล้องและขยายผล ตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี อาทิ การพยายามสร้างผลงานให้ประชาชนและสังคมมีความพึงพอใจ อันส่งผลต่อการสร้างคนที่มีคุณภาพ การเร่งรัดปรับปรุงหลักสูตรแต่ละระดับให้มีความเหมาะสม และจัดการเรียนการสอนให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองมีความสุข เป็นหลักสูตรที่สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม มีการส่งเสริมให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม และแพร่หลาย การผลิตคนที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ บัณฑิตต้องมี งานทำและส่งเสริมให้มีโอกาสทำงานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC)
โดยที่ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นผู้มีผลงานอันเป็นแบบอย่าง และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ เพื่อความเจริญก้าวหน้า ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งด้านการศึกษา เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 39 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560