Skip to content Skip to footer

นายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์

นายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ประกาศนียบัตรการตรวจสอบอาหารสัตว์ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Diploma in International Pig School, Seghers Hybrid จากราชอาณาจักรเบลเยียม ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เมื่อพุทธศักราช 2558 และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร เครือบริษัทวี.พี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบไปด้วย 4 บริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัทวี.พี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บริษัทแม่ทา วี พี จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มสุกรขุนแบบโรงเรือนปิด บริษัทแม่ทา วี.พี. ฟีดมิลล์ เป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และบริษัทวี แอนด์ พี เฟรชฟูดส์ จำกัด

นายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ในงานวิชาชีพ โดยเริ่มจากฟาร์มขนาดเล็ก โดยใช้การบริหารจัดการที่ดี จนสามารถขยายขนาดกิจการได้อย่างรวดเร็ว จนพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้ใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อพัฒนาคุณภาพ ในการผลิตและเพิ่มปริมาณในการผลิต ทำให้การดำเนินธุรกิจด้านอาหารสัตว์ อัดเม็ดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุกรแบบครบวงจร ในภาคเหนือ ภายใต้ปรัชญาการบริหารที่มุ่งเน้นให้องค์กรเกิดการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ตลอดจนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงาน ชุมชนและสังคม ทั้งยังได้ถ่ายทอด ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ อันมีค่าให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร หน่วยงาน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าศึกษาดูงานในเครือบริษัท ตลอดจนการมอบเงินทุน เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับรางวัล สัตวบาลดีเด่น แห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2559 จากสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย

นายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ เป็นผู้มีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึง ความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี คือ ได้พัฒนาและดำเนินธุรกิจที่ยึดมันคุณภาพ กินดี อยู่ดี มีสุข และความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การจัดการ พลังงานไบโอแก๊ส การจัดการขยะมูลสัตว์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระบบการบริหารจัดการฟาร์มแบบปิด ระบบระเหยไอน้ำเย็นและการให้อาหารแบบอัตโนมัติ มีการนำหลักการของ Smart Farming เข้ามาใช้ในการเลี้ยงสุกร โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในระบบการบริหารจัดการฟาร์มแบบปิด มีการใช้ระบบระเหยไอน้ำเย็นและ ระบบการให้อาหารสุกรแบบอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ ทันสมัยแล้ว ยังได้นำวิธีทางธรรมชาติเข้ามาช่วยในการจัดการกลิ่นที่เกิดขึ้นจาก การเลี้ยงสุกรอีกทางหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการผสมผสานวิธีทางธรรมชาติเข้ากับ เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี และเป็นการดำเนินธุรกิจสีเขียว กล่าวคือ การจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูง ลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติควบคู่ กับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างระบบแก๊สชีวภาพจากมูลสุกรเพื่อ ผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในธุรกิจ และยังนำมาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อการเกษตร รวมถึงน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดยังถูกนำมาใช้หมุนเวียนภายในโรงงานได้ทั้งหมด ทำให้ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้อุทิศตนเผยแพร่ ความรู้ด้านสัตวบาลที่ได้สั่งสมถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ที่สนใจ

นายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ มีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจและ อุตสาหกรรมของไทยด้วยการเป็นประธานคณะกรรมการ Northern Thailand Food Valley รวมถึงเป็นกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอีกด้วย นอกจากตำแหน่งดังกล่าว ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาอุตสาหกรรม ภาคเหนือ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน กิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และเป็น อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือสังคมในด้าน อื่น ๆ มาตั้งแต่พุทธศักราช 2530 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ระหว่างพุทธศักราช 2544-2546

โดยที่ นายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ในวิชาชีพ ซึ่งดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุกรแบบครบวงจรในภาคเหนือ ภายใต้ปรัชญาการบริหารที่มุ่งเน้นให้องค์กรเกิดการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงาน ชุมชนและสังคม เป็นผู้บำเพ็ญ กรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ สีเขียว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขและมีความมั่นคงปลอดภัยของสังคมและ สิ่งแวดล้อม โดยยึดถือการสร้างและพัฒนาคุณค่าธุรกิจสีเขียวพร้อมกับการสร้าง นวัตกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต เพื่อส่งมอบคุณค่านี้แก่ชุมชน โดยจัดให้มี มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการพลังงาน การคำนึงถึงความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติ เหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 42 วันที่ 7-8 มิถุนายน 2562

Go to Top