นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรชนบท
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) สาขาการคลัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช 2506 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2508 และสำเร็จ การศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เมื่อปีพุทธศักราช 2531
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เริ่มรับราชการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติเมื่อปีพุทธศักราช 2508 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนา ชนบทและประเทศชาติ อาทิ ปีพุทธศักราช 2515 – 2517 ดำรงตำแหน่งเศรษฐกร ประจำธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ปีพุทธศักราช 2517 – 2519 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2519 – 2525 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปีพุทธศักราช 2524 – 2527 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2525 – 2529 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2529 – 2534 ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2534 – 2535 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีพุทธศักราช 2535 ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปีพุทธศักราช 2535 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีพุทธศักราช 2539 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ปีพุทธศักราช 2540 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในปีพุทธศักราช 2549 – 2551 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นอกจากภาระงานประจำแล้ว นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ยังมีภาระงานพิเศษ คือ ปีพุทธศักราช 2535 – 2543 ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา 2 สมัย และดำรง ตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (สมัยนายกรัฐมนตรีนายบรรหาร ศิลปอาชา) ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดจนรับเป็นผู้บรรยายทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สังคมอย่างสม่ำเสมอ
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ มีผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากร ด้านต่าง ๆ ตีพิมพ์เผยแพร่ อาทิ นโยบายการคลัง สำหรับประเทศด้อยพัฒนา โดยสำนักพิมพ์อำพลวิทยา การคลังของประเทศ โดยโรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ ชนบทจีน : ระบบและการวางแผน โดยสำนักพิมพ์บรรณกิจ ชนบทอีสาน โดยบริษัทสำนักพิมพ์ไทย วัฒนาพานิช จำกัด Seasonal Migration and Employment in Thailand ร่วมกับ นายสมชาย กรุสวนสมบัติ (Development Studies and Information Division, Office of National Economic and Social Development Board) ชนบทไทย : ความก้าวหน้า และความล้าหลัง โดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยและทรัพยากรธรรมชาติกับ การพัฒนาชนบท โดยโรงพิมพ์บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ 1977 จำกัด เป็นต้น
นอกจากผลงานด้านวิชาการแล้ว นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ยังมีผลงานด้าน อาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี คือ เป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มี ความเชี่ยวชาญและผ่านประสบการณ์บริหารประเทศหลายด้าน อาทิ ด้านการเงิน – การคลัง การพัฒนาชนบท และการพัฒนาการเกษตร เป็นผู้กำหนดจุดยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในยุทธศาสตร์ “อยู่ดีมีสุข” และโครงการสนับสนุนปราชญ์ชาวบ้านในภาคต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ การพึ่งตนเองของคนในชนบท เป็นผู้ริเริ่มโครงการสนับสนุนเกษตรกรก้าวหน้า ทั้งใน รูปแบบของการให้สินเชื่อและความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นผู้ริเริ่มนำแนวความคิดหลายประการไปใช้ในทาง ปฏิบัติเพื่อเผยแพร่และเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน คือ เป็นผู้ริเริ่มให้มีแผนพัฒนาชนบท ยากจนขึ้นเป็นครั้งแรก ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เป็นผู้ริเริ่ม นำวิธีการวางแผนที่อาศัยกระบวนการซับซ้อนในลักษณะสหวิทยาการมาใช้กับ การวางแผนพัฒนาประเทศไทย ริเริ่มระบบการวางแผนพัฒนาชนบทแบบบูรณาการ เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาด้านการเกษตรเป็นพิเศษโดยมีโครงการต่าง ๆ อาทิ จัดระบบบริหารการพัฒนาการเกษตร ริเริ่มจัดตั้งตลาดกลางยางพาราขึ้นเป็น ครั้งแรกที่อำเภอหาดใหญ่ ริเริ่มยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ให้ความสำคัญกับการเกษตรตาม แนวทฤษฎีใหม่ในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรผสมผสานแทนการปลูกพืช เชิงเดี่ยว การออกพระราชบัญญัติสวนป่าเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจ จัดทำแผน ระยะยาวป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ริเริ่มให้มีโครงการเกษตรก้าวหน้า ขึ้นในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยเป็นผู้กำหนดนโยบายและแนวทางสนับสนุน เกษตรกร คือ การขยายผลเทคโนโลยีและการบริหารจัดการทางการเกษตร สนับสนุน ด้านสินเชื่อให้เกษตรกรใช้ในการลงทุน และส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยการเชื่อมโยงเกษตรกรก้าวหน้ากับตลาดที่เน้นคุณภาพ
โดยที่ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นผู้ที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่นจนเป็นที่ ยอมรับในวงวิชาการในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ และนักบริหารที่มีกรอบแนวคิดใน การพัฒนาประเทศ และเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจน ปรากฏเป็นที่ยอมรับเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจ ด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ จึงนับเป็น บุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทาน ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรชนบท เพื่อเป็น เกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 32 วันศุกร์ที่ 19 เดือนกุมภาพันธ์ 2553