Skip to content Skip to footer

ศาสตราจารย์ ดร. แกรแฮม เอช แมคโดเวลล์

(Prof. Dr. Graham H. McDowell)

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา เคมีประยุกต์

ศาสตราจารย์ ดร. แกรเฮม เอช แมคโดเวลล์ สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชา เกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Melbourne ในปีคริสต์ศักราช 1967 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย Sydney ประเทศออสเตรเลีย ในปีคริสต์ศักราช 1470 หลังจากนั้น ได้ใช้เวลา 1 ปี เพื่อทำวิจัยหลังปริญญาเอก ณ Gades Institute of the University of Bergen ประเทศนอร์เวย์

ด้านประวัติการทำงาน ศาสตราจารย์ ดร.เกรแฮม เอช แมคโดเวลล์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการหน่วยวิจัย Dairy Research Unit ณ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระหว่างปีคริสต์ศักราช 1983-1989 ต่อมา ในปีคริสตศักราช 1989-1995 ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขาเกษตรศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัย La Trobe และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพขึ้นตามลำดับ โดยได้รับการแต่งตั้งให้ ดำรงตำแหน่ง Pro Vice-Chancellor และ Deputy Chair of Academic Board ในปีคริสต์ศักราช 1992-1996 และดำรงตำแหน่ง Deputy Vice Chancellor ของ มหาวิทยาลัย La Trobe ในปีคริสต์ศักราช 1996-2006

ศาสตราจารย์ ดร. แกรแฮม เอช แมคโดเวลล์ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ ในด้านการผลิต โคนม -โคเนื้อ แกะ และการจัดการฟาร์ม มีหนังสือ ผลงานวิจัย งานวิชาการที่ตีพิมพ์ ในวารสารวิจัยระดับนานาชาติ ด้านสัตวศาสตร์มากกว่า 100 เรื่อง ซึ่งงานวิจัยของศาสตราจารย์ แมคโดเวลล์ ได้นำเอาศาสตร์ทางด้านเคมีและ ชีวเคมี มาประยุกต์ใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ที่เต้านม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคเต้านมอักเสบของโคและแกะ ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจและวิธีป้องกันที่เหมาะสม สำหรับการรักษาโรคเต้านมอักเสบในสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. แมคโดเวลล์ ยังเป็นผู้นำทีมนักวิจัยศึกษากลไกการทำงานของ Growth hormone หรือ Bovine Somatotropin ที่ฉีดเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนม ในโคนม ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านเคมี ชีวเคมี และการ ใช้สารรังสีในตัวสัตว์ที่มีชีวิต เพื่อศึกษาการใช้สารอาหารชนิดต่าง ๆ ในกล้ามเนื้อและ เต้านมของสัตว์ให้นม ทำให้เข้าใจกลไกการทำงานของ Growth Hormone ต่อการ ปรับเปลี่ยน การใช้สารอาหารในร่างกายของโคนม ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนม

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. แมคโดเวลล์ ยังเป็นผู้ริเริ่ม และดำเนินการ ให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาคุณภาพคณาจารย์และกิจการนักศึกษา ระหว่างมหาวิทยาลัย ในประเทศออสเตรเลียและประเทศในทวีปเอเชีย ผ่านโครงการ ความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ อาทิ โครงการ Three way student exchange program ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยยูนนาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้และ มหาวิทยาลัย La Trobe โครงการ Thailand-Australia Science and Engineering Assistance Project เป็นต้น

โดยที่ ศาสตราจารย์ แมคโดเวลล์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ อย่างโดดเด่น จนเป็นที่ยอมรับจากองค์กรและสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศออสเตรเลียและนานาชาติ อีกทั้งเป็นผู้อุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและวงการ วิทยาศาสตร์อย่างอเนกอนันต์ เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม ในการบำเพ็ญตน เพื่อประกอบกิจการต่าง ๆ ด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จนเกิดประโยชน์ต่อสังคม ในระดับนานาชาติ และเป็นผู้สร้างเสริมสัมพันธภาพทางวิชาการอันดี ระหว่าง ประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติ เหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา เคมีประยุกต์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป

หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 33 วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554

Go to Top