ประวัติและความเป็นมา
วัดอินทราวาส หรือวัดต้นเกว๋น ตั้งอยู่ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ (เส้นทางหางดง – สะเมิง) วัดต้นเกว๋น เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงแบบแผนทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามและทรงคุณค่ายิ่ง แม้จะได้รับการบูรณะซ่อมแซม แต่ยังคงไว้ซึ่งศิลปะแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของ หอคำหลวง สวนราชพฤกษ์
วัดอินทราวาส หรือวัดต้นเกว๋น ตั้งชื่อตามต้นหว้า ซึ่งขึ้นตรงบริเวณที่สร้างวิหารในปัจจุบัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทราวาส ซึ่งตั้งตามชื่อเจ้าอาวาส ผู้สร้างวัดนี้ คือ ครูบาอินทร์ ตามหลักฐานที่บันทึกเป็นภาษาไทยบนเพดานวิหาร คาดว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2401 สำหรับมณฑปจตุรมุข สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.2399 – 2412 ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำดับที่ 6 เพื่อเป็นสถานที่หยุดพักขบวนแห่พระธาตุศรีจอมทอง จากอำเภอจอมทอง มายัง เมืองเชียงใหม่ ให้ประชาชนแถบนี้ได้มาบูชาและสรงน้ำพระธาตุ แล้วจึงอัญเชิญต่อไปยังเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เจ้าผู้ครองนคร และประชาชนในเมืองเชียงใหม่สรงน้ำบูชาอันเป็นประเพณีทุกปี
วัดอินทรวาส (วัดต้นเกว๋น) วัดต้นเกว๋นเป็นวัดที่มีอายุมากว่า 150 ปี เป็นเพียงวัดเดียวในเขตเมืองที่สามารถเก็บสิ่งก่อสร้างเดิมอันเป็นส่วนสำคัญไว้ได้หมด วัดต้นเกว๋นเป็นเพียงวัดไม่กี่วัดในประเทศไทยที่ไม่มีองค์พระเจดีย์หรือที่คนล้านนาเรียกว่า พระธาตุ ทั้งนี้วัดแห่งนี้สร้างเพื่อเป็นกรณีพิเศษเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่แห่มาจากพระธาตุศรีจอมทอง ซึงเป็นประเพณีประจำปีเพื่อที่จะอัญเชิญพระบรมธาตุไปให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้สรงน้ำในเทศกาลปีใหม่เมือง ด้วยเหตุนี้จึงได้สร้างมณฑปจตุรมุขเพื่อการสรงน้ำ จากนั้นจึงได้สร้างวัดขึ้น
วัดต้นเกว๋นได้เก็บรักษาของเก่าไว้ได้มากมาย ยังคงอัตลักษณ์แห่งความงาม ความเก่าแก่ที่คงคุณค่าแก่ประวัติศาสตร์ วิหารของวัดถูกสร้างขึ้นเมื่อปี จ.ศ. 1220 (พ.ศ. 2401) จากการสำรวจของ ครูปวงคำ ตุ้ยเขียว มีอักษรตัวเมืองเขียนไว้ที่เพดานด้านเหนือระบุปีที่สร้าง สร้างจากไม้และมีงานปูนปั้นที่งดงามมากทั้งด้านหน้าวิหาร รอบ ๆ และภายใน งานพระพิมพ์ที่ด้านหลังพระประธานนับได้ถึง 625 องค์
Author:Vichakorn Koonyosying
Photograph by: Vichakorn Koonyosying