ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นประเพณีล้านนาทางภาคเหนือ สืบเนื่องกันมารุ่นต่อรุ่น โดยประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า แบบโบราณล้านนา หรือการเลี้ยงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่าลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน (ทิศตะวันออก) หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น (คนโท) วางเอาไว้ โดยจะมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว บวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของผีปู่ย่า ให้มาสถิตอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลาน ตลอดจนเครือญาติจะต้องถือผีปู่ย่าวงศ์เดียวกัน
การเลี้ยงผีปู่ย่าโดยทั่วไปจะนิยมเลี้ยงในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน แต่ด้วยความไม่สะดวกที่ญาติพี่น้องอยู่ห่างไกลกัน นานวันจะหวนกลับบ้านในช่วงปีใหม่สงกรานต์ ก็อาจใช้ช่วงเวลานี้เลี้ยงผีก็ได้ หรือหากลำบากที่จะต้องเดินทางมาร่วมพิธีเลี้ยงผี ก็อาจขอแบ่งผีไปอยู่ในชุมชนใหม่ที่อยู่ไกลออกไป โดยการนำเอาขันหรือสลุงมาขอแบ่งผีจากเก๊าผีปู่ย่า (ต้นตระกูล) ซึ่งก็จะจัดพิธีเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าวผีเก๊า จากนั้นผีเก๊าจะเป็นผู้นำเอาข้าวตอกดอกไม้มาใส่ขันไว้ และอวยพร/ให้พรแบ่งผีแก่สมาชิกไปจัดทำพิธีเอง ซึ่งเมื่อไปรับผีมาแล้วก็เอามาตั้งขันในหอผีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ถือเป็นสิริมงคคล ความอยู่เย็นเป็นสุข ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานแก่เครือญาติ ขยายเป็นครอบครัวใหม่ออกไปไม่สิ้นสุด
ของที่นิยมนำมาเลี้ยงผีปู่ย่า แล้วแต่จะตกลงกันว่าปีนี้จะถวายไก่หรือหมู ถ้าถวายไก่ก็นำมาครอบครัวละ 1 ตัว (ไก่ต้ม) ถ้าถวายหมู จะใช้ส่วนหัวของหมู เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีในการทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ในเวลาเช้าตรู่ ประมาณ 8.00 น. ผู้สืบทอดหรือผู้อาวุโสจะกล่าวคำบูชา พร้อมกับญาติ ๆ ที่มาร่วมพิธี จากนั้นพนมมือไหว้อธิษฐาน รอจนกว่าธูปเทียนจะวอดดับหมดเล่ม ถือว่าผีปู่ย่าได้รับรู้และรับเครื่องไหว้แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ลูกหลานก็จะลาของไหว้ ได้แก่ ข้าวปลาอาหารแห้ง ผลไม้ ขนมต่าง ๆ เพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง และนำไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นภายในงานยังเป็นสถานที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ลูกหลานที่อยู่ห่างไกลได้มีโอกาสมาอยู่ใกล้กัน เด็ก ๆ ได้รู้จักสนิทสนมกันดีขึ้น ถือเป็นการขันเกลียวเครือญาติให้แน่นแฟ้น
“คุณป้าภมร สุรักษ์” เล่าว่า ตามความเชื่อการเลี้ยงผีนั้น เป็นที่พึ่งทางใจ เพราะตามธรรมเนียมแล้วคนทางเหนือจะนับถือยกย่องญาติผู้ใหญ่มาก เมื่อญาติผู้ใหญ่ล่วงลับไปแล้วก็สร้างศาลไว้เป็นตัวแทน เมื่อลูกหลานประสบปัญหาทางจิตใจหรือไม่สบายกายไม่สบายใจ ก็จะไปกราบไหว้บอกกล่าวให้ช่วยเหลือ หรืออีกแง่หนึ่งคือเป็นการรวมญาติที่อยู่ห่างไกลกันได้มาพบปะซักถามสารทุกข์สุขดิบต่อกัน หรือเป็นการแนะนำผู้ที่มาเป็นเขยให้รู้จักญาติพี่น้องของฝ่ายหญิง
ข้อห้ามตามความเชื่อ ของผีปู่ย่า เฉพาะฝ่ายผู้หญิง ผีปู่ย่าได้วางไว้ดังนี้ ถ้าผู้ชายล่วงเกินจับมือถือแขนไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะต้อง “เสียผี” ห้ามหวีผมในเวลากลางคืนและห้ามส่องกระจกดูหน้าในเวลากลางคืน และห้ามชายหนึ่งชายใด ที่มิใช่วงศ์ญาติถือผีเดียวกันเข้าไปเกินธรณีประตูห้องนอน (พื้นที่บริเวณห้องนอน นับจากปากประตูทางเข้าห้องนอน) ถ้าเข้าไปถือว่าผิดผี กรณีของคู่รักที่ทะเลาะวิวาทและหย่าร้างกันไป ถ้ากลับมาคืนดีกันใหม่ จะต้องใส่ผีอีกครั้ง ในวงศ์ญาติเดียวกันถ้าทะเลาะวิวาทกันก็ถือได้ว่าเป็นการผิดผี ผู้หญิงถ้ามีชายอื่นใดมาทำให้ท้องถือเป็นการผิดผีเหมือนกัน แม้จะหาตัวชายผู้กระทำต่อผู้หญิงไม่ได้ คนท้องจะต้องเป็นคนเสียผีเอง หรือทางเหนือเรียกว่าการ “ใส่ผี”
ปัจจุบันการเลี้ยงผีปู่ย่า ไม่ได้นับถือกันทุกคน หรือทุกครอบครัว จะเหลือเพียงไม่มากตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การทำประเพณีการเลี้ยงผีปู่ย่า ก็จะลดน้อยหายไปตามกาลเวลา
ผู้ให้ข้อมูล : คุณป้าภมร สุรักษ์ (ข้อมูลอ้างอิงจากบ้านพัฒนาทรายแก้ว หมู่ที่ 13 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่)
เรียบเรียงโดย : อรวรรณ สุรักษ์
ภาพถ่าย : อรวรรณ สุรักษ์