Skip to content Skip to footer

ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง

(Professor Dr. Yau-Shiang Yang)

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา พืชศาสตร์ (ไม้ผล)

ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง (Professor Dr. Yau-Shiang Yang) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเกษตรจาก National Chung hsing University สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก Mie University ประเทศญี่ปุ่น และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก ToHoku University ประเทศญี่ปุ่น

ในด้านการทำงาน ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน ณ มหาวิทยาลัย National Chung Hsing ประเทศไต้หวัน

ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง ได้ปฏิบัติงานหน้าที่พิเศษต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย National Chung Hsing อาทิ หัวหน้าภาควิชาพืชสวน ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมการเกษตร นอกจากนี้ ยังได้เป็นคณะกรรมการ คณะทำงาน สมาคม วิทยาศาสตร์พืชสวนแห่งประเทศไต้หวัน สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาคมวิทยาศาสตร์ พืชสวน ประเทศญี่ปุ่น สมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์พืชสวนนานาชาติ สมาชิกสมาคมการควบคุมการเจริญเติบโต ของประเทศสหรัฐอเมริกา สมาชิกสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชจีน ของประเทศไต้หวัน สมาชิกสมาคมส่งเสริมการเกษตร ประเทศไต้หวัน เป็นที่ปรึกษางานวิจัยทางด้านไม้ผลหลายชนิด ที่ปรึกษาส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรและการป่าไม้ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา หลักสูตรไม้ผล และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพืชสวน หลักสูตร นานาชาติ ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง เป็นผู้มีความสามารถและ ชำนาญพิเศษ ทางด้านไม้ผล และมีคุณูปการต่อวงการเกษตรของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง ได้เป็นที่ปรึกษา และวิทยากรอบรมด้านไม้ผลให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งยังช่วยจัดหา พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ อีกทั้งเป็นผู้นำ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูก และการผลิตองุ่น และส้มเปลือกร่อนให้แก่มูลนิธิโครงการหลวง ผลการปฏิบัติงาน ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ในด้านการวิจัย ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง เป็นนักวิชาการ ที่มีผลงานวิจัย และผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในระดับชาติ และนานาชาติอย่างต่อเนื่อง อาทิ การศึกษาการเคลื่อนย้าย และการสะสมคาร์บอน 14 ในองุ่นพันธุ์ “เดลาแวร์” ช่วงฤดูร้อน และ ช่วงฤดูใบไม้ร่วง (Studies on retaraslocation of accumulated assimilates in “Delaware” grapevines) การชักนำให้เกิดรากใหม่โดยการตัดแต่ง รากช่วงก่อนแตกแยกยอดอ่อนขององุ่น (The influence of root removal on the early growth of new shoots of grapevines.) อิทธิพลของแคลเซียมไซนาไมด์ และ เมอริทต่อการกระตุ้นการแตกตาดอกขององุ่นพันธุ์ “เคียวโฮะ” (The effect of calcium cyanamide and Merit on the rest breaking of “Kyoho” grapevine.) ผลของการปลิดผลต่อคุณภาพองุ่นพันธุ์ “เคียวโฮะ” ในไต้หวัน (Effect of berry thinning on the quality of “Kyoho” grapes in Taiwan.) ศึกษาการผลิตแคลเซียม ไซยาไมด์ (สารกระตุ้นการออกดอก) ในองุ่น (Studies on the production of calcium Cyanamide as a rest breaker of grapevine.) ผลของการห่อผลต่อคุณภาพผลผลิต องุ่นพันธุ์ “เคียวโฮะ” (Effect of bagging on the quality of “Kyoho” grapes.) ความสัมพันธ์ระหว่างการพักตัวและปริมาณคาร์โบไฮเดรตในองุ่น (The relationshiup between bud dormancy and carbohydrates in grapevine.) ศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างการพักตัวของตาดอกและปริมาณไนโตรเจน ในองุ่น (The relationship between bud dormancy and nitrogen in grapevine.) ศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชมพู่ โดยการใช้ยอดอ่อน (Studies on shoot tip Culture of wax apple in vitro.) ความสัมพันธ์ระหว่างการพักตัวของตาดอก ปริมาณคาร์โบไฮเดรตและ ในโตรเจนในมัลเบอร์รี่ (The relationship between bud dormancy and carbohydrates, nitrogen in mulberry tree.) ซึ่งเป็นผลงานอันทรงคุณค่าทางวิชาการ ยังประโยชน์ต่อวงการไม้ผล ในระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก เป็นที่ปรึกษา วิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ ให้แก่นักศึกษาในสาขาไม้ผล และสาขาพืชไร่ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง ยังเป็นนักวิชาการที่มี ความสามารถในการประสานงานด้านความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัย National Chung Hsing กับสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย Central Luzon state ประเทศฟิลิปปินส์ และ มหาวิทยาลัย Nihon ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนนักศึกษาไทย ในการติดต่อขอรับทุนการศึกษา เพื่อไปฝึกงานในต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุน นักศึกษาไทยให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

โดยที่ ศาสตราจารย์ ดร. เยา เซียง หยาง เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในด้านการเกษตร อีกทั้งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในงานวิชาชีพอย่างโดดเด่น ได้รับการยอมรับ จากองค์กรภาครัฐและเอกชนในระดับนานาชาติ มีผลงานทางด้าน วิชาการเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งได้อุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างอเนกอนันต์ ทั้งในด้านการศึกษา ในด้านบริการวิชาการ และในด้านบริการชุมชน อีกทั้ง เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมอย่างยอดเยี่ยม นับได้ว่า เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา พืชศาสตร์ (ไม้ผล) เพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 33 วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554

Go to Top