Skip to content Skip to footer

ปริญญาเทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ในการประชุมสภาสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2523 ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ขอพระราชทานทูนเกล้าทูนกระหม่อม ถวายปริญญาแต่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรง พระปรีชาสามารถ เป็นเลิศทางการเกษตร นับตั้งแต่เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตามโบราณราชประเพณี ดังเช่น มหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชวงศ์จักรีได้ทรงปฏิบัติสืบมาทุกสมัย โดยเฉพาะทางการเกษตรกรรมและการชลประทาน ยังผลให้อาณาประชาราษฎรได้รับความร่มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้า นับว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงดําเนินรัฐประศาสโนบายถูกต้องตามหลักวิชาเกษตรศาสตร์ โดยครบถ้วน

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 4 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการวางแผนและพัฒนาชนบท

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ มีพระราชปณิธานมุ่งมั่นพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกรโดยทั่วไป เสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมราษฎรใน ชนบททั่วทุกภาคของประเทศ ทรงทราบปัญหาและได้มีพระราชดำริที่จะแก้ปัญหาของชนบทด้วยวิธีการต่างๆ หลายประการ

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทที่สำคัญคือ การมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ของชนบทเป็นหลักการ พัฒนาในลักษณะที่มุ่งเตรียมชุมชนให้พร้อมต่อการติดต่อสัมพันธ์ กับโลกภายนอกอย่างเป็นขั้นตอน ทรงเรียกว่า “การระเบิดจากข้าง ใน” และการสร้างเสริมสิ่งซึ่งชาวชนบทขาดแคลน และเป็นความต้องการสําคัญ ทรงเห็นว่าชาวชนบทควรมีความรู้ในเรื่องการทํามาหากิน การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเกษตร ทรงเน้นถึงความจําเป็นจะต้องมี “ตัวอย่างของความสําเร็จ” ในเรื่องการพึ่งตัวเอง มีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรในชนบทมีโอกาสได้รู้เห็นถึง ตัวอย่างของความสําเร็จและนําไปปฏิบัติเองได้ ทรงปรารถนาให้มีการนําเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้าไปถึงมือชาวชนบทอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องเป็นขบวนการเดียวกัน เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ชาวบ้านรับได้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ผลอย่างแท้จริง โดยทางปฏิบัติได้ทรงใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ หลายประการ หลักในการพัฒนาของพระองค์ คือ การพัฒนาโดยยึดปัญหาและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ทรงให้ความสำคัญกับความกระตือรือร้นของคนในพื้นที่ รวมทั้งปัญหาและความต้องการของเขาเหล่านั้นเป็นพิเศษ การรวมกลุ่มประชาชนเพื่อแก้ปัญหาหลักของชนบท จะทรงเน้นถึงความจำเป็นในการกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน การพัฒนาโดยกระตุ้นผู้นำชุมชนให้เป็นตัวนำในการพัฒนาในบางพื้นที่ตามความเหมาะสม หลักการอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาอย่างค่อยเป็น ค่อยไปชุมชนควรพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหารก่อนเป็นลําดับแรก จากนั้นจึงค่อยก้าวสู่การพัฒนาในเรื่องอื่น ๆ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ ทำให้เกิดกิจกรรมและโครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการ อยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศซึ่งล้วนแต่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพึ่งตัวเองได้ของราษฎรในระยะยาวทั้งสิ้น ทำให้ประชาชนในชนบทมี สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก จนต่อมารัฐบาล เห็นว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีส่วนสำคัญในการ สนับสนุนและเสริมงานปกติของรัฐให้ได้ผลสมบูรณ์ ตลอดจนทำให้ ประชาชนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น จึงได้รับสนองพระราชดำริโดยจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ ขึ้นเป็นพิเศษในการดำเนินงานต่าง ๆ ตราบ จนทุกวันนี้

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 17 วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538

ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจใหญ่น้อยเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์เป็นเอนกอนันต์ ทรงเป็นพระมหากษัตราธิราชผู้ทรงธรรมและทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระราชปณิธานที่จะสร้างความเป็นอยู่อันดีแก่ประชาชนโดยการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทุก ภูมิภาคทั่วประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความเป็นอยู่ของราษฎร ที่อยู่ห่างไกลในชนบท ในฐานะของเกษตรกรผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตร เพื่อนำมาใช้เลี้ยงคนในประเทศ ทรงเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ของเกษตรกรเหล่านั้น ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน มีพระมหากรุณาธิคุณดำเนินการโครงการต่าง ๆที่เป็นตัวอย่าง และที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณพระตําหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ตั้งโครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร จำลองความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎรจากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ มาอยู่ในบริเวณพระราชฐานที่ประทับ เพื่อทดลองหาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ถูกต้องและตรงจุดด้วยพระองค์เอง ทั้งโครงการด้านป่าไม้ โครงการด้านเกษตร การผลิตแก๊สชีวภาพ และโครงการที่มีการจัดผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายในราคาย่อมเยา นอกจากนั้นยังมีโครงการตามพระราชดําริอีกมากมาย อาทิ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ซึ่งจะรับผลผลิตที่มีมากเกินไป หรือผลผลิตที่ไม่เหมาะที่จะขายสดมาแปรรูปเพื่อจัดจำหน่าย ทำให้เกษตรกรชาวเขามีรายได้มากขึ้นและต่อมาได้มีพระราชดำริให้ปรับเปลี่ยนเป็นบริษัทดอยคำอาหารสำเร็จรูป เพื่อให้มีการดำเนินงานที่ทันสมัยและพึ่งตนเองได้

ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงเป็นผู้ที่มองเห็นการณ์ไกล ได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการจัดตั้งกองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะในมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พระราชทานแนวทางกำจัดขยะแบบครบวงจร เป็นการนำแก๊สชีวภาพ ที่เกิดในหลุมฝังกลบขยะมาใช้ประโยชน์ในรูปของพลังงานทดแทนช่วย อนุรักษ์พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในปัญหามลพิษทางน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทรงคิดค้นการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศให้กับน้ำ หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อช่วยในการบําบัดน้ำเสีย ได้มีการนำการประดิษฐ์ นี้ไปใช้ประโยชน์ในการบําบัดน้ำเสีย ซึ่งปล่อยออกมาจากแหล่งอุตสาหกรรมก่อน ที่จะปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นการบรรเทาการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดียิ่งขึ้นในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปศุสัตว์และการเกษตร

ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารที่ต้อง ประสบกับความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำสำหรับบริโภคและเพาะปลูก ได้มีพระราชดำริที่จะนำการทำฝนเทียมมาแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ทรงมีพระราชอุตสาหะ สนพระราชหฤทัย และติดตามผลการค้นคว้าและการพัฒนากรรมวิธีอย่างต่อเนื่อง ทรงร่วมวางแผนและบัญชาการทดลอง ตลอดจนพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับการค้นคว้าจนกระทั่งบังเกิดสัมฤทธิผล ต่อมารัฐบาลจึงได้นํากรรมวิธีที่พัฒนามานั้นมาปฏิบัติและปรับปรุงเทคโนโลยีการทำฝนหลวงมาจนกระทั่งปัจจุบัน กิจกรรมการทำฝนหลวงอันเกิดจากพระราชดำริ ได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์นานัปการ

พระราชดำริและพระราชกรณียกิจดังพรรณนามาข้างต้น นอกจากจะแสดงถึงพระปรีชาสามารถแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตา และเอื้ออาทรต่อทุกข์สุข ของอาณาประชาราษฎร์ โดยทั่วถ้วนหน้า

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 21 วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2542

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิง ถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2484 พระองค์ได้ทรงสละ ความสุขส่วนพระองค์พระราชทานเพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์ ตามพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่ง มหาชนชาวสยาม” โดยได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อทรงรับทราบปัญหา และได้มีพระราชดำริที่จะทรงแก้ปัญหา ของปวงชนทั้งหลายด้วยวิธีการต่าง ๆ ภาพที่เสด็จพระราชดำเนินไปตามท้องที่ต่าง ๆ พร้อมด้วยกล้องถ่ายรูป และประทับนั่งมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยไม่ทรงถือพระองค์ เป็นรูปธรรมการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมที่พสกนิกรพบเห็นอยู่เสมอ

หากจะนิยามความหมายของการสื่อสารว่าหมายถึงกระบวนการสร้างความ เข้าใจซึ่งกันและกันในสภาพการณ์ต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในด้านการสื่อสารอย่างแท้จริง เพราะทรงตระหนักถึงความ สำคัญของการสื่อสาร ซึ่งจัดว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ภายในห้องทรงงาน ณ ที่ประทับทุกแห่งจึงมีเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารอย่างครบครัน ทั้งเครื่องรับส่งวิทยุ เครื่องโทรพิมพ์ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ตลอดจนแผนที่ต่างๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ ทำให้ทรงได้รับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาและความทุกข์สุขของราษฎรอย่างรวดเร็ว และชัดเจน ทั้งยังทำให้การพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเหล่านั้น กลับไปได้อย่างทันท่วงทีด้วยเหตุนี้ประชาชนทั้งปวงจึงซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรที่ ทรงเป็นดั่งร่มฉัตรกั้นแสงแห่งพระอาทิตย์ที่แรงร้อนซึ่งจะแผดเผาให้ราษฎรทุกข์ทน ตลอดมา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราช กรณียกิจโดยใช้การสื่อสารทุกรูปแบบเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศยามลำบากคับขัน ไม่ว่าวิกฤตการณ์เหล่านั้นจะเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ อาทิ อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย หรือภาวะฝนแล้ง หรือเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดจากคน พ.ศ.2535 ทรงพระมหากรุณาดับร้อนของแผ่นดินด้วยพระปรีชาพิเศษ ทรงใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์และวิทยุ กระจายเสียงนำความสงบกลับคืนสู่ประเทศชาติและประชาชนในทุกวิกฤตการณ์เหล่านั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด อันควรจารึกไว้ในใจของคนไทยทั้งปวง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมราษฎรได้พระราชทานคำอธิบายและสาธิตให้ประชาชน ได้รับรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ และเหตุผลความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ เดิมให้ดีขึ้น ทรงพบปะสนทนากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ส่วนกลางและประชาชนด้วยพระองค์เอง ทรงอาศัยสื่อมวลชนในการเผยแพร่บทความและข่าวสาร หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงปัญหาและความจำเป็นในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งยังทรงแนะนำให้ประชาชนรู้จักประเมินว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนมองเห็นผลดีของการปฏิบัติและเกิดความรู้สึกต้องการเปลี่ยนแปลง แก้ไขสิ่งต่าง ๆ ที่ยังไม่เหมาะสมให้ดียิ่งขึ้น ทรงให้มีการทดลองใช้ ทดลองทํา ทรงสาธิตและทรงสอนทักษะชี้แนะวิธีการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อว่าเมื่อมีการทดลองแล้วปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนย่อมจะยอมรับและนำเอาสิ่งนั้นมาประพฤติปฏิบัติตามต่อไป ทรงย้ำเตือนให้ประชาชนนำการพัฒนาเหล่านั้นไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันพร้อมกับพระราชทานคำแนะนำ เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทย พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงสถิตอยู่ในใจชาวไทยทั้งปวง

ในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ พระราชทานพระราชดํารัสซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อคิดที่ดีแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดเรื่องรู้รักสามัคคี คือการให้ทุกคนมีความรักสามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนให้ดีที่สุดโดยเต็มกําลัง แนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นหนทางสําคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งกําลังอยู่ในภาวะหยุดนิ่งและถดถอย พระราชดำรัสเหล่านี้มีข้อชี้แนะให้ปวงราษฎร สามารถนําไปยึดถือปฏิบัติได้อย่างดียิ่ง ทั้งยังสร้างขวัญและกําลังใจ รวมทั้งเป็น แนวทางให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างอเนกอนันต์อีกด้วย

การ “เข้าไปอยู่ในใจ” ถือเป็นหัวใจของการสื่อสารที่สำคัญ นอกจากพระราชภารกิจที่ทรงกระทำเพื่อประโยชน์สุขแห่งชาวไทยทั้งปวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเข้าไปอยู่ในใจของปวงชนตามกระบวนการของการสื่อสารที่ส่ง ผ่านความคิด อารมณ์และสุนทรียภาพ ที่ประชาชนชาวไทยทั้งปวงประจักษ์ก็คือการที่ ทรงเป็น “ศิลปิน” ในระดับเยี่ยมยอด บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ อ่อนหวาน เยือกเย็น ก่อให้เกิดศานติ เป็นเสมือนน้ำอมฤตที่ชุบชโลมใจผู้ฟังที่ได้ยินทุกเมื่อ ภาพสีน้ำมัน ฝีพระหัตถ์ซึ่งล้วนได้รับคำยกย่องจากจิตรกรว่าเป็นงานที่ดีเยี่ยมราวกับฝีมือจิตรกรอาชีพ ประติมากรรมฝีพระหัตถ์ล้วนสวยงาม ฉ่ำชื่นด้วยความสุข ศานติ สุนทรียภาพ ที่ ทรงส่งผ่านมายังชาวไทยเหล่านี้นั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้ปวงราษฎรซาบซึ้งในพระราชหฤทัยที่อ่อนโยนของผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญในใจของชาวไทยเสมอมา

พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ที่ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ทั้งในรูปแบบของหนังสือฉบับสมบูรณ์และฉบับการ์ตูน อาจนับได้ว่า เป็นเครื่องมือที่ปลุกจิตสำนึก ปวงชนในทุกระดับชั้น ให้พึงกระทำกิจการงานใด ๆ ด้วยความเอาใจใส่และใช้ความเพียรพยายามฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ โดยไม่ย่อท้อหรือ เลิกราเสียก่อนกลางคัน แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นฝั่งของจุดหมายก็ตาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างของการทําความดีเพื่อความดีโดยไม่หวังประโยชน์อื่นใดตอบแทน จึงทรงเป็นร่มฉัตรที่แผ่คุ้มเกล้าคนไทยให้ร่มเย็น ยิ่งนัก หากคนไทยทุกคนยึดถือโดยเจริญตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ประเทศชาติ ไทยก็จะคงอยู่ได้ด้วยความมั่นคงผาสุกสงบทุกแห่งหน และด้วยพระคุณลักษณะและ พระคุณสมบัติเหล่านี้ ย่อมเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักและผูกพันกับราษฎรยิ่งนัก ความรักความผูกพันนี้ไม่มีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างพระองค์กับพสกนิกรอยู่เลย สิ่งนี้ได้เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทย ตลอดมา

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 23 วันจันทร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544

ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร คือ องค์ขัตติยมหาราชผู้ทรงมีพระราช จริยาวัตรอันสมบูรณ์ด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรงเป็นมงคลของประเทศชาติและคนไทย ทุกคน ทรงเปรียบประดุจหลักชัยที่ทรงพลานุภาพ สามารถเชื่อมร้อยสายใยรักระหว่าง คนไทยทุกด้าวแดนให้ผูกพันสมานฉันท์ ด้วยน้ำพระทัยอันกอปรด้วยพระเมตตาคุณและ พระมหากรุณาธิคุณต่อราษฎร ดังจะเห็นได้จาก พระปฐมบรมราชโองการเป็นพระราชสัตยาธิษฐาน เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ประชาคมโลกต่างประจักษ์โดยทั่วกันแล้วว่า พระองค์ได้ทรงปฏิบัติตามพระปฐม บรมราชโองการดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากระยะเวลาหกทศวรรษแห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ อาณาประชาราษฎร์ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาคุณพระมหากรุณาธิคุณและพระบริสุทธิคุณ พระองค์ทรงตระหนักในปัญหาความยากจนของราษฎร จึงทรงมีพระราชปณิธานอันสูงส่งในการแก้ไขปัญหานี้โดยทรงถือเป็นพระราชภาระ ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงเกื้อหนุนสงเคราะห์ราษฎรอย่างใกล้ชิด และทรงตระหนักว่า ทุกข์สุขของราษฎรเปรียบประดุจทุกข์สุขของพระองค์ นับว่าทรงเป็นพระบรมธรรมิกราช ผู้ยิ่งด้วยธรรมในการปกครองแผ่นดินและราษฎรโดยแท้

นอกเหนือจากความเป็นพระมหาธรรมราชา ผู้ทรงคุณอันประเสริฐแล้วพระองค์ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้มีพระอัจฉริยภาพในสรรพศาสตร์ศิลปวิทยาการ ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนทัศน์ในการพัฒนาตามแนวพระราชดําริ สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พระองค์ทรงเน้นรูปแบบการพัฒนา ที่ราษฎรสามารถพึ่งตนเอง โดยทรงเป็นผู้คิดและปฏิบัตินําประเทศและโลก ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ เมื่อปีพุทธศักราช 2493 โดยเป็นกระบวนการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความเป็นไทราษฎรสามารถช่วยตนเอง โดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐหรือผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่รูปแบบการ พัฒนาอย่างยั่งยืนในบริบทไทย นั่นคือการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความผาสุกของราษฎรตลอดไป

กระบวนทัศน์ดังกล่าวนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ทั้งในเรื่องการพออยู่พอกิน การพึ่งตนเองและการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกระบวนการดําเนินงานอย่างเป็นลําดับ เป็นขั้นตอนและรอบด้านอันเป็นรากฐานของการพัฒนาที่มั่นคง มีประสิทธิภาพ บังเกิดความยั่งยืน และการพัฒนาต้องตั้งอยู่บนหลัก “ภูมิสังคม” โดยทรง ยึดถือสภาพความเป็นจริงของภูมิประเทศและสังคมวิทยาอันเกี่ยวกับประชาชนในพื้นที่พัฒนานั้น กล่าวคือ ก่อนการพัฒนาต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิประเทศและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม คําว่า “ภูมิ” หมายถึง ลักษณะของภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ส่วนคำว่า “สังคม” นั้น หมายถึง คนในสังคมหนึ่ง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในสังคมนั้น ๆ โดยทรงเน้น ความสำคัญของการใช้หลักวิชาในการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบและพัฒนาคนให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและประโยชน์ของการพัฒนา ทั้งคนในพื้นที่และข้าราชการ ซึ่งต้องยึดหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

ในการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบนั้น ทรงเป็นแบบอย่างโดยทรงเริ่มจากการศึกษา ข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง ทั้งจากเอกสารของ หน่วยงานต่าง ๆ จากแผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม ระบบเครือข่ายสารสนเทศ รายการวิทยุและ คลื่นวิทยุสมัครเล่น ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ทำให้พระองค์ทรงรับรู้สภาพความจริงและ ความเดือดร้อนที่ราษฎรกำลังประสบ เมื่อเสด็จฯ ไปถึงพื้นที่จริงจะทรงตรวจสอบข้อมูลโดยการซักถามราษฎร ทำให้พระองค์สามารถตรวจสอบข้อมูลของทางราชการโดยทรงเปรียบเทียบกับข้อมูลของราษฎร จากนั้นทรงใช้หลักของการทำประชาพิจารณ์โครงการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และวิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการ เมื่อมติในชุมชนชัดเจนให้ดําเนินการ พระองค์จะทรงคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาในรูปแบบโครงการส่วนพระองค์ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้นักวิชาการนำไปศึกษาทดลอง โดยถ่ายทอดและเผยแพร่ในรูปแบบโครงการตามพระราชประสงค์ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ

การพัฒนาที่ทรงใช้หลัก “ภูมิสังคม” จึงเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม เป็นการพัฒนาที่มีการบูรณาการทุกส่วนโดยมีกระบวนการทํางานซึ่งเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ดังปรากฏชัดเจนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ที่ได้พระราชทานเพื่อเกษตรกรและชุมชนมีโอกาสศึกษาเรียนรู้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งรวบรวมสรรพวิชาการที่มีการทดลอง วิจัยและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นวิชาการที่เน้นหลักประหยัด เรียบง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจน สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและวิถีชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ยังสะท้อนการทำงานแบบร่วมมือ ร่วมแรงและร่วมใจ อันก่อให้เกิดการรู้รักและสามัคคี

ปัจจุบันมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จํานวน 5 แห่ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยในแต่ละศูนย์ ซึ่งสอดคล้องกับ ภูมิสังคมของภูมิภาคนั้น ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งศึกษาและพัฒนาที่ดินเสื่อมโทรมให้กลับฟื้นคืนสภาพและใช้ทำมาหากิน ได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ทำการศึกษา พัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจาก พระราชดําริ จังหวัดจันทบุรี ทําการศึกษาพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ บริเวณชายฝั่งและการประมง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาพัฒนาและค้นคว้าวิจัยเรื่องป่าไม้เสื่อมโทรม และการพัฒนาพื้นที่ ต้นน้ำลำธารเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมและการสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นผิวดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดนราธิวาส ทําการศึกษา วิจัยดินพรุในภาคใต้ เพื่อให้สามารถนํามาใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมได้ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดสกลนคร ศึกษา พัฒนาการอาชีพทั้งทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือนและการพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชหฤทัย อันเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ สังคมไทยจึงอยู่เย็นเป็นสุขด้วยพระบารมี และกระบวนทัศน์แห่งการพัฒนาซึ่งทรงเน้นหลักภูมิ สังคม อันจะนําไปสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนทุกมิติ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการประชุมครั้งที่ 10/2544 เมื่อวันที่ 17 เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2549 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็น ที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวงวิชาการอันเกี่ยวข้องกับ การพัฒนาสังคมสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 29 วันจันทร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550

Go to Top