Skip to content Skip to footer

นางสาวประทุม สุริยา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร

นางสาวประทุม สุริยา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนคร เมื่อพุทธศักราช 2516 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อพุทธศักราช 2526

ในด้านการทำงาน นางสาวประทุม สุริยา ได้เริ่มจากการรับราชการ ครูโท ที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ พุทธศักราช 2517 และรับราชการครูโท ที่โรงเรียนเชียงดาว พุทธศักราช 2519 ในพุทธศักราช 2521 เลื่อนขั้นเป็น อาจารย์ 1 ระดับ 4 โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพและมีความเจริญก้าวหน้าเรื่อยมา กระทั่งเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 เมื่อพุทธศักราช 2542 ในพุทธศักราช 2544 ได้เริ่มประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้ความรู้ความสามารถประกอบสัมมาชีพ ด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมาโดยตลอด อาทิ ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ชื่อ สวนครูประทุม เมื่อพุทธศักราช 2552 เป็นกรรมการมูลนิธิหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อพุทธศักราช 2535 ดำรงตำแหน่งกรรมการอาสาสมัครด้านบัญชี สำนักงานตรวจสอบบัญชีเชียงใหม่ พุทธศักราช 2549 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารและคณะกรรมการสถาบันการศึกษาภาคเอกชนและรัฐบาล พุทธศักราช 2550 ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการอาสาสมัครด้านบัญชี กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พุทธศักราช 2552 เป็นกรรมการเครือข่ายคนรักหญ้าแฝก พุทธศักราช 2553 ที่ปรึกษา คณะกรรมการตัดสินการใช้หญ้าแฝก มูลนิธิชัยพัฒนา กรมพัฒนาที่ดิน พุทธศักราช 2553 ดำรงตำแหน่งรองประธานอาสาสมัครด้านบัญชี กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พุทธศักราช 2554 เป็นที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช องค์การบริหารส่วนตำบลสันป่ายาง พุทธศักราช 2556 และเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2557

นางสาวประทุม สุริยา ได้ใช้ความรู้ความสามารถเผยแพร่ผลงานในการ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรและสาธารณชน หลายประการ อาทิ เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่หน่วยงานของ ภาครัฐ ภาคเอกชน โรงเรียน และสถาบันการศึกษา เป็นวิทยากรด้านเศรษฐกิจ พอเพียงแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่พุทธศักราช 2550 ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ปราชญ์แปลงเกษตร ทฤษฎีสวนครูประทุม เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และดูงานสำหรับบุคคลทั่วไป ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเป็นศูนย์ถ่ายทอดต้นแบบการแก้วิกฤตอาหารและ พลังงานอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดผลงานทางศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน หลักสูตร ชีวิตจะสุขถ้าบำบัดทุกข์ด้วยความพอเพียง ตั้งแต่พุทธศักราช 2545 ถึงปัจจุบัน รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน ตั้งแต่พุทธศักราช 2552 ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (ออร์แกนิค ไทยแลนด์) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง เป็นต้นแบบการใช้หญ้าแฝกอุ้มน้ำโอบดินแบบครบวงจรของมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) อีกทั้งมีบทบาทในการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายการผลิตไฟฟ้าจาก เซลล์แสงอาทิตย์ โดยสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ตลอดระยะการทำงานของนางสาวประทุม สุริยา ได้มีผลงานอาชีพ ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยมเป็นที่ประจักษ์ อาทิ ได้รับรางวัลเกษตรกร ดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม พุทธศักราช 2552 ครูบัญชีอาสาดีเด่นระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ พุทธศักราช 2552 หมอดินอาสาดีเด่น ระดับประเทศ พุทธศักราช 2553 ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ด้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครูทรงปัญญาของพระเจ้าแผ่นดิน มูลนิธิปิดทองหลังพระ จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2554 ได้รับรางวัล Smart Farmer (เกษตรปราดเปรื่องเรื่องบัญชี) พุทธศักราช 2556 รางวัลแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นบุคคลผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ดีเด่น กรมการข้าว พุทธศักราช 2557 ได้รับรางวัลปราชญ์ทรงภูมิปัญญา เพชรราชภัฏ เพชรล้านนา พุทธศักราช 2556 ได้รับรางวัล “ปราชญ์ ผญาดี ศรีล้านนา” สาขาเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อพุทธศักราช 2559

โดยที่ นางสาวประทุม สุริยา เป็นผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์ แก่สังคม และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นประโยชน์ และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป จึงนับเป็นบุคคล ผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทาน ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและ ส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 39 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560

Go to Top