การศึกษากสิกรรม

by

|

in

ธรรมเนียมโบราณ การศึกษาเป็นงานเฉพาะตัว ไม่จำเป็นต้องเรียนทั่วหน้า วิชาที่เรียนก็คือเลขและหนังสือ ซึ่งในภาษาอังกฤษ เรียกว่า The 3 Rs. ธรรมเนียมเป็นเช่นนี้เหมือนกันทั้งตะวันออกและตะวันตก ต่อมาได้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเมื่อไม่กี่ศตวรรษที่แล้วมานี้เอง ว่าชาติหรือประเทศจะเจริญก็เพราะคนทั้งชาติเจริญ โดยได้รับการศึกษาทั่วหน้า จึงเกิดวางแผน “ศึกษาชาติ” กันขึ้น ในแผนศึกษาชาตินี้เอง ต้องวางชั้นการศึกษาเป็น ประถม, มัธยม, อุดม, เพื่อให้ชนทุกชั้นเลือกได้ตามภูมิปัญญา กับให้มีทั้งสามัญและวิสามัญศึกษา เพื่อทุกคนได้มีความรู้ทางอาชีพพอควรแก่อัตภาพ วิสามัญศึกษานี้ กล่าวโดยประเภท เป็น กสิกรรม, อุตสาหกรรม และพาณิชการ

ทำไมจึงเริ่มด้วยการศึกษากสิกรรม?

แผนศึกษาชาติของเราได้เริ่มมาตั้ง 20 ปีแล้ว ยังได้มีโครงการศึกษากสิกรรมขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2459 ทำไมจึงเริ่มด้วยการศึกษากสิกรรม? ก็เพราะสยามเป็นประเทศเพาะปลูก และวิชากสิกรรมนี้มีตัวอย่างที่ทำกันอยู่แล้ว เวลานั้นในประเทศข้างเคียง เช่น อินเดีย ซึ่งปรากฏตามรายงานว่า โรงเรียนกสิกรรมลงปลายมักจะผีหลอก พอผู้ปกครองนักเรียนเห็นว่า การเรียนไม่ได้ประโยชน์ ก็พากันถอนบุตรหลานออกจากโรงเรียน ข้างฝ่ายโรงเรียนซิปรากฏเป็นความเสียหาย ถึง 2 ชั้น คือ นอกจากเสียนักเรียนไป ยังเสียเวลาที่พอที่ครูจะสอนวิชาสามัญได้เต็มที่ วิชานั้น ๆ ก็กลับถูกตัดเสียบ้าง เพื่อแบ่งเวลามาสอนวิชากสิกรรมซึ่งไม่ได้ผล ความปรากฏว่า ครูที่สอนนั้นก็คือครูวิชาสามัญนั้นเอง การสอนจึงสอนตามตำรา สอนทางทฤษฎี และสอนอยู่ในชั้นในร่มหลังคาโรงเรียน การศึกษากสิกรรมของเราซึ่งเห็นแบบอย่างของเขาแล้ว ได้ตั้งต้นด้วยการฝึกหัดครูกสิกรรมก่อน จะได้เข้าภาษิตของเราที่ว่า “ไม่เอาเป็ดขันประชันไก่”

โครงการศึกษากสิกรรม พ.ศ. 2459 ของเรานั้นมุ่งจัดประถมศึกษา ซึ่งเป็นการขนานใหญ่ก่อน เพราะความคิดเรื่อง แผนการศึกษาชาติได้ เริ่มเพาะตัวขึ้นแล้ว เมื่อใช้การเกณฑ์ศึกษาทั่วหน้าจำจะต้องเตรียมทางไว้ป้องกันมิให้บุตรชาวนาทิ้งไถ ทิ้งนำมาจับดินสอ ปากกา หากินในสำนักงาน หนังสือเสียหมด การศึกษากสิกรรมนี้แหละ จะใช้เป็นเครื่องป้องกัน โดยจัดให้เป็นวิสามัญศึกษา สวมเข้าไปใน ภาคปลายแห่งประถมศึกษา เป็นประถมปีที่ 5-6 หรือต่อจากนั้นไปอีกเมื่อจำเป็น คำพูดของเสนาบดีกระทรวงธรรมการเมื่อเปิดโรงเรียน ประถมกสิกรรมมณฑล นครสวรรค์ ในสมัยนั้น ได้กล่าวถึงโรคประถมศึกษา ว่าอาจมารูปเกี่ยวกับโรคเสมียน แต่ขยาย ส่วนออกไปเป็นระบาดทั่วทั้งประเทศ

The Mower (ca. 1881–1882) by Georges Seurat. Original from The MET Museum. Digitally enhanced by rawpixel.

หมายความว่า ลูกชาวนาถูกเกณฑ์เข้ามาเรียน สามัญศึกษาอยู่ 4 – 5 ปี ขาดการฝึกหัดจับไถช่วยพ่อแม่ในท้องนา มาฝึกหัดจับดินสอปากกาอยู่ในร่มหลังคาโรงเรียน ในเครื่องแบบนักเรียนอัน สะอาดสะอ้าน อยู่เป็นเวลานาน พอที่จะให้หมดเข้มแข็งต่องานอาบเหงื่อ มาติดวิชาหนังสือ ซึ่งยังไม่รู้ มากพอที่จะช่วยตัวได้ ทั้งจะพากันทำงานหนังสือไปทั่วบ้านทั่วเมืองก็ไม่ได้ บุตรกสิกรของเราใน อนาคตอาจกลายเป็นแรงงานที่เป็นหมัน เปิดปัญหาว่างงานขึ้นในประเทศของตน ซึ่งจะเป็นภัยแห่ง โรคเสมียน ขยายส่วนออกไปอย่างมหึมา ในสมัยนั้นภัยแห่งโรคเสมียนได้เริ่มปรากฏรูปแล้ว เพราะนักเรียนหัวเมืองตั้งหน้าเข้ารับราชการไม่แพ้นักเรียนกรุงเทพฯ บุตรกสิกร ได้เข้าสวมตำแหน่งงาม ๆ มีไม่น้อย เลยเป็นเยี่ยงอย่างให้มหาชนผู้ติดภาษิต “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ถือเอาเป็นแบบ ซึ่งถ้าจะนึกไปก็เป็นธรรมดา ดังนี้การระบาดของโรคเช่นนี้ง่ายดายนัก เจ้าหน้าที่กลัวโรคเสมียนอยู่แล้ว เมื่อ จะจัดแผนการศึกษาชาติ มีการเกณฑ์ให้เข้าเรียนทั่วหน้าด้วย จึงกลัวโรคประถมศึกษายิ่งนัก เพราะโรคเสมียน เดี๋ยวนี้เราจึงพลอยมีปัญหาเรื่องกรรมกรว่างงานกับเขาบ้าง และส่วนมากเป็นชนิด ที่เขาเรียก กันว่า “คอลลาขาว” (White collar)

โครงการศึกษากสิกรรมที่ตั้งรูปขึ้นนี้ นอกจากเป็นยาป้องกันโรคประถมระบาด ยังเป็นทางแก้ปัญหาวิสามัญศึกษาแห่งแผนศึกษาชาติด้วย เพราะการจัดวิสามัญศึกษาสำหรับประเทศเราเป็น ปัญหายากยิ่ง ถ้าได้จัดวิสามัญศึกษาทางกสิกรรมสำเร็จ ปัญหาวิสามัญศึกษาก็ตกไปตั้ง 90 ส่วนใน 100 เพราะจะใช้ได้ในชนบททั่วไป ยังเหลือส่วนน้อยที่จะต้องแก้ไขกันก็คือ วิสามัญศึกษาทางอุตสาหกรรม และพาณิชการ ในเขตต์นครและเมืองที่ประชุมชน ซึ่งเป็นส่วนไม่เกิน 10 ใน 100

อุปสรรคใหญ่หลวง

โครงการศึกษากสิกรรมได้ประสพอุปสรรคใหญ่หลวงจนเกือบจะถึงอับปางก็ว่าได้ เพราะการกสิกรรมแห่งประเทศ ซึ่งเปรียบเหมือนชนักของการศึกษากสิกรรมยังต้องรีรออยู่ กระทรวงเกษตรในเวลานั้น ต้องรองานเกษตรไว้ ต้องก้าวไปทีละอย่างทางการทดน้ำก่อน เพราะปรากฎว่า วิทยาศาสตร์แห่งกสิกรรมยังใหม่ และอ่อนอยู่ กสิกรใหญ่ ๆ ทางตะวันตกเอง ก็ยังพากันเซชวนตามกัน ทั้งมีเหตุพอที่จะเชื่อว่ากสิกรของเรารู้จักงานของเขาดีอยู่ เขาได้มาหลายสิบชั่วอายุแล้ว จะจูงให้เขาไปเข้าฐานะที่อาจพลอยเซซวนตามชาวตะวันตกทำไม? ปล่อยให้เขาทำตามเพลงของเขาไปก่อน จนกว่าวิทยาศาสตร์ ในทางนี้จะเข้มแข็ง แน่นอน เราจึงค่อยก้าวหน้าไปตามอย่างเขามิดีกว่าหรือ?

อันนี้เองเป็นพายุที่โครงการศึกษากสิกรรมเกือบถึงอับปาง ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ ก็เพียงโครงการนั้น ต้องทำอย่าง “หอบโครง” คือต้องทำมือเปล่า ไม่ได้อนุญาตเงิน แต่ไม่ห้ามไม่ให้เสียที่เดียว เพราะเหตุได้มีคำขอร้องว่าการศึกษาเป็นงานปลูกไม้ แก่นกินเวลานาน วิทยาศาสตร์ทางกสิกรรมต้องมาถึงเราแน่ ๆ เราจำต้องเริ่มเพาะเมล็ดแห่งการศึกษากสิกรรมไว้ก่อน นี้เป็นเครื่องลดหย่อนผ่อนโทษว่าโครงการนี้ได้เริ่มมาถึง 20 ปีแล้ว ไฉนป่านนี้การ ศึกษากสิกรรมของเราจึงยังต้วมเตี้ยมอยู่แค่นี้ จนเป็นเหตุให้ดอกเตอร์ ซิมเมอร์แมน ผู้อาสาตรวจการ เศรษฐกิจของสยามเมื่อไม่กี่ปีมาแล้วนี้ ต้องยกความบกพร่องขึ้นกล่าวมากมาย ซึ่งเป็นความจริงทั้งนั้น

การทำด้วยมือเปล่าของเจ้าหน้าที่ของเรา ก็คือเจียดเอาเงินจากสามัญศึกษามาใช้ จึงเป็นงานที่ไม่สมประกอบ พายุน้อย ๆ ที่เป็นหางของพายุใหญ่จะห้ามเสียกระไรได้? ดังนั้นอุปสรรคอื่น ๆ จึงยังมีอีก เช่น โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่พระประโทน จังหวัดนครปฐม ต้องถูกยิ้มเยาะและได้ฉายาว่า “มะเขือเทศและมันฝรั่ง” เป็นต้น เจ้าหน้าที่เกษตรชั้นต่อมา เมื่อจะสรรเสริญงานของเจ้า หน้าที่ศึกษา ว่างานศึกษากสิกรรมที่ได้ผ่านไปเห็นในแถบชนบท เขาตั้งใจทำกันจริงจัง ก็ยังเว้นตำหนิเสียมิได้ว่าทำไมไม่ปลูกไม้ยืนต้นให้คนได้กินผล ไปปลูกมะเขือเทศและมันฝรั่ง? คำตินี้น่าฟัง แต่แสดงว่าเวลานั้นการศึกษากสิกรรม ต้องฝ่าพายุใหญ่น้อยเพียงไร

คำอธิบายที่ว่า นักเรียนกสิกรรมตลอดเวลาเรียนราว 2 ปี ต้องเพาะพืช และเก็บผลด้วยมือของตนเองอย่างน้อย 2 จบ เพื่อพิสูจน์ชีวิตแห่งพืชตามตำราที่ตนเรียน ไม้ยืนต้นกว่าจะมีผลกินเวลาหลายปี ไม่ให้ประโยชน์ ในทางพิสูจน์ และความชำนาญที่ได้ทำกับมือของตนเองตั้งแต่ต้นจนปลาย คือแต่ เพาะจนถึงเก็บผลได้ ภายในเวลาอันสั้นที่เป็นนักเรียนอยู่นั้น เป็นคำอธิบายที่จะให้เข้าใจทั่วถึง กันยาก อนึ่งเจ้าของโครงการศึกษากสิกรรม ผู้บัดนี้มีชีวิตหาไม่แล้ว ยังมีความประสงค์แรงกล้าในอัน จะยัดเยียดให้ชาวชนบทของเราได้กินอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายมากขึ้น นอกจากผักเก็บจากป่า มะเขือเทศ มันฝรั่ง ก็น่าจะเป็นอาหารของเขาด้วย ดูเถิดไม้ล้มลุก พวกมะเขือเทศ มันฝรั่งยังกลับมีหน้าที่เป็น 2 ชั้น คือทั้งให้นักเรียนได้เรียนชีวิตแห่งพืช อย่างน้อย 2 จบ ภายในเวลาเรียน 2 ปี กับ ให้ได้เป็นอาหาร ของชาวชนบทอีกด้วย

โครงการศึกษากสิกรรมต้องชะงัก เนื่องจากความลังเลของเจ้าหน้าที่เมื่อเปลี่ยนตัว ก็เป็นอุปสรรคสำคัญอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน ความลังเลเป็นธรรมดาของการฝ่าพายุ และความชะงักเป็นการเดินถอยหลังอยู่ในตัว ทางปฏิบัติตามแผนโครงการกสิกรรมนี้ เริ่มด้วยตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นในเขตของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนี้ก่อน เพื่อได้อาศัยกำลังครูและกำลังเงินของสถานศึกษานั้น แต่ไม่ช้าก็ได้ย้ายไปตั้งที่พระประโทน เพื่อให้มีที่ทำการเพาะปลูกเพียงพอ และเพื่อให้ได้ชีวิตของชนบท แต่ต่อมาภายหลัง โรงเรียนฝึกหัดครู นั้นต้องย้ายไปตั้งที่อื่นให้เข้ารูปเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประจำภาค ทิ้งโรงเรียนพระประโทนไว้ให้เป็นโรงเรียนครูมูลกสิกรรม ของจังหวัดนครปฐม คือประถมวิสามัญตามแผนศึกษานั้นเอง โรงเรียนครูมูลกสิกรรม ภายหลังได้เกิดขึ้นเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดอีกหลายจังหวัด สำหรับเป็นโรงเรียนตัวอย่างในทางจัด ประถมวิสามัญกสิกรรม กับเป็นที่เพาะครูสำหรับสอนวิชากสิกรรมในโรงเรียนประชาบาลของจังหวัดเองไปในตัวด้วย ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคก็ได้เกิดขึ้นทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งบัดนี้มารวมอยู่ ณ เชียงใหม่ แห่งเดียว ที่อื่น ๆ ได้เข้ารูปเป็นมัธยมวิสามัญไป

ในการเพาะครูกสิกรรมเพื่อจะไม่เอา “เป็ดขัน” นี้ ทางการได้เริ่มส่งนักเรียนไปเรียนวิชากสิกรรมที่ยุโรป อเมริกา และฟิลิปปินส์ตั้งแต่ต้นมือ เป็นจำนวนอย่างมากที่พอจะเจียดได้จากทุน สามัญศึกษา นักเรียนเหล่านี้ ผู้สำเร็จวิชามาจากต่างประเทศ ได้มาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนฝึกหัดครู ประถมกสิกรรมของเรา โดยลำดับ และบัดนี้ได้เป็นกระดูกสันหลังทั้งของกสิกรรมและของ การศึกษากสิกรรมเห่งสยามประเทศ

แท้จริงงานจัดศึกษากสิกรรมของเราก็เป็นงาน pioneer คือ เป็นงานเริ่มอยู่บ้าง เพราะถึงวิทยาศาสตร์กสิกรรมสมัยโน้น จะได้ก้าวหน้าไปมากพอใช้แล้วก็ดี แต่การศึกษากสิกรรมแผน ศึกษาชาติยังเป็นของใหม่อยู่ งานไพโอเนียของผู้เริ่มเป็นธรรมดาต้องเป็นงานทดลอง อะไรผิดก็แก้กันไป เป็นงานที่เดินวกเวียน แทนที่จะเดินตามเส้นตรงเหมือนงานที่มีถูกเป็นครูผิดเป็นครู ให้ถือเป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว การจัดศึกษากสิกรรมของเราเข้าทำนองนี้ จึงมีการก้าวหน้า ชะงักและถอยหลังเมื่อ เปลี่ยนคนและสติปัญญาบ่อย ๆ โครงการนั้นได้กลายเป็นกลิ้ง ครกขึ้นภูเขา หรือพายเรือทวนน้ำ หรือผ่ามรสุมมิได้หยุดหย่อน อย่างไรก็ดี ผลของการที่ได้เตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ ได้ช่วยให้เรามีพื้นเป็นล่ำสันอยู่บ้าง และคนที่เราได้เตรียมไว้ก็น่าชื่นใจที่ได้เป็นชีวิตสำคัญ แห่งการกสิกรรมและการศึกษากสิกรรมในบัดนี้

ผู้เขียน: เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
จากหนังสือ แม่โจ้ 2479
illustration: rawpixel