ชื่อรางวัล รางวัลชนะเลิศ ในการประกวดกระทงใหญ่ ในเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2563
องค์กร/หน่วยงาน จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่
ระดับรางวัล (รางวัล) รางวัลชนะเลิศ1
ระดับรางวัล (ภูมิประเทศ) ระดับจังหวัด
ปีที่ได้รับรางวัล 2563
สถานที่รับรางวัล เทศบาลนครเชียงใหม่
รายละเอียดผลงาน
ในปี 2563 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำรถกระทงใหญ่ รักษ์โลก – เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัย ในการมุ่งสู่ Green University นำวัสดุเหลือใช้ และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาปรับใช้ในการจัดทำ ถึง 90% ทั้งตัวโครงสร้างรถกระทง การประดับตกแต่งใน ส่วนต่างๆ เช่น กระดาษรีไซเคิล กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ไม้ กิ่งไม้ กาบหมากที่ร่วงหล่นในมหาวิทยาลัย ใบลาน นำมาทำเป็นกลีบบัว เย็บแบบ ตกแต่งประดับด้วยเมล็ดธัญพืช งานปั้นแต่งจากแป้งข้าวเหนียว นำมาปั้นเป็นเกล็ดพญานาค ฯลฯ ที่ยังคงความพิถีพิถันละเอียดละออทุกขั้นตอน ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวรถกระทง ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับประเพณี และคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา “นพบุรีเลิศหล้า เเม่โจ้ยอไหว้สาประเพณียี่เป็ง”
โดยด้านหน้าขบวนรถ นำด้วย “รถน้อยเรือสะเปาล่องนาวา” ประดิษฐานตราสัญลักษณ์พระพิรุณทรงนาค เทพเจ้าแห่งสายฝน สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ประดับด้วยกลีบบัวบงกช ตกแต่งด้วยเมล็ดธัญพืช ด้านหน้ารถเป็นสระอโนดาตและสายนที เปรียบเสมือนสายน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต… ตรงกลางจำลองเขาสิเนรุในวรรณกรรม “จักรวาฬทีปนี”วรรณกรรมเด่นของล้านนา… เบื้องหน้ามีพญาหงส์คำ สัญลักษณ์แห่งสัตว์ชั้นสูงในป่าหิมพานต์ ด้านบนต่างเทินด้วยพระบรมธาตุดอยสุเทพ.. ท่ามกลางเขาสิเนรุและเขาสัตภัณฑ์ มีบันไดพญานาคทอดยาว… ด้านหลังเป็นวิมานสามหลังหมายถึงสัญลักษณ์ของฤดูทั้ง 3 … และด้านในประดิษฐานพระราชลัญจกร ตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านข้างทั้งสองประกอบด้วยต้นไม้เงินต้นไม้ทอง สัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี โดยใช้โทนสีเขียว ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารในนครเชียงใหม่, สีแดง สื่อถึงจิตวิญญาณแห่งรากเหง้าวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษถ่ายทอดสืบต่อมา และสีทอง หมายถึง ความมั่งคั่ง ความสูงส่ง และการเทิดทูนบูชา
รถกระทงมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ออกแบบและใช้แนวความคิด โทนสี เรื่องราว ให้สอดคล้อง สวยงาม สื่อถึงอัตลักษณ์และความเจริญรุ่งเรืองของ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณียี่เป็งให้อยู่คู่เชียงใหม่และประเทศไทยสืบไป ด้วยพลังแห่งความสามัคคีของชาวแม่โจ้ เพราะการจัดทำรถกระทงของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการทำงานหลักโดยนักศึกษาทั้งส่วนการออกแบบ การตกแต่งรายละเอียด ควบคุมบริหารงานและการจัดการ ใช้เวลาในการประดิษฐ์แต่ละครั้งประมาณ 3-4 เดือน โดยมีการสืบทอดภูมิปัญญาการประดิษฐ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง มีกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมคอยอำนวยความสะดวก มีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่าคอยให้การสนับสนุน เพื่อช่วยกันสานต่อวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของไทยเรื่อยมา
ชื่อชุดการแสดง “นพบุรีเลิศหล้า เเม่โจ้ยอไหว้สาประเพณียี่เป็ง” ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
แหล่งที่มา : https://artsandculture.mju.ac.th/wtms_newsDetail.aspx?nID=23560&lang=th-TH