โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม

by

|

in

ในปี พ.ศ. 2477 สมัยพระสาสน์ ประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ในระยะนี้เนื่องจากนโยบายในการศึกษาการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป กวี จุติกุล (2527) ได้ระบุว่า กระทรวงธรรมการเห็นว่า  โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่มีอยู่ 3 แห่งนั้น  ผลิตครูเกษตรมากเกินความต้องการ เกรงว่าจะไม่มีงานทำ  พระช่วงเกษตรศิลปาการ หลวงอิงคศรีกสิการ และหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อาจารย์ใหญ่ทั้งสามท่านจึงได้เสนอโครงการเพื่อขอให้คงการฝึกหัดครูกสิกรรมไว้ 1 แห่งที่แม่โจ้

เทพประสงค์ วรยศ (2524) ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ปี พ.ศ. 2478  กระทรวงธรรมการมีนโยบายจะยุบเลิกโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้งหมด  แต่คณาจารย์ทางเกษตรโดยเฉพาะท่านอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง  3  แห่ง  ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนนี้มาด้วยความเหนื่อยยากได้ทัดทานขอให้โรงเรียนประเภทนี้คงอยู่  ซึ่งถ้าจะยุบเลิกจริงก็ขอเหลือไว้สัก  1  โรงเรียนทำการเพาะครูกสิกรรมให้มีใช้ต่อไปก่อน  เพราะประเทศยังต้องการครูกสิกรรมอยู่มาก  และเมื่อหมดความต้องการแล้วจึงยุบเลิกทั้งหมด  สำหรับวิชาการเกษตรก็ควรจะให้มีสอนอยู่ทั้งในระดับประถมและมัธยม  ซึ่งในขณะนั้นมีสอนแต่ในระดับประถมอยู่แล้วเรียกว่าโรงเรียนวิสามัญเกษตรกรรม  ท่านทั้ง  3  เห็นควรให้เปิดสอนในระดับมัธยมเพิ่มขึ้น  เพื่อเพาะเกษตรกรระดับกลางให้เกิดขึ้นโดยตรงพร้อมกันไป  เมื่อกระทรวงธรรมการได้รับฟังเหตุผลก็ตกลงให้ท่านคณาจารย์ทั้ง  3  จัดร่างโครงการ  โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมจึงถูกร่างขึ้น  โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

  1. ผู้สำเร็จการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เข้าเรียนต่อหลักสูตร  4  ปี (มัธยมวิสามัญเกษตรกรรมปีที่  5-6-7-8)  เมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมบริบูรณ์แผนเกษตรกรรม
  2. ให้เปิดสอนทุกภาคของประเทศคือ ภาคเหนือ  ภาคอีสาน  ภาคใต้  และภาคกลาง  เพื่อสะดวกแก่นักเรียนทุกภาคมีที่เรียน  ไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกลบ้าน  และได้ศึกษาปัญหาการประกอบอาชีพเป็นของแต่ละภาคอย่างแท้จริง
  3. ผู้ที่เรียนสำเร็จตามหลักสูตรนี้  มีทางที่จะประกอบอาชีพ  3  ทางคือ

3.1  ถ้าต้องการประกอบอาชีพการเกษตร  ทางราชการจะจัดสรรที่ดินทำกินให้คนละ  20  ไร่  และให้อุปการะในรูป  “กสิกรนิคมแม่โจ้” และมีเงินให้ยืมทำทุนด้วย

3.2  ถ้าจะไปเป็นครูก็จะให้เรียนวิชาการครูต่ออีก  1  ปี

3.3  ถ้าเข้าทำงานในกระทรวงเกษตราธิการ  ก็ให้เรียนวิชาการของกรมเกษตรต่ออีก  1  ปี

เมื่อโครงการนี้เสนอถึงกระทรวงธรรมการ  กระทรวงก็เห็นชอบด้วย  และในปีนี้เองกระทรวงธรรมการจึงสั่งงดรับนักเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม  ที่ภาคใต้  คอหงส์  และภาคอีสาน  โนนวัด  แต่อนุญาตให้ทำการสอนนักเรียนที่จะเรียนเป็นปีที่  2 (ที่มีอยู่เดิม) จนสำเร็จต่อไป  คงให้รับได้ที่ภาคเหนือแม่โจ้เพียงแห่งเดียว  แต่ให้ทุกแห่งเปิดรับนักเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นแทนทุกแห่งพร้อมกัน  โดยให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นสำหรับภาคกลาง  ที่บางกอกน้อยอีกโรงเรียนหนึ่งด้วย  เฉพาะภาคอีสานที่โนนวัดยังไม่พร้อมจึงให้เปิดรับในปีถัดไปเพียงแห่งเดียว

ปี พ.ศ.  2478  นี้ที่แม่โจ้ได้รับนักเรียนฝึกหัดครูเข้าใหม่รวม  84  คน  และนักเรียนวิสามัญเกษตรกรรม  200  คนเศษ  ทางโรงเรียนได้งบประมาณขยายงานเพิ่มอีกมาก ต้องขยายพื้นที่ข้ามห้วยแม่โจ้ไปทางใต้  เป็นฝั่งพื้นที่ ๆ  อยู่ของนักเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม  จัดสร้างบ้านพักชั่วคราวเพิ่ม  5  หลัง  คือบ้าน ก. ข. ค. ง. จ.  ทางฝั่งฝึกหัดครูก็สร้างขึ้นอีก  3  หลัง  เป็นบ้าน  3-4-5  (บ้าน  1-2  มีอยู่เดิม)  ระยะกลางปีได้สร้างอาคารเป็นหออำนวยการของโรงเรียนที่ถาวร  พื้นคอนกรีต  เสาไม้จริง  4  เหลี่ยม  ชั้นล่างโปร่งใช้เป็นห้องสมุด  ชั้นบนเป็นพื้นและฝาไม้จริง  แบ่งเป็นห้องใหญ่ ๆ  หลายห้อง  หลังคามุงกระเบื้อง  อาคารนี้ได้สร้างขึ้นโดยเงินของคณะหนังสือพิมพ์กสิกรชุดริเริ่ม  ด้วยเงิน  844  บาท  ชุดดินถมพื้นเป็นแรงงานนักเรียน  อาคารชั้นเดียวพื้นคอนกรีตฝาไม้หลังคามุงกระเบื้องใกล้กับหออำนวยการ  ใช้เป็นหอวิทยาศาสตร์  และบ้านพักครูอาจารย์เป็นบ้านถาวรก็ได้สร้างเพิ่มขึ้นอีก  10  กว่าหลัง  ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอย่างผิดไปจากสภาพของโรงเรียนเมื่อปีที่แล้วมากขึ้น  นักเรียนก็มากขึ้น  ครูอาจารย์ก็เพิ่มมากขึ้น  อาจารย์สวัสดิ์  วีระเดชะ  ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหม่ที่โรงเรียน ฝึกครูประถมกสิกรรมคอหงส์  จังหวัดสงขลา  เพราะอาจารย์เริ่ม  บูรณะฤกษ์  ผู้รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ (แทนคุณหลวงสุวรรณวาจากสิกิจ  ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรและการประมง)ลาไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา  กระทรวงธรรมการจึงได้แต่งตั้งอาจารย์พนม  สมิตานนท์  B.Sc.Agr. มาแทน  พร้อมกับส่งครูมาเพิ่มอีกหลายท่านได้แก่      ครูอ่ำ  อุ่นใจ  ป.ม.ก.  ครูรีบ  ชาญวิจิตร ป.ม.ก.  ครูดี  ธรรมวงศ์  ป.ม.ก.  ครูหมอรส  นิลแก้ว  (พนักงานพยาบาลสอนวิชาสุขวิทยา)  ครูช่วง  ปริปุณณะ  ป.ม.ก.  ครูเชิด  มุนิกานนท์  ป.ม.ก.        ครูนายดาบใช้  ชัยฉ่ำ  ป.ม.ก.  ครูบุญชัก  ประดิษฐ์กุล  ป.ม.ก.  อาจารย์ขุนจรรยาวิจารณ์  ป.ม.  (อาจารย์ผู้ปกครอง)  อาจารย์นกุล  มฤคทัต อ.บ.  ครูเด็ม  ศรีเพริศ  ป.ม.  ธ.บ.

กวี จุติกุล (2527) ระบุว่า ตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2475 การศึกษาเกษตรนอกจากโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม  ซึ่งเทียบระดับมัธยมปลาย (ม.7-ม.8) แล้ว  มีโรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม    (ป.5-ป.6) และโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม (ม.5-ม.8)  ส่วนกระทรวงเกษตราธิการนั้น  ได้เปิดโรงเรียนวิชาชีพเฉพาะอีก 1 โรงเรียนในปีพ.ศ. 2478 คือ โรงเรียนป่าไม้ หลักสูตร 2 ปี  ที่จังหวัดแพร่  ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้ยุบรวมไว้ในคณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแยกดำเนินการในฐานะโรงเรียนตามลักษณะเดิม สังกัดกระทรวงเกษตรในปี พ.ศ. 2499 จนถึงปัจจุบัน  นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2479 ได้มีแผนการศึกษาชาติใหม่  ประถมศึกษาเหลือเพียง 4 ปี โรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรมจึงถูกยุบและเปลี่ยนการเปิดระดับอาชีวศึกษาชั้นต้นจากผู้สำเร็จประถมศึกษาจนถึงปี พ.ศ. 2487 จึงงดรับระดับนี้  เพราะไม่มีผู้นิยมเรียน  แม้ว่าจะให้ทุนค่าเล่าเรียน หอพักและอาหาร  นอกจากนั้นผู้สำเร็จการศึกษาก็ไม่ได้ไปประกอบอาชีพเกษตร  สำหรับระดับอาชีวศึกษาชั้นกลาง (ม.4-ม.6)  รับผู้สำเร็จมัธยมต้น (ม.3)  ในสายเกษตรได้เปิดในบางจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา สุรินทร์ นครปฐม นครศรีธรรมราช สงขลา น่าน ชลบุรี นครราชสีมา ระดับนี้ยังมีผู้นิยมเรียนเนื่องจากไปเป็นครูประชาบาลได้ แต่ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังไม่ไปประกอบอาชีพเกษตรเช่นกัน ระดับอาชีวศึกษาชั้นสูง หลักสูตร 3 ปี รับผู้สำเร็จมัธยมปลาย  (ม.6) เปิดแห่งเดียวที่แม่โจ้ จนถึง พ.ศ.2481 จึงยุบเลิก

ในปีเดียวกันนี้โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมทั้งหมด (4 แห่ง) ถูกโอนไปสังกัดกระทรวง        เกษตราธิการ และยุบรวมเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้ หลักสูตร 3 ปีระดับอนุปริญญา เป็นการเริ่มต้นการศึกษาเกษตรระดับอุดมศึกษาอีกครั้งหนึ่งโดยกระทรวงเกษตราธิการ  ในด้านสถาบันวิชาชีพเฉพาะกระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งโรงเรียนช่างชลประทาน หลักสูตร 3 ปีขึ้นในปี พ.ศ.2481  โดยสังกัดกรมชลประทาน เพื่อทดแทนโรงเรียนกรมคลองที่ได้หยุดดำเนินการไป ในปี พ.ศ.2482  วิทยาลัยเกษตรศาตร์ได้ย้ายจากแม่โจ้ไปตั้งที่บางเขน  ส่วนแม่โจ้ได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์ แม่โจ้  รับผู้สำเร็จมัธยมปลาย หลักสูตร 2 ปี

จากโรงเรียนเป็นวิทยาลัย

ในปีนี้ถ้าจะมีสิ่งใดที่พวกเราควรพากันดีใจแล้ว สิ่งนั้นควรจะเป็นเพราะโรงเรียนของเราได้เลื่อนฐานะจากโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม เป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และออกจากกระทรวงธรรมการ มาอยู่ในอ้อมแขนของกรมเกษตรฯ โดยเฉพาะ ไม่แต่พวกเราเท่านั้นที่ควรจะดีใจ ประชาชนทั่วไปก็พากันดีใจไม่น้อยที่ได้แลเห็นความเจริญของการศึกษาในวิชาการเกษตรกรรม เฉพาะอย่างยิ่งประเทศของเราก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นที่หวังใจได้ว่า ในไม่ช้าเราคงจะเทียมทันอารยะประเทศทั้งหลาย สมเป็นประเทศกสิกรรมและมีการกิกรรมเป็นกระดูกสันหลังโดยแท้

ปี พ.ศ.2481 จัดตั้งเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับ ธนิต มะลิสุวรรณ (๒๕๔๗) ที่ระบุว่า กระทรวงธรรมการ ได้โอนโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมให้กับกระทรวงเกษตราธิการ โดยยุบรวมแห่งอื่น ๆ ที่บางกอกน้อย   โนนวัด คอหงส์และที่แม่โจ้ และจัดตั้งเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้เพียงแห่งเดียว หลักสูตร 3 ปี ระดับอนุปริญญา โดยรับผู้สำเร็จชั้นมัธยม 8  สำเร็จแล้วบรรจุเป็นข้าราชการชั้นตรี อันดับ 1 อัตราเงินเดือน 80 บาท ตกลงในปีเดียวกันนี้ แม่โจ้จึงเป็นทั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.ปีสุดท้าย) มัธยมวิสามัญเกษตรกรรมและวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามลำดับ โดยมีพระช่วงเกษตรศิลปะการเป็นผู้อำนวยการ

กลางปี พ.ศ.2481 พระช่วงเกษตรศิลปการ ได้ย้ายไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตร ที่กรุงเทพฯ อาจารย์จรัส สุนทรสิงห์ มารักษาการแทน

ศิษย์แม่โจ้ รุ่น 1 (2531) ได้บันทึกไว้ว่า ผลงานที่ท่านอาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการได้ปฏิบัติขณะเป็นอาจารย์ใหญ่เป็นเวลา 5 ปีนั้น มาสามารถจะนำมาเรียบเรียงได้ทั้งหมด เพราะมีมากมายด้วยกัน จึงขอนำกล่าวเฉพาะที่เห็นว่าเป็นเรืองที่ควรจะทราบ เป็นการประกอบประวัติตามสมควร ดังนี้

  1. เพื่อจัดหาน้ำดื่ม ได้เจาะบ่อบาดาลลึก 60 ฟิต แต่ได้น้ำที่ใช้ดื่มกินไม่ได้ จึงได้จัดทำน้ำประปาตามแบบที่ใช้กรองด้วย กรวด หิน และทราบหยาบ แล้วหยดคลอรีนผสม เป็นผลให้นักเรียนและครูตลอดจนครอบครัวและคนงาน ได้มีน้ำสะอาดดื่ม ในระยะเริ่มแรกที่ตั้งโรงเรียน
  2. การจัดหาน้ำเพื่อใช้อุปโภค ทั้งคน สัตว์ และพืช โดยที่ระดับน้ำในห้วยแม่โจ้ที่ไหลผ่ากลางบริเวณของโรงเรียน จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ระดับน้ำในห้วยมีน้อยมาก จึงได้ขุดเป็นคลองรับน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ (คลองชลประทานเหมืองแม่แฝก) ซึ่งไหลผ่านตลอดพื้นที่ๆติดกับบริเวณด้ายตะวันออกของโรงเรียน เป็นคลองรูปตัววี ขนาดปากคลองกว้าง 3 เมตร มีประตูปิดเปิดกักและระบายน้ำทั่วบริเวณโรงเรียน และนักเรียนก็พลอยได้รับประสบการณ์ในการใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกในระบบชลประทานขนาดย่อมๆไปด้วย เพราะท่านอาจารย์ท่านเคยสอนเราอยู่เป็นนิจว่า “การจะพัฒนาอาชีพการเกษตรของประเทศเราให้เจริญมั่นคงได้นั้น ต้องอาศัยการชลประทานเป็นหลัก”
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประดิษฐ์กังหันน้ำ เพื่อใช้ความแรงของกระแสน้ำที่ไหลอยู่ในคลองรับน้ำของโรงเรียน (ที่ขุดขึ้น) ให้เกิดประโยชน์ คือ

– เพื่อใช้หมุนมอเตอร์ สำหรับใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าหม้อแบตเตอร์รี่ ที่นำไปใช้กับเครื่องโทรศัพท์ และเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง

– เพื่อใช้แรงหมุนยกสากครกกระเดื่องตำข้าว(ใช้สีข้าวจากนาที่ปลูกได้ ส่งให้โรงครัว)

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนและครู ร่วมทุนดำเนินการจัดตั้งร้านค้าตามแบบวิธีการสหกรณ์ จัดการบริการและดำเนินการโดยนักเรียน มีครูเป็นที่ปรึกษา เป็นผลให้นักเรียนและประชาชนของแม่โจ้ได้รับความสะดวกสบาย ในการจะซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ประจำวันได้ดีขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือ งานนี้เป็นส่วนทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในรูปการของการร่วมมือร่วมใจและประโยชน์ ตลอดถึงความมุ่งหมายของสหกรณ์โดยถูกต้องขึ้นในจิตใจ
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประดิษฐ์โทรศัพท์ ติดตั้งใช้งานได้ภายในโรงเรียน สถานีทดลองฯ และบ้านพัก เป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ในการสื่อข่าวภายในอย่างดียิ่ง
  3. สร้างถนน ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ได้แก่

6.1 เริ่มด้วยถนนภายใน คือ ถนนดิน มีร่องระบายน้ำ 2 ข้าง ราดทับหน้าด้วยกรวด ขนาดกว้าง ๔ เมตร จากหน้าสถานีทดลองฯตรงออกหน้าบริเวณโรงเรียนทางทิศตะวันตก ๑ สาย จากคันคลองส่งน้ำสายใหญ่ (เหมืองแม่แฝก) ตรงถึงรั้วหน้าโรงเรียน ๑ สาย จากหัวสนามกีฬาตรงไปทางรั้วด้านหน้าโรงเรียนทางทิศตะวัน ๑ สาย รวม 3 สาย เป็นระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร ถนนขนาดกว้าง 6 เมตรจากถนนสายสถานีทดลองฯ ตัดตรงผ่านหน้าโรงครัวทางด้านทิศตะวันออก ผ่านถนนสายกลาง ผ่านข้ามคลองรับน้ำและข้ามห้วยแม่โจ้ และผ่านถนนสายกีฬาจรดประตูโรงเรียนทางทิศใต้ ถึงถนนใหญ่สายแม่โจ้ อำเภอสันทราย ความยาวประมาณ ๓ กิโลเมตรเศษ

6.2 ร่วมมือกับอำเภอสันทราย สร้างถนนสายแม่โจ้ อำเภอสันทราย โดยแบ่งงานกันทำฝ่ายละครึ่งเส้นทาง เป็นถนนดินถมพื้นเรียบมีร่องระบายน้ำทั้ง 2 ข้างถนน เมื่อทำเสร็จรถยนต์วิ่งได้ เฉพาะฤดูฝนก็ยังไม่สะดวกนัก ในฤดูแล้งต้องซ่อมผิวหน้าทุกปี แต่ก็ได้อาศัยกันตลอดมา จนกระทั้งได้รับการบูรณะจากกรมทางหลวงแผ่นดินเป็นถนนสันทราย-แม่โจ้ จนปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นถนนสายเชียงใหม่-อำเภอพร้าว และเป็นถนนสำคัญทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ไปแล้วอีกถนนหนึ่ง

  1. สร้างสระว่ายน้ำและสนามกีฬาขนาดมาตรฐาน มีทั้งสนามฟุตบอลและลู่วิ่ง เป็นผลให้นักเรียนมีสนามออกกำลังกายฝึกซ้อมและได้ประลองแข่งขันกันเป็นประจำตลอดมา
  2. แสวงหาทุน เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่โรงเรียนคือ

8.1 ได้รับความช่วยเหลือจาก คระผู้จักทำหนังสือพิมพ์กสิกร บริจาคเงินจำนวน 844 บาท ให้เป็นทุนจัดสร้างหออำนวยการของโรงเรียน (เป็นทุนเริ่มต้น)

8.2 จัดให้นักเรียนออกแสดงละครและวิพิธทัศนาที่ในเวียง เพื่อหาทุนต่อขยายโรงพยาบาลของโรงเรียนให้กว้างและเพิ่มเตียงคนไข้ให้พักนอนรักษาตัวได้ 8 เตียง

8.3 ด้วยความระมัดระวังอย่างละเอียดรอบครอบ เมื่อสิ้นปี มีเงินเหลือจากการประกอบอาหารของโรงครัว ที่ประชุมนักเรียนมีมติให้ใช้เงินนั้น เป็นค่าพาหนะพานักเรียนรุ่นแรก จำนวน 46 คน เดินทางไปทัศนศึกษานอกสถานที่ จังหวัดพระนคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน และจังหวัดลพบุรี

  1. โดยเงินงบประมาณ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวร ดังนี้

พ.ศ. 2478

– สร้างบ้านพักครูเป็นเรือนไม้จริงชั้นเดียว ยกพื้นสูงหลังคามุงกระเบื้อง รวม 6 หลัง

– สร้างโรงพยาบาลเป็นเรือนไม้จริง ชั้นเดียว ยกพื้นสูงจากดิน ๑ เมตร หลังคามุงกระเบื้อง มีห้องตรวจโรค ห้องยาและห้องพักคนไข้ได้ ๒ คน

– สร้างโรงอาหารเสาไม้จริง พื้นคอนกรีต กั้นด้วยลูกกรงไม้ สูง ๑ เมตร โดยรอบมีประตูปิดเปิดทุกด้าน หลังคามุงด้วยสังกะสี

พ.ศ. 2477 – 2478

– สร้างหอพักนักเรียนแบบชั่วคราว เสาไม้ทุบเปลือก พื้นไม้จริง ชั้นเดียว ยกพื้นสูงจากดิน 1.20 เมตร คร่าวฝาและคร่าวหลังคาเป็นไม้ทุบเปลือก หลังคา ฝา บานประตู หน้าต่าง มุงด้วยใบตองตึง จุผู้พักอาศัยหลังละ 40 คน จำนวน 9 หลัง

พ.ศ. 2479

– สร้างบ้านพักครูแบบถาวร เพิ่มอีก ๖ หลัง

พ.ศ. 2480

– สร้างบ้านพักนักเรียน เป็นแบบถาวร ไม้จริงทั้งหมด ยกพื้นสูงจากดิน 2.90 เมตร ชั้นล่างเทคอนกรีต กั้นลูกกรงไม้เป็นฝา หลังคามุงกระเบื้อง ขนาดพักอาศัยได้บ้านละ 30 คน จำนวน 5 หลัง

– ปรับขยายสนามกีฬาเก่าให้กว้าง ใช้เป็นสนามฟุตบอล สนามรักบี้ และสนามกีฬาตามแบบมาตรฐาน

 

ปี พ.ศ.2482 เป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์

ธนิต มะลิสุวรรณ (๒๕๔๗) ได้พรรณนาไว้ว่า  เมื่อวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ย้ายจากแม่โจ้ไปตั้งที่บางเขน ที่แม่โจ้จึงได้ถูกจัดตั้งเป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์ รับผู้สำเร็จชั้นมัธยมปลาย (ม.6 สายสามัญ) หลักสูตร 2 ปี สำเร็จแล้วเข้าศึกษาต่อได้ที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ เป็นผู้อำนวยการฯ

ศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ ได้ย้ายไปกรมเกษตร ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อปี พ.ศ.2484 อาจารย์ประเทือง ประทีปเสน จึงรักษาการผู้อำนวยการฯ ต่อจนถึงปี พ.ศ.2486