คุตีข้าว

ในการทำนาของภาคเหนือ เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว ก็ต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับเกี่ยวข้าว ตีข้าว และเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉาง การในตีข้าวสามารถตีได้หลายวิธี ไม่ว่าจะทำตาราง โดยการนำขี้วัว มาทาบริเวณพื้นนา รอให้แห้งแล้ว เอาฟ่อนข้าวมาตีกับตารางได้เลย หรือจะใช้คุสำหรับตีข้าว ซึ่งคุสำหรับตีข้าวเป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ที่ทำจากไม้ไผ่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 2.50 เมตร สูงประมาณ 90-100 เซนติเมตร โดยจะนำคุไปวางที่ใกล้ ๆ กองข้าวที่เกี่ยวเรียบร้อยแล้ว โดยมีการปูเสื่อไม้ เรียกว่า “สาดกะลา” (เสื่อกะลา) สานด้วยผิวไม้บง มาปูไว้ด้านหนึ่งของคุ เพื่อรองรับเมล็ดข้าวที่กระเด็นออกจากคุ ตอนที่ยกฟ่อนข้าวขึ้น ในการใช้คุสำหรับตีข้าวต้องใช้ไม้หีบสำหรับหนีบข้าว ไม้หีบทำจากไม้เนื้อแข็งเกลาเป็นแท่งกลมขนาดพอมือ เจาะด้านบนเป็นรูเพื่อร้อยเชือก การเจาะรูไม้ข้างหนึ่งจะเจาะรูสูง อีกข้างเจาะรูปต่ำกว่า เกือบกลางลำไม้ ใช้บริเวณด้านบน หนีบกับฟ่อนข้าว ยกขึ้นแล้วตีกับคุตีข้าว คนตีต้องยืนชิดคุเพื่อจะได้ตีสะดวก และเอาฟ่อนข้าวตีกับ “หมง” ซึ่งเป็นก้นของคุที่มีลักษณะนูนขึ้นมา การตีข้าวกับคุ สามารถตีพร้อมกันได้ถึง 4 คน ใช้การสลับเข้าตีทางเดียว เพราะอีกด้านจะได้ปูสาดกะลาเพื่อรองรับเม็ดข้าวที่กระเด็นออกนอกคุ และข้าวที่ได้จะมีความสะอาด

การตีข้าวด้วยคุ

การเก็บข้าวเปลือกที่ตีเสร็จแล้วออกจากคุ ให้นำสาดกะลามาปูเป็นทางยาวชิดก้นคุ โดยให้ปูไปตามทิศทางลม การทดสอบทิศทางลมโดยการกำข้าวขึ้นมาแล้วโปรย จะทำให้ทราบทิศทางลม จากนั้นให้คนหนึ่งตักข้าวเปลือก อีกคนหรือสองคนยืนด้านที่ปูสาด โดยใช้พลั่วไม้ตักข้าว สาดให้เป็นทางยาวไปตามทิศทางลม ข้าวที่สมบูรณ์จะตกลงที่สาดกะลาส่วนข้าวลีบก็จะปลิวออกไป ในการสาดข้าวจะมีคนคอยใช้ “วี” หรือ ”ก๋า” คอยพัดข้าวอีกแรง โดยเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ที่ตกลงบนสาดกะลา ชาวเหนือเรียกว่า “ข้าวเต้ง” ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนข้าวหมดคุ ก็จะเคลื่อนย้ายคุไปตียังกองอื่นต่อไป

 การสาดข้าวจะมีคนคอยใช้ “วี” หรือ ”ก๋า” คอยพัดข้าว

ข้อดี ของการใช้คุตีข้าว จะได้ข้าวที่สะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อน และก่อนจะเอาข้าวออกจากคุ ยังมีการสาดและวี เพื่อเอาข้าวลีบออกด้วย จึงทำให้ได้เฉพาะข้าวที่สมบูรณ์เท่านั้น

 

เรียบเรียงโดย : เยาวภา เขื่อนคำ นักเอกสารสนเทศ ฝ่ายจดหมายเหตุและคอเล็กชั่นพิเศษ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อ้างอิง : นิตยสารสารคดี เรื่อง “มองภูมิปัญญาพื้นบ้าน ผ่านคุตีข้าวของชาวเชียงใหม่” สืบค้น 30 เมษายน 2563. จาก https://bit.ly/3gfc2RC