โรงเรียนเทพศาสตร์

ในยุคที่พระช่วงเกษตรศิลปการ ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ภาคเหนือ ได้ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปรวมแล้วหลายอาคาร “เรือนชีวะ” เป็นอีกอาคารหนึ่งซึ่งสร้างในยุคปี พ.ศ. 2480 อนุสรณ์สําคัญสิ่งหนึ่งในแม่โจ้ ที่อาจารย์พนม สมิตานนท์ สร้างไว้ คือ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา (ประถม-มัธยม ปีที่ 6) เพื่อให้ลูกหลานของครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ คนงาน และบุคคลทั่วไป ได้มีสถานที่เล่าเรียน (น่าจะเป็นต้นแบบของโรงเรียนสาธิตต่าง ๆ ในปัจจุบัน) คือ โรงเรียน “เทพศาสตร์” เพื่อรําลึกถึง “พระยาเทพศาสตร์สถิตย์” ที่พระช่วงเกษตรศิลปการ ศรัทธา เคารพ นับถือ ในการทํางานสมัยเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ภาพโรงเรียน จากฐานข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้

หลังจากที่ อาจารย์พนม สมิตานนท์ ได้กลับมารับตําแหน่งผู้อํานวยการโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2486 (ครั้งแรกเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2482-2484) ท่านอาจารย์พนม ได้มองเห็นว่า ครูอาจารย์ในโรงเรียนที่มีบุตรหลาน ได้มีความยากลำบากในการไปรับส่งที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังเสียเวลาในการทํางานอีกด้วย ท่านจึงสร้างโรงเรียนเทพศาสตร์ ขึ้นภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2486 โดยมีอาจารย์บุญมี สมิตานนท์ (นามสกุลเดิม อรุณสิทธิ์) ภรรยาของท่านที่เป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียน เรยีนาเชลีวิทยาลัย ในเมืองเชียงใหม่ มาช่วยสอนเป็นท่านแรก จากนั้นได้มอบหมายให้อาจารย์ใหม่ของโรงเรียนฯ มาทําหน้าที่สอนที่โรงเรียนเทพศาสตร์นี้ด้วย ระยะแรกมีการเปิดสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ต่อมายุคหลัง ๆ  มีเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาด้วย สําหรับการสอบนั้น ให้สอบเทียบที่โรงเรียนบ้านแม่โจ้ ตําบลหนองหาร อําเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

นักเรียนของโรงเรียนเทพศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมามีหลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ เป็นนักวิชาการ อาจารย์ และอดีต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ 8 (ดํารงตําแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2523-2525) และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คนที่ 2 (ดํารงตําแหน่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2543)

ดร.สราญ เพิ่มพูล (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 24) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วงปี พ.ศ. 2541-2545 ระบุว่า เมื่อท่านสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ท่านมา สมัครเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ โดยอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ได้สอบถามท่านว่า สอนวิชาคณิตศาสตร์ได้ไหม? ท่านตอบว่าได้ อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย จึงให้ไปสอนที่โรงเรียนเทพศาสตร์ และจะมีนักศึกษาของวิทยาลัยฯ ที่สอบตก วิชาคณิตศาสตร์ เข้ามาเรียนด้วย ภายหลังเมื่อมีอาจารย์ใหม่เข้ามาบรรจุ ท่านจึงเลื่อน ไปสอนในวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ ส่วนอาจารย์ใหม่ก็เข้าเริ่มต้นงานสอนที่โรงเรียนเทพศาสตร์

ปี พ.ศ. 2516 ได้มีการ สร้างโรงเรียนสันทรายวิทยาคมขึ้น ดังนั้น วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ จึงได้พิจารณาเห็นว่าได้มีโรงเรียนประจำอำเภอสันทรายรองรับลูกหลานของชุมชนแล้วความจำเป็นแต่เดิมก็ลดลง จึงให้งดรับนักเรียน และทยอยปิดกิจการโรงเรียนเทพศาตร์ลง ประมาณปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา

รวบรวม/เรียบเรียงข้อมูล: อนุสรณ์ วิจารณ์ปรีชา นักวิชาการศึกษา กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ภาพประกอบ : ภาพนักเรียนโรงเรียนเทพศาสตร์ จากอาจารย์พัชรินทร์ สุกัณศีล ทายาทศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ซึ่งเคยเป็นนักเรียนโรงเรียนเทพศาสตร์ ได้มอบให้ คุณอนุสรณ์ วิจารณ์ปรีชา และภาพจากเพจ ภาพเก่าแม่โจ้ และฐานข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้