รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น การสัมมนาวิชาการ กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง ประจำปี 2555 เรื่อง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวสายพันธุ์แม่โจ้ 2 จากข้าวเจ้าหอมพันธุ์ปทุมธานี 1 ด้วยวิธีผสมกลับ และใช้โมเลกุลเครื่องหมายช่วยในการคัดเลือก
หน่วยงานเจ้าของรางวัล: สำนักวิจัย และพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เนื่องจากยังไม่มีพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณลักษณะที่มีกลิ่นหอม ต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง ที่สามารถปลูกได้ทุกฤดูได้อย่างครบถ้วน แต่พันธุ์ข้าวเจ้า ต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง มีจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดว่าน่าจะเปลี่ยนข้าวเจ้าพันธุ์ดีที่มีอยู่มากมายและเป็นข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงต้นเตี้ย รวมทั้งต้านทานต่อโรคและแมลงต่าง ๆ มาปรับปรุงให้เป็นข้าวเหนียวได้ เพื่อให้ข้าวเหนียวมีคุณลักษณะเหมือนกับข้าวจ้าวพันธุ์ดีโดยในช่วงปี 2547-2552 เป็นช่วงเวลาที่ใช้ความรู้ทางพันธุศาสตร์โมเลกุลมาประยุกต์เข้ากับการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม ในขณะนั้นการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลมาช่วยในการคัดเลือกยังไม่แพร่หลาย ขั้นแรกของการปรับปรุงพันธุ์เกิดจากข้อสงสัยแล้วค่อยทดลอง จึงเกิดแนวความคิดปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพันธุ์ดีที่เป็นข้าวเจ้าหอม ต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง คือ ข้าวเจ้าพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้เป็นข้าวเหนียวโดยใช้วิธีผสมกลับโดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก จนสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวได้สำเร็จ กระทั่งปี 2553 จึงนำจัดแสดงในงานประชุมข้าวแห่งชาติ ครั้งปฐมฤกษ์ มีนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องข้าวให้ความสนใจ และสอบถามกันอย่างมากมาย ต่อจากนั้นในปี 2554 ศ.ประดิษฐ์ พงศ์ทองคำ ได้แนะนำให้ส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2555 จากสภาวิจัยแห่งชาติ จนได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในชื่อผลงาน ข้าวเหนียวหอมต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสงสายพันธุ์ “แม่โจ้ 2” หลังจากที่ได้รับรางวัลในครั้งนั้น ก็เริ่มมีการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับหน่วยความเป็นเลิศฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หลายแหล่งมากขึ้น มีการออกนิทรรศการเผยแพร่ผลงานจนได้รับรางวัลในคุณภาพพันธุ์ข้าวต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สำคัญที่กรมการข้าวให้การยอมรับผลงานจึงให้นำเอาสายพันธุ์ข้าว แม่โจ้ 2 เข้าร่วมทดสอบผลผลิตร่วมกับสายพันธุ์ของกรมการข้าว และเป็นไปตามขั้นตอนของกรมการข้าว ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้นสาขาวิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับกลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน กรมการข้าว จึงขอเสนอสายพันธุ์ MJUG04002-927 เข้ารับการรับรองพันธุ์กับกรมการข้าว และผ่านการรับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 ได้ชื่อว่า กข-แม่โจ้ 2 เป็นผลงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกรมการข้าว ตั้งแต่ฤดูนาปี 2558-ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยหน่วยความเป็นเลิศฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับกรมการข้าวได้ผลิตรวงพันธุ์คัด เมล็ดพันธุ์คัด เมล็ดพันธุ์หลัก และเมล็ดพันธุ์ขยายของข้าวเหนียว พันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 เพื่อให้เพียงพอต่อการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกพันธุ์ข้าวนี้ได้ทั่วประเทศ ในขั้นตอนการกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่เกษตรกรนั้น เริ่มจากการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร การจัดนิทรรศการ การแจกเมล็ดพันธุ์ข้าว การทำคลิปความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับพันธุ์ข้าว เนื่องจากเป็นข้าวพันธุ์ใหม่เกษตรกรอาจมีความกังวลทั้งเรื่องการเพาะปลูก โรคแมลงในนาข้าว และข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับพันธุ์ข้าว ทางหน่วยความเป็นเลิศฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ตระหนักถึงปัญหาหรือข้อสงสัยของเกษตรกรดังกล่าว จึงได้มีการสร้างช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับเกษตรกรขึ้น ผ่านทาง โทรศัพท์ Facebook และline application จนเกษตรกรมั่นใจที่จะปลูกข้าวพันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 ทั้งนี้ได้มีการส่งเสริมให้โรงสีรู้จักข้าวพันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 ว่าเป็นข้าวเมล็ดยาวเร็ว เปลือกบาง สีแล้วได้ข้าวสารสวย จะได้รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เดินทางไปยังโรงสีต่าง ๆ เพื่อแนะนำข้าวพันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 นำทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวนึ่งไปให้โรงสีในภาคเหนือดูเพื่อให้โรงสีรู้จักพันธุ์ข้าวในเบื้องต้นและเกิดการยอมรับ สำหรับด้านผู้บริโภคนั้น หน่วยความเป็นเลิศฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้นำข้าวสารมาบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์แบบสุญญากาศ แบบถุง ขนาด 1.5 กิโลกรัม เพื่อจัดจำหน่ายที่กาด 2477 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผ่านมาแล้วประมาณ 1 ปี ได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และรู้จักกันอย่างแพร่หลายผ่านทางสื่อต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้นำผลิตภัณฑ์ข้าวสาร กข-แม่โจ้ 2 เป็นของที่ระลึกให้แก่ผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมหน่วยความเป็นเลิศฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ การแจกฟรี การทำอาหารคาวและของหวานแจกให้ผู้บริโภคที่ทดลองชิม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงานให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมระยะเวลาในการปรับปรุงข้าวพันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 ตั้งแต่ผสมพันธุ์ครั้งแรกจนถึงผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรใช้เวลา ทั้งหมด 13 ปี
ระดับรางวัล (รางวัล): ระดับดีเด่น
ระดับรางวัล (ภูมิประเทศ): ระดับภาค
ปีที่ได้รับรางวัล: พ.ศ.2555
สถานที่รับรางวัล: โรงแรมท็อปแลนด์ พิษณุโลก
ผู้เกี่ยวข้อง: วราภรณ์ แสงทอง, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้