Skip to content Skip to footer

นายวุฒิ ชพานนท์
ศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2558

นายวุฒิ ชพานนท์ สําเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการเกษตรกรรมแม่โจ้ (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เป็นศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 22 สําเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตร (Institute of Dairy) Diploma India (โดยทุนรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย และรัฐบาลราชอาณาจักรเดนมาร์ก) สําเร็จการศึกษาระดับสัมฤทธิบัตร สาขาหลักรัฐศาสตร์และการบริหาร จากมหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสําเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตร สาขาวิชาบริหารธุรกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ในด้านการทํางาน นายวุฒิ ชพานนท์ ดํารงตําแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกปศุสัตว์ไร่ เอ.อาร์ (สุริยนไรวา) จังหวัดชลบุรี เมื่อพุทธศักราช 2503 ต่อมา ได้ทําการเกษตรส่วนตัวที่จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างพุทธศักราช 2506-2514 และได้ดํารงตําแหน่งเป็นหัวหน้าสวนป่า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ปลูกป่าทดแทนสัมปทานการทําไม้) ระหว่างพุทธศักราช 2515-2519 ดํารงตําแหน่ง เป็นหัวหน้าแผนกโยธา สวนสัตว์เชียงใหม่ องค์การสวนสัตว์ สํานักนายกรัฐมนตรี ระหว่างพุทธศักราช 2520-2532 และดํารงตําแหน่งเป็นหัวหน้าโครงการ สวนสัตว์นครราชสีมา องค์การสวนสัตว์ สํานักนายกรัฐมนตรี เมื่อพุทธศักราช 2532-2533 นอกจากนี้ ยังดํารงตําแหน่งเป็นหัวหน้าสวนสัตว์เปิดเขาเขียวชลบุรี องค์การสวนสัตว์ สํานักนายกรัฐมนตรี เมื่อพุทธศักราช 2534 และดํารงตําแหน่งเป็นหัวหน้าสวนสัตว์นครราชสีมา องค์การสวนสัตว์ สํานักนายกรัฐมนตรี เมื่อพุทธศักราช 2535

นายวุฒิ ชพานนท์ ได้ทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตลอดมา โดยเป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และภาควิชาพืชสวนประดับ คณะผลิตการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างพุทธศักราช 2536-2543 ต่อมา เป็นอนุกรรมการโครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ปฏิบัติงานอนุรักษ์ป่าอมก๋อย

โดยรับผิดชอบเป็นผู้ออกแบบแผนผังหลัก “โครงการห้วยยางนาไคร้” พื้นที่ 3,500 ไร่ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายเข้าของชุมชนจาก 5 หมู่บ้าน (โครงการ พระราชดําริ) ระหว่างพุทธศักราช 2537 – 2541 และเป็นที่ปรึกษาสํานักนายกรัฐมนตรีโครงการ “เร่งรัดพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำลําธาร” โดยรับผิดชอบบริหารงาน 3 โครงการ (ลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน) อีกทั้งยังเป็น ที่ปรึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างพุทธศักราช 2538-2540 ต่อมาเป็นที่ปรึกษากรมป่าไม้ “โครงการอพยพสัตว์ป่า เขื่อนเชี่ยวหลาน” จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี คุณสืบ นาคะเสถียร เป็นหัวหน้าโครงการ ระหว่างพุทธศักราช 2532-2534      นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ หลายสมัยติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นกรรมการสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ (2 ครั้ง) เป็นประธานอนุกรรมการศิษย์เก่าแม่โจ้ (2 ครั้ง) เป็นกรรมการจัดงานและกรรมการตัดสินการประกวด งานพืชสวนโลก ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นกรรมการไตรภาคี งานพัฒนากิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นกรรมการจัดงาน และกรรมการตัดสินการประกวดไม้ดอกไม้ประดับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ทุกครั้ง) เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษกรมป่าไม้ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ) เป็นกรรมการตัดสิน งานประกวดกล้วยไม้ ไม้ดอกและไม้ประดับตามสถานที่ต่างๆ (กรุงเทพฯ นครสวรรค์ เชียงราย ลําพูน และเชียงใหม่ เป็นต้น) เป็นกรรมการจัดทําประวัติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นผู้จัดการทีมกีฬายิงปืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้

นายวุฒิ ชพานนท์ มีผลงานวิชาการเป็นงานศึกษาวิจัยที่สวนสัตว์นครราชสีมา จํานวน 2 เรื่อง คือ เรื่อง “โครงการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย Sarus Crane” ซึ่งขณะนั้นสูญพันธุ์จากประเทศไทยแล้ว แต่ปัจจุบันขยายผลเป็น ศูนย์นกกระเรียน จนคืนสู่ธรรมชาติได้หลายรุ่น และเรื่อง “การพัฒนามีผลกระทบ ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในสวนสัตว์นครราชสีมา 500 ไร่” โดยทั้ง 2 โครงการศึกษานี้ มีการนําเสนอในงานประชุมสวนสัตว์อาเซียน และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขอนําชื่อจากผลงานทั้ง 2 เรื่อง ไปขึ้นทะเบียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ของคณะวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ในขณะที่นายวุฒิ ชพานนท์ ดํารงตําแหน่ง เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังได้ร่วมโครงการที่สําคัญ คือ การจัดทําเอกสาร ทางวิชาการมอบให้กรมป่าไม้เพื่อเผยแพร่ เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ป่าไม้และผู้นําชุมชน 4 กลุ่มให้ดํารงชีวิตโดยไม่ทําลายทรัพยากรธรรมชาติ (5 ครั้ง)

ในด้านการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงพุทธศักราช 2524-2532 ได้ริเริ่มจัดงาน “ลานนาพฤกษาชาติ” ขึ้นในสวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในฤดูฝน และยึดกําหนดให้ วันที่ 12 สิงหาคม และช่วงระยะก่อนหรือหลังเป็นวันจัดงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและจําหน่ายไม้ดอกและไม้ประดับ ซึ่งเป็นงานที่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้ามาแสดงความสามารถในช่วงนี้ทําให้ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้หลายคนได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ นายวุฒิ ชพานนท์ ยังได้ร่วมปลูกป่าต้นสัก จํานวน 5,000-6,000 ไร่ ในงานสวนป่า ช่วงพุทธศักราช 2515 – 2519 ซึ่งรวมเป็นป่าไม้สัก จํานวน 500,000-600,000 ต้น ปัจจุบันเป็นป่าไม้สัก ที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดลําปาง อยู่ที่ตําบลเวียงมอก อําเภอเถิน จังหวัดลําปาง

นายวุฒิ ชพานนท์ ได้ทําคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาทิ พุทธศักราช 2520 ได้ทําการบุกเบิกงานที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้สํารวจและนําเสนอโครงการขยายพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งดําเนินการด้วยตนเองโดยเป็น ผู้บังคับบัญชาคอยอํานวยความสะดวก การดําเนินการใช้เวลานาน 6 ปี เพื่อขยายพื้นที่เข้าไปในเขตอุทยานดอยสุเทพพื้นที่ 500 ไร่เศษ ซึ่งเป็นสวนสัตว์เชียงใหม่ในปัจจุบัน อีกทั้งได้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นฟื้นฟูก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ โดยการดําริและพูดคุยด้วยหลายครั้งจากท่านศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย และมีส่วนร่วมในการระดมทุนจากศิษย์เก่า เมื่อพุทธศักราช 2522 จํานวนเงิน 20,000 บาท และเป็นผู้จัดทําป้ายไม้สักชื่อสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ซึ่งปัจจุบันยังปรากฏอยู่ด้านล่างของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกิจกรรมให้ ความช่วยเหลืองานภารกิจต่างๆ ของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้มาตลอดระยะเวลา กว่า 30 ปี

โดยที่ นายวุฒิ ชพานนท์ ได้อุทิศตน เป็นผู้ประสบความสําเร็จในหน้าที่ การงานและสร้างผลงานเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน อีกทั้งอุทิศตน แก่สถาบันการศึกษาอย่างอเนกอนันต์ตลอดมา ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไป จึงนับว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ข้อมูล ณ : วันพุธที่ 18-19  กุมภาพันธ์ 2559 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 38 ประจําปีการศึกษา 2557-2558 

Go to Top