นายนิยม พนายางกูร
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ
นายนิยม พนายางกูร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2485 ระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2486 และระดับเตรียม อุดมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเกษตรศาสตร์แม่โจ้ (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เมื่อพุทธศักราช 25515 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทในกลุ่มไม้อบทวีพรรณ จำนวน 11 บริษัท นายนิยม พนายางกูร เป็นผู้มีผลงาน ทางวิชาการดีเด่น โดยเป็นวิทยากร เรื่อง การปลูกมะม่วงโชคอนันต์ และเทคโนโลยี การใช้ระบบน้ำหยดจากประเทศอิสราเอลเป็นแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่
ด้านผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีนั้น นายนิยม พนายางกูร ได้เป็นผู้นำเทคโนโลยีการอบไม้ การรักษาคุณภาพของไม้ เพื่อป้องกันปลวก มอด เห็ดและรา ให้มีความทนทานเหมือนไม้สักสำหรับ การก่อสร้างบ้านเรือนและโครงหลังคา นำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศออสเตรเลีย เรื่อง การสร้างโครงหลังคาไม้ที่มีความกว้าง 24 เมตร เป็นแห่งแรกและแห่งเดียว ในประเทศไทย และเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการประกอบธุรกิจ ค้าไม้ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการบริษัทในกลุ่มไม้อบทวีพรรณ นายนิยม พนายางกูร ได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลเกียรติคุณ อาทิ เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) จาก กรมการศาสนา ได้รับเหรียญทองจากกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ และได้รับเหรียญทองจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ด้านการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน นายนิยม พนายางกูร เป็นผู้สนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ อาทิ การสนับสนุน การศึกษา สมทบทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ สนับสนุนทุนการดำเนินงานมูลนิธิ ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย และกิจกรรมของมหาวิทยาลัยด้านอื่น อาทิการจัดงานเดิน-วิ่ง โครงการสานฝัน ปันน้ำใจ 70 ปี สร้างสะพานไม้ (สะพานแขวน) ข้ามห้วยแม่โจ้ไปยังสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เป็นต้น
โดยที่ นายนิยม พนายางกูร เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพนั้นจนปรากฏ เป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจ ด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญ ให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติ และมีคุณสมบัติ เหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 37 วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2558