สระเกษตรสนาน

by

|

in

งานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2478 นั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2478 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2479 ทางสถานีทดลองกสิกรรม และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ภาคเหนือ ก็ได้จัดนิทรรศการแสดงกิจกรรมการเกษตรด้วยโดยใช้อาคาร “เรือนเพชร” โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเป็นที่จัดแสดงเป็นครั้งแรกที่มีการออกร้านนิทรรศการของหน่วยงานราชการ จากส่วนกลางไปร่วมงานฤดูหนาวเชียงใหม่

วันที่ 18 ธันวาคม 2478 อาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงฯ ได้หารือกับนักเรียนทั้งหมด 266 คน ในวันปิดภาคเรียนเทอมกลาง ถึงการรวมพลังความสามัคคีช่วยกันขุดสระเป็นอนุสรณ์และ พัฒนาพื้นที่ในโรงเรียน โดยร่วมมือกันขุดสระกว้าง 30 เมตร ยาว 60 เมตร ความลึกบริเวณหอกระโดด 3 เมตร ที่เหลือลึก 2 เมตร มีพื้นที่ต้องขุดดินจริงๆ ประมาณ 4,100 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้น คนหนึ่งจะต้องขุดดินขึ้นประมาณ 15 ลูกบาศก์เมตร

วันที่ 20 ธันวาคม 2478 แบ่งงานขุดเป็นกลุ่มๆ ทําการรังวัดแบ่งเขตรับผิดชอบและ ทุกคนต้องขุดให้เสร็จตามที่รับมอบงานไป ขุดเสร็จแล้วจึงจะไปเที่ยวงานฤดูหนาวได้

วันที่ 22 ธันวาคม 2578 ทุกคนเริ่มลงมือขุดและยึดถือคําสอนของอาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงฯ “จงทํางานให้เหมือนเล่น แต่อย่าทํางานเป็นเล่น” ทุกคนทํางานด้วยความตั้งใจ เพื่อให้งานสําเร็จลุล่วงไปตามที่วางแผนไว้ ทุกคนทํางานด้วยใจมุ่งมั่นให้งานสําเร็จ

วันที่ 29 ธันวาคม 2478 งานสําเร็จตามที่ตั้งใจไว้ อาจารย์ใหญ่ก็สั่งให้ระบายน้ำ เข้าสระได้ตั้งแต่ตอนเช้า และน้ำเต็มสระเมื่อเวลา 15.00 น. ที่ประชุมตกลงให้เรียกชื่อสระตาม คําเสนอของ คุณละมัย เพศยนิกร (แม่โจ้รุ่น 1) ว่า “เกษตรสนาน”

อาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงฯ ได้กล่าวแก่พวกเราในพิธีนี้ความว่า ท่านดีใจและปลื้มใจมากที่ “สระเกษตรสนาน” ได้เกิดขึ้นแล้วตามความปรารถนาของพวกเราเกิดขึ้นจากพลังความสามัคคีอันดีของพวกเราทุกคนตลอดทั้งนักเรียนและครูอาจารย์ ราวกับเนรมิตเพราะใช้เวลาเพียง 7 วัน เท่านั้น

เกินความคาดหมายที่คาดไว้ท่านจึงเชื่อว่าสระนี้จะเป็นสระอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้ทั้งความชุ่มเย็น อันจะเป็นสิ่งคอยกระตุ้นและเสริมกําลังกายพร้อมทั้งสร้างความสามัคคีให้ประสบแต่ความร่มเย็น มีสุขภาพพลานามัยเข้มแข็ง เกิดความคิดสติปัญญาฉลาดเฉลียวในทางที่เกิดประโยชน์ต่อวงศ์ และประเทศชาติสืบไป ขอให้พวกเราจงช่วยกันรักษาทั้งสระและทั้งความดีที่ร่วมกันแสดงออกในครั้ง ไว้ให้คงอยู่ ซึ่งจะเป็นเยี่ยงอย่างอันดีเด่นแก่บรรดาศิษย์แม่โจ้รุ่นหลังๆ ตลอดชั่วกาลนาน

หลังจากนั้นพวกเราก็ได้ไปเที่ยวงานฤดูหนาวในเมืองเชียงใหม่ เมื่อกลับมาจากเที่ยว งานฤดูหนาว พวกเราก็ได้เห็นหอและกระดานกระโดดเกิดขึ้นตามที่ท่านอาจารย์ใหญ่ท่านบอกไว้ ได้ทันเวลาที่กําหนดพอดิบพอดีในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2478

สงวน จันทร์ทะเล กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อแม่โจ้ได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันเทคโนโลยี การเกษตร จํานวนนักศึกษาจึงเพิ่มมากขึ้นตามลําดับ สระเดิมคับแคบเกินไป อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดี ได้ประชุมหารือกับสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้และศิษย์เก่าและได้มีมติให้ย้าย สระเกษตรสนาน เพื่อพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สู่อ้อมอกแม่โจ้นี้ ไปยังพื้นที่แห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2521 เริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2522 (รุ่นที่ 43 กับรุ่นน้อง 44) โดยสระเกษตรสนาน แห่งใหม่จํานวน 2 สระ แบ่งแยกสําหรับผู้ชาย และผู้หญิง และล่าสุดในปี พ.ศ. 2546 จํานวนนักศึกษาหญิง มีจํานวนมากยิ่งขึ้น รองศาสตราจารย์มนัส กัมพุกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ในยุคนั้น เป็นต้นเรื่องร่วมกับศิษย์เก่ารุ่นต่างๆ กองกิจการนักศึกษา และนักศึกษาแม่โจ้ รุ่น 68 ในการ ขุดขยายสระผู้หญิง เสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้งบประมาณ ทั้งสิ้น 74,900 บาทถ้วน

ที่มา : บันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน มหาวิทยาลัยแมโจ้ หน้า 199-200