อาจารย์ใหญ่คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ
โดย นายธีระ นาคะธีรานนท์
อาจารย์ใหญ่หรืออาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นเสมือนบิดาหรือผู้บุกเบิก “แม่โจ้” ในตําแหน่งราชการท่านคืออาจารย์ใหญ่ ร.ร. ฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ และร.ร.มัธยมวิสามัญเกษตรกรรมแม่โจ้จังหวัดเชียงใหม่ สําหรับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมเริ่มตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2477 เป็นรุ่นที่ 1 โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม เริ่มตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2478 เป็นรุ่นที่ 1 ผู้เขียนจบจากโรงเรียนฝึกหัดครู รุ่นที่ 3 พ.ศ. 2479-2480 โดยเป็นนักเรียนในนามของจังหวัดนครสวรรค์เป็นผู้คัดเลือกส่งไป การเดินทางจากจังหวัดนครสวรรค์ไปจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นระยะทางที่แสนไกล ได้เดินทางไปโดยรถไฟด่วน จากสถานีปากน้ำโพตอนกลางคืนค่อนข้างดึกมีเพื่อนนักเรียนและครูไปส่งกันพอสมควร จําได้ว่าผู้จากไปมีการร้องไห้ด้วย บนรถไฟด่วนได้พบคณะนักเรียนซึ่งไปเรียนที่แม่โจ้แห่งเดียวกันหลายคน เดินทางถึงเชียงใหม่ตอนกลางวันที่สถานีรถไฟนครเชียงใหม่ มีครูจากโรงเรียนนํารถโดยสารมารอรับพวกเราเพื่อนําคณะเราออกจากเวียงไปแม่โจ้
รถยนต์เป็นรถสองแถวขนาดกลาง 4 ล้อ ด้านข้างบุสังกะสีซึ่งเป็นรถแบบนั้นในสมัยนั้นและเหมือน ๆ กันหมด รถยนต์ถึงแม่โจ้ตอนบ่าย พวกเราได้ยินชาวเชียงใหม่พูดสนทนากันด้วยคําเมืองเป็นครั้งแรก เราไม่รู้เรื่อง ที่จําได้คือ คิง ๆ ฮา ๆ เท่านั้น การเดินทางผ่านป่าไม้พลวงหรือไม้ตึงซึ่งขึ้นอยู่เต็มไปหมด ผู้ที่ไม่เคยเห็นป่า ไม่เคยเห็น ภูมิประเทศแถบภาคเหนือมีความตื่นเต้นกันทุกคน
พวกเราโชคดีที่ได้พบอาจารย์ใหญ่หรืออาจารย์พระช่วงๆ ในโอกาสแรกที่ถึงแม่โจ้ จําได้ว่าท่านกําลังดูแลคุมคนงานทํางานอยู่บริเวณลําเหมืองที่มีน้ำไหลแรงไม่ขาดสาย ได้รู้จักคําว่า ลําเหมือง หรือคลองส่งน้ำเมื่อไปอยู่แม่โจ้นี่เอง
อาจารย์ใหญ่เป็นผู้มีบุคคลิกเป็นผู้ที่มีสง่าราศรีเห็นแล้วสะดุดตาจําง่าย แต่งกายดี ในวันนั้นท่านแต่งชุดพลาสโฟร์ คือ กางเกงรัดครึ่งแข้ง สวมถุงเท้าทับ สวมเสื้อแจ็กเก็ตสีเทาสีเดียวกัน รูปร่างท่านค่อนข้างเตี้ย ผิวเนื้อดําแดง แต่ผิวเนื้อสะอาดละเอียด สวมแว่นตาสายตาสั้น สีขาวกรอบทอง เมื่อพวกเรารายงานตัวว่าชื่อใดมาจากจังหวัดไหน ท่านมองจ้องด้วยความสนใจยิ่ง แล้วท่านก็จําไว้ ท่านจำคน ชื่อคน รวมทั้งนามสกุลได้แม่นยําเป็นพิเศษ เป็นบุคคลิกเด่นของอาจารย์ใหญ่ที่พวกเราทราบกันได้ดี โดยเฉพาะพวกเราที่มีอะไรบกพร่องเป็นพิเศษด้วยแล้วท่านจําชื่อได้แม่นจนกระทั่งบัดนี้
ตามปกติอาจารย์ใหญ่เป็นนักชาตินิยม นักเศรษฐศาสตร์ นิยมใช้ของไทยทําและประหยัดไม่ฟุ่มเฟือยเลย ท่านแต่งกายด้วยเสื้อผ้าผลิตเองที่เชียงใหม่ อันได้แก่ผ้าฝ้ายที่เราเรียกว่าผ้าฝ้ายตุนคือสีกากี ท่านชอบใส่เสื้อแจ็กเก็ตหรือไม่ก็เสื้อนอกคอปิดผ้าหุ่นแบบกระดุม 5 เม็ด แต่มีคอปกเป็นพิเศษแบบของจีนแดงในสมัยนี้ที่เราเห็นกันอยู่ บางครั้งก็เห็นสูบกล้องยาเส้นด้วย สําหรับหมวกนั้นท่านชอบใช้หมวกปีกใหญ่แบบโคบาลถักด้วยปอพื้นเมือง
ทำหน้าที่สอนและอบรมนักเรียน
อาจารย์ใหญ่คนขยันเป็นพิเศษ บุกงานคุมงานของแม่โจ้ทั้งหมด ท่านดํารงตําแหน่ง หัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้ และอาจารย์ใหญ่ ตรวจงานทุกซอกทุกมุมจนถึงโรงครัวของยายกวยแม่ครัวและบ้านพักหรือหอพักหลังคามุงตองตึงของพวกเรา การตรวจงานของท่านใช้เดินและจักรยาน 2 ล้อ
สําหรับชั้นฝึกหัดครูท่านสอนเศรษฐศาสตร์ในสมัยนั้นท่านเรียกวิชา เศรษฐวิทยาหลัก หรือกฎของ Law of Diminishing Return ที่ท่านสอนข้าพเจ้าจําได้จนกระทั่งบัดนี้ นอกจากนั้น ท่านจะต้องแทรกวิชาสังคม ศีลธรรมเพื่อให้เข้าในสังคม และอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสามัคคี อยู่ในกรอบของศีลธรรม บางครั้งท่านจะเล่าเรื่องเก่า ๆ ที่มีคติ รวมทั้งเรื่องราวจากต่างประเทศ ซึ่งท่านได้ผ่านมามากมายทุกเรื่องเป็นคติสอนใจให้นักเรียน ประพฤติดีเป็นพลเมืองดี หรือเป็นเกษตรกร เป็นข้าราชการ เป็นครูที่ดีต่อไปภายหน้า ในกรณีที่พวกเราง่วงนอนนั่งสัปหงกหรือตอบคําถามของท่านแบบไม่เข้าท่าท่านจะมองลอดแว่น ชี้หน้าทันที ถึงตอนนี้พวกเราจะหายง่วงทันที ต้องหันมาสนใจเพราะกลัวถูกตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งพวกเรากลัวกันเป็นที่สุด
อนึ่งยังมีคําอีกคําหนึ่งที่พวกเราต่างจดจํากันไปจนชีวิตหาไม่คือ Sense of Responsibility ท่านพูดซ้ำอยู่เสมอว่า ผู้ที่จะบริหารงานได้ดีจะต้องถือหลักความรับผิดชอบงานในหน้าที่ดีด้วย
อาจารย์ใหญ่เป็นทั้งครูและนักปกครอง ท่านใช้คําแทนชื่อท่านว่าครูทุกคํา ตลอดเวลาที่ท่านสอนเรา อบรมเราและปกครองเรา ท่านใช้หลักวิชาจิตวิทยาป้อนเราอยู่ตลอดเวลา พวกเรารอดชีวิตและประสบความสําเร็จในชีวิตมีความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านมาได้ก็ด้วยอาจารย์ใหญ่คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ
กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ ในแม่โจ้
แม่โจ้มี 2 ฝั่ง ฝั่งขวาเรียกเป็นฝั่งพระนคร เป็นแดนของโรงเรียนฝึกหัดครูประถม กสิกรรม ซึ่งมีอยู่เพียง 4 รุ่นเท่านั้น บ้านพัก-ห้องเรียน หลังคาตองตึงอยู่ฝั่งพระนครทั้งสิ้น ฝั่งนี้ใช้น้ำจากลำเหมืองซึ่งไหลผ่านหน้าบ้านพัก ส่วนฝั่งซ้ายเป็นฝั่งธนบุรี เป็นบ้านพักของฝ่ายมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม มีบ้านพักและจํานวนนักเรียนมากกว่าฝึกหัดครูฝั่งธนบุรี ใช้น้ำจากลําห้วยแม่โจ้
อาจารย์ใหญ่ฝึกให้นักเรียนแม่โจ้ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เรียนมาแล้วจะต้องนํามาปฏิบัติให้ได้ผลด้วย พวกเราปลูกผัก พืชผลต่าง ๆ ต่างเก็บนํามาส่งขายให้แก่โรงครัว โดยโรงเรียนคิดเงินค่าขายให้แก่เรา ซึ่งเราจะต้องจัดทําบัญชีตามแบบ กล่าวคือลงทุน-ลงแรงไปเท่าไร ขายได้เท่าไร มีกําไรหรือขาดทุนเท่าไร เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีร้านสหกรณ์โดยจัดให้มีการขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่จําเป็นแก่นักเรียนในราคายุติธรรม อาจารย์ใหญ่ได้จัดให้มีการทําพิธีเปิดร้านและประกวดตั้งชื่อร้านสหกรณ์ ข้าพเจ้าได้ส่งชื่อเข้าประกวดปรากฏว่าได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัล ข้าพเจ้าตั้งชื่อว่า “กสิกรผดุง” ได้รับรางวัลไฟฉาย 1 กระบอก นอกเหนือไปจาก ขายของของร้านสหกรณ์แล้ว สหกรณ์ยังอํานวยความสะดวกในเรื่องตัดผมด้วย ตัดผมราคาถูก โดยมีนักเรียนที่มีฝีมือเป็นช่างตัดผมโดยทางโรงเรียนซื้อเครื่องมือตัดผมให้พร้อม สําหรับนักเรียนที่เป็นนายช่างทางโรงเรียนงดไม่เรียกเก็บค่าอาหารแบบกินฟรีเป็นการชดเชยกัน ช่างตัดผมเท่าที่จําได้มี คุณราศรี ฉั่ววงศ์ชัย (ราศรี ชูติพงศ์) นักเรียนฝึกหัดครูรุ่นที่ 2 คุณนวล (ชาวใต้) นักเรียนฝึกหัดครูรุ่นที่ 4 ส่วนผู้จัดการร้านสหกรณ์จําได้ว่า พอ.สม. เสมรสุต
สระเกษตรสนานเป็นอนุสรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ใหญ่ให้จัดสร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ประโยชน์ฝึกว่ายน้ำ เล่นน้ำ โดยมีกระดานสําหรับกระโดดไว้ให้พร้อม จําไม่ได้ว่าท่านผู้ใดเป็นเป็นผู้ได้รับรางวัลในการตั้งชื่อ “เกษตรสนาน”
กลางปีการศึกษาปีสุดท้ายของข้าพเจ้าคือปี พ.ศ. 2480 อาจารย์ใหญ่ได้เรียกให้ข้าพเจ้าและคุณสุภาพ ขาวสําอาง (ซิม ขาวสําอาง) ไปพบ ท่านแจ้งว่าเธอทั้งสองสอบกลางปีได้คะแนนเป็นเยี่ยมจะส่งไปร่วมในงานออกร้านฤดูหนาวของสถานีทดลองแม่โจ้ที่จังหวัดแพร่ โดยทางสถานีออกค่าพาหนะเดินทางและค่าเบี้ยเลี้ยงให้ทั้งหมด การไปร่วมงานครั้งนี้เท่ากับได้ไปทัศนาจรเที่ยวและพักผ่อนไปในตัว ข้าพเจ้าและคุณสุภาพ ขาวสําอาง ได้เดินทางไปร่วมงานออกร้าน ณ จังหวัดแพร่ ในความควบคุมของคุณพูน สรรพอาษา อยู่ประมาณ 10 วัน ที่จังหวัดแพร่นี้เอง ข้าพเจ้าได้รู้จักโรงเรียนป่าไม้แพร่ มีความสนใจตั้งแต่บัดนั้น ต่อมาจึงได้มีโอกาสศึกษาต่อทางวนศาสตร์และรับราชการอยู่กรมป่าไม้จนถึงปัจจุบันนี้
อาจารย์ใหญ่รับตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
อาจารย์เป็นผู้ที่มีความรอบรู้มีความชํานาญงานด้านเกษตรชั้นปรมาจารย์ นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม ฉะนั้นทางรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เชิญท่านเข้าร่วมคณะรัฐบาล โดยรับตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ในกระทรวงเกษตรท่านมีลูกศิษย์ลูกหาตลอดจนมีผู้ที่เคารพนับถืออยู่มากมาย โดยเฉพาะลูกศิษย์ของครูมีอยู่ในกรมทุกกรมของกระทรวงเกษตร นับตั้งแต่กรมวิชาการเกษตร การส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมประมง กรมสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์
ในขณะที่อาจารย์ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ครั้งหนึ่งท่านได้ไปตรวจราชการในจังหวัดที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ ข้าพเจ้า ดํารงตําแหน่งป่าไม้จังหวัด เมื่อเห็นว่าอาจารย์มาตรวจราชการจึงได้เข้าไปรายงานตัวต่อท่าน ท่านจําได้แม่นได้พูดถามถึงเรื่องเก่า ๆ เมื่อทราบว่าข้าพเจ้าดํารงตําแหน่งป่าไม้จังหวัดอยู่ ท่านกล่าวว่าครูมีความเห็นในความสําคัญของป่าไม้ เพราะมีส่วนเกื้อกูลพื้นที่การเกษตร โดยช่วยอนุรักษ์ดินน้ำให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงได้เร่งดําเนินการแจ้งนโยบายให้กรมป่าไม้เร่งสงวนคุ้มครองป่าเป็นการใหญ่เป็นงานอันดับหนึ่ง เธออยู่กรมป่าไม้มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ข้าพเจ้าตื่นเต้นและมีความภูมิใจที่อาจารย์ซึ่งมีความ เชี่ยวชาญทางด้านเกษตรมีความเห็นและเป็นห่วงป่าไม้ ประสงค์จะสร้างเสริมและอนุรักษ์ป่าไม้แทนที่จะเฉือนเอาเนื้อที่ป่าไม้เอาไปทําการเกษตรแต่ฝ่ายเดียว จึงได้ตอบและออกความเห็นกราบเรียนท่านไปว่า การที่อาจารย์มีนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการประกาศสงวนป่านั้นเป็นการถูกต้องและดีที่สุด ทั้งนี้เพื่อรัฐจะได้พื้นที่ไว้ ป่าสงวนนั้นแม้จะมีอยู่มากแต่ภายหลังเห็นว่าสภาพเหมาะที่จะทําการเกษตรเมื่อจําเป็นก็เพิกถอนสภาพได้ ป่าสงวนนั้นถึงแม้จะหมดสภาพป่าหรือสภาพป่าทรุดโทรมไปก็ตาม พื้นที่ดินยังเป็นของรัฐของกรมป่าไม้อยู่ ผู้ใดจะมายึดถือกรรมสิทธิ์ย่อมไม่ได้โดยเด็ดขาดเท่ากับเรายึดหัวหาดไว้ ต่อไปหากรัฐมีนโยบายที่จะปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรและเพื่อราษฎรก็ดี หรือจะดําเนินการการปลูกสร้างสวนป่าเพื่อให้มีปริมาณเนื้อที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นก็ย่อมดำเนินการได้โดยสะดวก คำว่าป่าในพระราชบัญญัติป่าไม้ คือที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลได้กรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ที่ดิน อาจารย์มีความเห็นพ้องด้วยอย่างจริงใจ ฉะนั้นในสมัยรัฐบาลที่ท่านดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กรมป่าไม้จึงได้เร่งรัดการสงวนป่าโดยออก กฎกระทรวงป่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นจํานวนมาก
อนึ่ง ในสมัยนั้นราษฎรยังมีความเกรงกลัวไม่ค่อยกล้าละเมิดกฎหมายป่าไม้ หรือ กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ พนักงานได้ดําเนินการจับกุมผู้ฝ่าฝืนมาลงโทษโดยเคร่งครัดและเฉียบขาด ซึ่งผิดกันกับประชาธิปไตยปัจจุบันที่มีราษฎรและนายทุนน้อยใหญ่บุกรุกแผ้วถางป่าสงวนกันเป็นร้อยเป็นพันครอบครัวโดยมิได้เกรงกลัวเจ้าหน้าที่และกฎหมายบ้านเมือง ทั้งรัฐบาลเองก็ต้องการแย่งชิงประชาชนจากฝ่ายตรงข้ามเอาคนไว้ยิ่งกว่าเอาป่าไว้ ประชาชนได้ใจอ้างแต่ความยากไร้ไม่มีที่ทํากินจึงต้องบุกรุกป่า ครั้นได้ที่ดินมาก็ขายให้แก่นายทุน แล้วก็อ้างความยากไร้บุกรุกแผ้วถางป่าสงวนวนเวียนอยู่เช่นนี้ สภาพการณ์ของป่าสงวนแห่งชาติของเมืองไทย จึงมีแต่จะลด จํานวนลงไปทุก ๆ ปี เมื่อไม่สามารถยับยั้งไว้ได้จริง ๆ แล้ว ก็คงจะต้องหมดสิ้นไปเช่นในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศเป็นตัวอย่าง
ปัจจุบันกรมป่าไม้และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปลูกสร้างสวนป่า ทุกฝ่ายประสบกับปัญหาที่มีราษฎรหรือนายทุนผู้มีอิทธิพล ทําการขัดขวางทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะไม่ยอมให้มีการปลูกสร้างสวนป่า ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมายโดยทําการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ บางครั้งในบางพื้นที่ถึงกับมีคดีลักลอบทําร้ายฆ่าฟัน เผาสวนป่า เผาสํานักงานบ้านพัก ตลอดจน ยานพาหนะและเครื่องจักรกลก็เคยมีมา ในที่สุดแม้จะดื้อดึงดําเนินการปลูกสร้างสวนป่าไปจนสําเร็จ ต่อมาภายหลังยังถูกลักลอบตัดโค่นทิ้งเสียอย่างน่าเสียดาย นับว่าเป็นการกระทําที่โง่เขลา ป่าเถื่อนเป็นที่สุด ประชาชนที่ไม่คิดจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเรายังว่าแย่แต่ผู้ที่ทําลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่นนี้ไม่ทราบว่าจะเรียกว่ากระไร
ที่มา : หนังสือเกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอาจารย์อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524 หน้า 62 – 67