Skip to content Skip to footer

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา พัฒนาสังคมและมนุษย์

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นบุตรีของเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) และหม่อมจันทร์เทพย์ ณ เชียงใหม่ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 จากโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นผู้ที่มีผลงานในด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาอย่างต่อเนื่อง และเป็น ผู้ขับเคลื่อนวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างท่านได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ทางวัฒนธรรมในหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษาสำนักส่งเสริมวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และที่ปรึกษาศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องจากผลงานทางด้านวัฒนธรรมเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับ การยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ โล่เชิดชูเกียรติในฐานะ นักอนุรักษ์มรดกโลกดีเด่น จากคณะกรรมการอนุรักษ์มรดกไทย โล่เกียรติยศ เพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และเกียรติบัตร แสดงความเป็นผู้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม จากกระทรวงวัฒนธรรม

ในด้านการพัฒนาสังคม เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ มีบทบาทอย่างมาก ในการพัฒนาสังคมล้านนา ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “เสียงเชียงใหม่” ที่มุ่งเน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย ทำให้ชาวเชียงใหม่ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันเหตุการณ์ อีกทั้งเป็นนักจัดรายการวิทยุทั้งภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญ ในการสร้างและแก้ไขภาพลักษณ์สตรี ล้านนาในยุคที่สตรีล้านนาต้องเผชิญกับปัญหาและภัยสังคมรอบด้าน อีกทั้งได้ริเริ่มการสร้างอาชีพให้แก่สตรีในท้องถิ่น โดยได้ใช้บ้านพักจัดตั้งเป็นศูนย์หัตถกรรมพื้นเมือง และการทอผ้าฝ้ายที่อำเภอจอมทอง เนื่องจากอุปนิสัยส่วนตัวที่นิยมการเรียนรู้ ค้นคว้าจนรู้แจ้ง รู้จริง ได้แสดงความสามารถในการประชุมวิชาการทั้งในและนอก ประเทศจนทำให้สตรีไทยเกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวางทั้งนี้ เจ้าดวงเดือนณ เชียงใหม่ ได้ใช้ความรู้ด้านกฎหมาย ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเด็ก ดังจะเห็นได้จากการดำรงตำแหน่ง ที่สำคัญ อาทิ ตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ดูแลด้านสิทธิเด็กและสตรี ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสมทบคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม ทั้งตำแหน่งของประธาน และกรรมการ จากการทุ่มเททำงานจนเป็นที่ประจักษ์จึงทำให้ ได้รับเหรียญ VOICE OF AMERICA (V.0.A) และประกาศเชิดชูเกียรติเป็นต้นแบบคนดีศรีแผ่นดิน จากกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์

โดยที่ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อุทิศตนเพื่อพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า และมีความเสมอภาค ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ดำรงตน ได้อย่างเหมาะสม ได้บำเพ็ญกิจการสาธารณกุศลมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่ปรากฏมีผลงาน เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานด้านสิทธิ เด็กและสตรี ได้เสียสละแรงกาย แรงใจ สติปัญญา และกำลังทรัพย์ในการสนับสนุน ช่วยเหลือสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นอเนกอนันต์นำชื่อเสียงมาสู่ตนเอง และครอบครัว ดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ของสตรีล้านนา เป็นผู้ประพฤติตน อยู่ในศีลธรรม อันเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม นับได้ว่า เป็นบุคคลที่มี เกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทาน ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาสังคมและมนุษย์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 อาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555

Go to Top