Skip to content Skip to footer

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพุทธศักราช 2549 และสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพุทธศักราช 2551 พุทธศักราช 2562 ได้รับปริญญาเกษตรศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเกษตรนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ด้านการทำงาน ระหว่างพุทธศักราช 2554 – 2558 นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ต่อมาพุทธศักราช 2558 – 2561 ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอ้อย น้ำตาลมิตรผล จำกัด พุทธศักราช 2561 ถึงปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ เป็นผู้มีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จ อันเป็นแบบอย่างที่ดีหลายประการ ได้แก่ การเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมระบบการ ทำไร่อ้อยสมัยใหม่ในชื่อ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” (Mitr Phol Modern Farm) นำไปใช้ในไร่อ้อยของกลุ่มมิตรผลและไร่อ้อยคู่สัญญา ซึ่งสามารถลดต้นทุนการปลูกอ้อยเพิ่มผลผลิต ลดปัญหาแรงงาน ลดการทำลายดิน และลดมลพิษจากการเผาอ้อย ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมิตรผลได้การรองรับมาตรฐานระดับโลก Bonsucro เป็นรายแรก ในไทยและอาเซียน ทั้งนี้ยังศึกษาพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรในการลดการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มประสิทธิภาพการทำไร่อ้อย ร่วมกับคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาระบบบริหารฟาร์มอัจฉริยะด้วยโปรแกรม FarmPro และบริหารองค์กรจนได้รับการจัดอันดับโดย S&P Global ให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน อันดับ 4 ของโลกในอุตสาหกรรมอาหาร รางวัล Sustainability Award Silver Class 2021 และสมาชิกในรายงานความมั่นคง 2 ปีซ้อน แสดงให้เห็นว่าบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มีกระบวนการทำธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแรงพร้อมกับพันธมิตรคู่ค้า

ด้านผลงานวิชาการและการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ มีผลงานทางวิชาการหลายเรื่อง เช่น หนังสือวิชาการ จำนวน 3 เล่ม ได้แก่ เรื่อง “ดินเหนียว” ตีพิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2560 “ดินทราย” ตีพิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2562 และ “สูตรลับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” ตีพิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2563 และจัดทำ “วารสารมิตรชาวไร่” จำนวน 41 ฉบับ ตีพิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2557 – 2566 ทั้งยังได้สร้างความร่วมมือระหว่างบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทในเครือ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในด้านวิชาการ การวิจัย และการให้บริการวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และบูรณาการ กิจกรรมร่วมกันตามพันธกิจให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ยังเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อันก่อเกิดประโยชน์แก่สังคม โดยนำความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าจากพืชเศรษฐกิจ สู่สินค้าแปรรูปขั้นสูง พัฒนาต่อยอดให้อ้อยและน้ำตาลเป็น Value Creation เพื่อมุ่งสู่ Bioeconomy เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับองค์กรและสร้างความมั่นคงทางอาชีพ ให้แก่เกษตรกรในเวลาเดียวกัน และเป็นผู้บริหารที่มีแนวคิดในการปรับตัวและมองหา โอกาสทางธุรกิจให้ทันกับสถานการณ์โลกและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม โดยการขยายการลงทุนไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรลาว เพื่อผลิตและส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป และต่อยอดเป็น โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลมิตรลาว ได้พัฒนาและเติบโตเป็นผู้ผลิตน้ำตาลออร์แกนิกรายแรกและรายเดียวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โดยที่ นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป และเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

ที่มา  : สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 46 ประจำปีการศึกษา 2565  2566 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2567  ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

ภาพ : ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Go to Top