นายโรบินส์ พี. แมคอินทอช จูเนียร์
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ
นายโรบินส์ พี. แมคอินทอช จูเนียร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ สหรัฐอเมริกา (Vanderbilt University, USA) เมื่อพุทธศักราช 2521 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา (South Florida University, USA) เมื่อพุทธศักราช 2523
นายโรบินส์ พี.แมคอินทอช จูเนียร์ มีประวัติการทำงานที่แสดงถึงความรู้ความสามารถอย่างยอดเยี่ยม ในด้านเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ กล่าวคือ มีการวิจัยด้านชีววิทยาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท Weyerhaeuser ฟลอริดา เมื่อพุทธศักราช 2523-2524 ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัยชีววิทยาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ-กุ้ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการทดสอบความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศบราซิล บริษัท Weyerhaeuser มาคาปา ประเทศบราซิล เมื่อพุทธศักราช 2524-2526 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโครงการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากสิ่งมีชีวิตในน้ำ ของสถาบันวิจัยโกลเด้น รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช 2526-2528 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโครงการไทย – ฮาวาย ปากน้ำปราณบุรี จำกัด เมื่อพุทธศักราช 2532-2535 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา บริษัทอุตสาหกรรมกุ้ง กัวเตมาลา เมื่อพุทธศักราช 2534-2538 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป บริษัทอุตสาหกรรมกุ้งกัวเตมาลา เม็กซิโกและฮอนดูรัส บริษัทเบลชเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำกัด เมื่อพุทธศักราช 2538-2544 และดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการอาวุโส ด้านวิจัย พ่อ-แม่ พันธุ์กุ้งทะเล ด้านวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำ กลุ่มธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรมและอาหาร (สัตว์น้ำ) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เมื่อพุทธศักราช 2545
ด้านผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี นายโรบินส์ พี.แมคอินทอช จูเนียร์ ได้เป็นผู้ร่วมพัฒนาธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) ให้มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และ เป็นผู้ก่อตั้งพันธมิตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก (Global Aquaculture Alliance-GAA) รวมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Society for Applied Phycology โดยได้ปฏิบัติงาน ด้วยความมุ่งมั่นในหน้าที่และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รับผิดชอบด้านการวิจัยพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลและสัตว์น้ำต่างๆ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวด ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำของประเทศไทย รวมทั้งประเทศกลุ่มผู้ผลิตกุ้ง ในภูมิภาคเอเชียและโลก
นายโรบินส์ พี.แมคอินทอช จูเนียร์ ได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน โดยร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับงานวิชาการและสถานการณ์การเพาะเลี้ยงกุ้ง ฯลฯ ในงานประชุมวิชาการและสัมมนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่สำคัญของโลกและภายในประเทศต่าง ๆ ท่านมีส่วนสำคัญในการวิจัย และพัฒนาพ่อ-แม่พันธุ์กุ้งทะเลขั้นสูง และนำผลการวิจัยที่ได้ คือ กุ้งขาวแวนนาไม สายพันธุ์ดีที่สุดในโลกมาเผยแพร่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย นำมาซึ่งความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทยและของโลก ทำให้มีความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก นอกจากนี้ยังร่วมเป็นผู้พัฒนาอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก โดยมีส่วนร่วมในการออกแบบก่อสร้างและดำเนินการ ทั้งด้านสถานที่และการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ชีววิทยา-เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กุ้ง และต่อมาได้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโปรแกรม พัฒนาสิ่งมีชีวิตในน้ำให้แก่สถาบันวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ จนได้เป็นผู้จัดการ โครงการเพื่อการพัฒนาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำจืดให้แก่ประเทศเมียนมาร์ และประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยกอบกู้วิกฤตอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งไทย ให้ก้าวเดินต่อไปได้ทันเหตุการณ์และยั่งยืน และได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษา สมาคมกุ้งไทยและสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย รวมทั้งที่ปรึกษาอุตสาหกรรมกุ้ง ของเมืองกัวเตมาลา
นอกจากนี้ นายโรบินส์ พี.แมคอินทอช จูเนียร์ ยังเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจ ด้วยความคิดริเริ่ม จนเกิดประโยชน์แก่สังคม อาทิ การมีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์กับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระหว่างนักวิชาการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คณาจารย์ และนักศึกษาของสถาบันการศึกษา และช่วยผลักดันการใช้พื้นที่ ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเลี้ยงกุ้งละแม จังหวัดชุมพร เพื่อเป็นสถานี ในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พัฒนากุ้งขาวแวนนาไม พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงกุ้งขาว แวนนาไม เป็นต้น ซึ่งเน้นการเลี้ยงกุ้งในเชิงธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยที่ นายโรบินส์ พี แมคอินทอช จูเนียร์ เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่น เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป และเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 38 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2559