ประวัติโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม: จากบันทึก พระช่วงเกษตรศิลปการ
โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่สามที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น เพราะแต่เดิมนั้น มีโรงเรียนฝึกหัดครูอยู่แล้วที่โนนวัด โรงเรียนฝึกหัดครูที่สองจัดตั้งขึ้นที่คอหงษ์หาดใหญ่ ทั้งสองโรงเรียนนั้นได้ร่วมงานไปกับสถานีทดลองกสิกรรมของกรมเกษตร โรงเรียนนี้ได้จัดตั้งขึ้้นเมื่อต้น พ.ศ.2477 ข้าพเจ้าจำได้อย่างแม่นยำว่า เมื่อกลางเดือน เมษายน พ.ศ.2477 กระทรวงธรรมการได้ให้ข้าพเจ้ายืมเงิน 3000 บาท มาจัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้น และเริ่มประกาศรับนักเรียน แต่เดือน พฤษภาคม มีนักเรียนเดินทางมาเล่าเรียนอยู่เรื่อยๆ เป็นนักเรียนในบำรุง 35 คน นอกบำรุง 11 คน อุปสรรคแรกที่ต้องวิตกมากก็คือน้ำใช้ แม้ว่าได้จัดตอกบ่อลึกถึง 64 ฟีตก็ตาม น้ำที่สูบขึ้นมานั้นก็ยังใช้บริโภคไม่ได้ ในเวลานั้นข้าพเจ้าได้สร้างถังน้ำซิเมนต์มีความจุประมาณหมื่นแกลลอนที่สถานีทดลองกสิกรรมขึ้น เพราะที่นั้นมีหลังคาสังกะสี ส่วนโรงเรียนชั่วคราวและบ้านพักนักเรียนมีหลังคาและฝามุงด้วยใบพลวงทั้งสิ้นจะรองน้ำฝนใช้ไม่ได้
เรือนนอนนักเรียน โรงอาหาร โรงประปา
โรงเรียนได้จัดไหว้ครูเปิดโรงเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2477 มีข้าหลวงประจำจังหวัดและธรรมการจังหวัดมาให้โอวาสเปิดการเรียน นักเรียนทุกคนมีความเข้มแข็งในการเรียนและงานศิลป มีความสามัคคีเครพคณะครู อาจารย์เป็นอย่างสูง นักเรียนเหล่านี้เป็นหัวแรงที่ได้ร่วมมือกันจัดให้กิจการของโรงเรียนก้าวหน้าเป็นลำดับมา ใน พ.ศ.นั้นมีข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ใหญ่ นายสวัสดิ์ วีระเดชะ เป็นอาจารย์ประจำโรงเรียน นาดง วระนันท์ นายสนิท ศิริเผ่า นายสีมุ วงศ์จินดารักษ์ เป็นครูรอง
ทุกคนเมื่อได้ร่วมมือร่วมงานกันเพื่อนำให้นักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนได้รับการอบรมเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าลืมเสียไม่ได้ว่านักเรียนรุ่นแรกของเราไม่ยอมแพ้ในการกีฬาของจังหวัด ได้พยายามฝึกซ้อมการเล่นฟุตบอลล์ และได้ส่งทีมเข้าแข่งขันจนได้โล่ห์ฟุตบอลรุ่นกลางมาไว้แก่โรงเรียน เวลานั้นนักเรียนเล่นฟุตบอลไม่เป็นและขาดสนาม แต่ข้าพเจ้าได้แนะนำให้ใช้ทุ่งนาหนองบัวเป็นที่ฝึกซ้อม และยังสั่งให้ช่างเย็บรองเท้าให้นักเรียน 22 คู่ ข้าพเจ้าเล่นฟุตบอลไม่เป็นแต่ชอบดูและคุมเด็กเล่น ซึ่งนักเรียนรุ่นนั้นคงจำความได้ดีว่า อาจารย์ใหญ่ไม่ใคร่ขาดการดูแข่งขัน
ในปี พ.ศ.2478 ทางโรงเรียนได้รับภาระมากขึ้น เพราะกระทรวงธรรมการต้องการเปิดแผนกนักเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นสมทบกับโรงเรียนฝึกหัดครูนี้ ต้นพ.ศ. นี้งานสำคัญคือการก่อสร้าง เพราะจะรับนักเรียนใหม่ทั้งฝ่ายนักเรียนครูปีที่ 1 และนักเรียนมัธยมเกษตรกรรม ตระเตรียมไว้ว่าจะมีนักเรียนทั้งสองแผนกประมาณ 250-300 คนมาเข้าเล่าเรียน สถานที่พักยังไม่มีพอคงมีเรือนนอนเก่าอยู่ 3 หลัง ต้องสร้างห้องเรียนเรือนนอนเพิ่มขึ้นอีก ทุกอย่างทำกันอย่างรีบเร่ง นักเรียนเก่าและนักเรียนที่มาสมัครใหม่ ข้าพเจ้าหมายความถึงนักเรียนครูรุ่นที่จะออกไปในปลาย พ.ศ. นี้ กับนักเรียนมัธยมเกษตรกรรมปีที่ 6 เดี๋ยวนี้ ได้ร่วมกันปฏิบัติงานเป็นที่พอใจของข้าพเจ้าทุกอย่าง บทเรียนที่จะฝังอยู่ในใจของนักเรียนที่มารับการอบรมในโรงเรียนนี้ ก็คือการร่วมมือกัน นักเรียนทุกคนคอยรับคำสั่งและคอยปฏิบัติตามคำสั่งทุกประการ อุปสรรคขั้นต้นคือการขาดครู ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อกรมศึกษาธิการมาเป็นลำดับ พอถึงกลาง พ.ศ.2478 ก็บันเทาลงบ้าง แต่เสียใจที่โรงเรียนขาดนาย สวัสดิ์ วีระเดชะ ซึ่งถูกย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ แต่อาจารย์และครูที่ได้เพิ่มมาใหม่ พ.ศ.นี้ คือ ขุนจรรยาวิจารณ์ มารับตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครอง นายพนม สมิตานนท์ นายอ่ำ อุ่นใจ นายรึบ ชาญวิจิตร นายดาบใช้ ชัยฉ่ำ นายดี ธรรมวงศ์ นายเชิด มุนิกานนท์ นายเต็ม ศรีเพริศ นายบุญชัก ประดิษฐกุล และนายรศ นิลแก้ว พนักงานพยาลประจำโรงเรียน ในเดือนกุมภาพันธ์โรงเรียนใช้ห้องวิทยาศาสตร์เป็นที่ทำงานห้องพักครูไปพลาง และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 นี้เกิดพายุใหญ่ในวันสุดท้ายของการสอบไล่ นักเรียนครูรุ่นแรกของเรา บ้านพัก 2 หลังหักพัง อีก 3 หลังโย้ไปแต่ยังใช้การได้ ทางโรงเรียนได้โทรเลขขอสอบไล่วิชาวิทยาศาสตร์ใหม่
งานฤดูหนาวของเชียงใหม่ ซึ่งจัดให้มีเป็นงานประจำปี ที่สนามโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเริ่มแต่วันที่ 25 ธันวาคม ถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2478 ทางโรงเรียนได้จัดให้มีร้านเปิดขายเครื่องดื่มเบ็ดเตล็ดเช่น โกโก้, กาแฟ และอาหารว่างอื่นๆ ทั้งได้มีการเล่นเบ็ดเตล็ดของนักเรียนทั้งสองแผนก เป็นการส่งเสริมความสนุกรื่นเริงแก่งานนั้นอยู่มาก เรียกร้านนี่้ว่า “แม่โจ้รีวิว” เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการนี้แล้วยังมีเงินเหลือซื้อตู้ใส่เครื่องวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียน ในงานฤดูหนาวนี้นอกจากการออกร้านแล้ว นักเรียนหมวดต่างๆ ได้จัดส่งพืชผักต่างๆ เข้าประกวดและได้รางวัลพอสมควร
เมื่อปลายปี พ.ศ.2478 นั้นนักเรียนรุ่นแรกได้ดำริจะทำสมุดประจำปีขึ้นแต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีเวลาพอที่จะจัดทำ นักเรียนครูรุ่นที่สองนี้ได้วางแนวความคิดวางงานไว้แต่แรก จึงพิมพ์สมุดประจำปี “แม่โจ้ 2479” นี้ได้สำเร็จ ความสำเร็จของงานเป็นผลจากความสามัคคีที่สมาชิกของรุ่นนี้ได้ร่วมมือร่วมใจกันและขอให้ความสำเร็จนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกอยู่เสมอ ทั้งเป็นแบบอย่างที่จะนำให้บรรลุงานอื่นๆ ที่มุ่งหวังไว้ต่อไป
ใน พ.ศ.2479 นี้ รูปร่างของโรงเรียนผิดแปลกขึ้นบ้าง ตัวโรงเรียนใหญ่ได้สร้างเสร็จมีชั้นบนเป็นห้องเรียน 4 ห้อง ส่วนชั้นล่างยังกำลังดัดแปลงให้เป็นห้องสมุดของโรงเรียน คณะหนังสือพิมพ์กสิกร ได้มอบเงิน 744 บาทเศษ ให้แก่โรงเรียนเพื่อใช้จ่ายในการสร้างห้องสมุดนี้ นับว่าโรงเรียนได้รับทุนสมทบจากคณะนี้อีกด้วย
ที่มา : ทำเนียบรุ่นปี 2479