Skip to content Skip to footer
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย
ศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2557

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย สําเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาพืชศาสตร์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรลําปาง (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลําปาง) สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาวิชาพืชศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เป็นศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 51 และสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย บรรจุเป็นอาจารย์สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อพุทธศักราช 2536 ดํารงตําแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างพุทธศักราช 2544 – 2545 ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาลําไยแม่โจ้ ระหว่างพุทธศักราช 2548-2550 ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่ายบริการวิชาการ สํานักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร เมื่อพุทธศักราช 2550 ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการ สํานักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร ระหว่างพุทธศักราช 2550-2554 และดํารงตําแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่าง พุทธศักราช 2555-2556 ตามลําดับ ปัจจุบันรักษาราชการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา บ้านดอยก้อม อําเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลําพูน

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย มีผลงานดีเด่นทางวิชาการ โดยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านลําไย จํานวน 11 โครงการ ตีพิมพ์เผยแพร่ ผลงานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 50 เรื่อง เรียบเรียงหนังสือ และเอกสารเผยแพร่เพื่อการเรียนการสอนและเผยแพร่สู่สาธารณะ อาทิ ลําไย การผลิตลําไย การผลิตลิ้นจี่ การผลิตลําไยนอกฤดูอย่างมืออาชีพ คู่มือการจัดสวนลําไยได้คุณภาพ การจัดการทรงพุ่มลําไย ในหนังสือ แม่โจ้ : ศาสตร์แห่งลําไย การผลิตลําไยนอกฤดู เทคนิคการขยายพันธุ์ไม้ผล อีกทั้งยังได้รับ เชิญจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้ร่วมผลิตชุดวิชาการการจัดการผลิตลําไย และชุดวิชาการการฝึกปฏิบัติการจัดการการผลิตพืช นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย ยังผลิตสื่อซีดีความรู้เผยแพร่สู่เกษตรกร นักส่งเสริมการเกษตรและนักวิชาการ อาทิ การตัดแต่งกิ่งลําไย การผลิตลําไยนอกฤดู การผลิตไม้ผลระยะชิด การตัดแต่งลิ้นจี่ ฐานการเรียนรู้การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผลิตโปสเตอร์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร ดังนี้ เทคนิคการตัดแต่งกิ่งลําไยทรงฝาชีหงาย การชักนําการออกดอกของลําไย การดูแล รักษาลําไยในรอบปี การปรับปรุงคุณภาพลําไย การเปลี่ยนยอดพันธุ์ลําไย เทคนิคการตัดแต่งลิ้นจี่ และเผยแพร่ผลงานผ่านรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารด้านการเกษตรต่างๆ อีกทั้งได้รับเชิญเป็นวิทยากร ด้านลําไยจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สถานศึกษา สํานักงานเกษตรอําเภอ สํานักงานเกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน องค์กรท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านลําไย อาทิ การตัดแต่งทรง ฝาชีหงาย การปลูกลําไยระยะประชิด และการผลิตลําไยนอกฤดู ได้รับการเผยแพร่ผลงานสู่เกษตรกรทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย ได้เป็นผู้เริ่มจัดทําฐานการเรียนรู้ การเกษตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ที่สนใจทั่วไป อีกทั้งยังร่วมบุกเบิกการสร้าง สํานักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกด้วย ท่านได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการ พลเรือนดีเด่น ประจําปี 2539 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยประเภททุนวิจัยขนาดกลาง (M) เรื่องการตัดแต่งกิ่งเพื่อลดทรงพุ่มลําไย ในงานวันนักวิจัย ครั้งที่ 1 ปี 2547 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาเกษตร ของสํานักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจําปี 2547 เรื่องการผลิตลําไยคุณภาพดี ต้นทุนต่ำ ได้รับรางวัลดีเด่นการประกวด การจัดทํารายวิชาไม้ผลเขตกึ่งร้อน ด้วยระบบอิเลคทรอนิคส์ ประจําพุทธศักราช 2550 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลําปาง ในโอกาสครบรอบ 35 ปี เมื่อพุทธศักราช 2550 ศิษย์เก่าผู้ประสบผลสําเร็จของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวาระครบรอบ 75 ปี เมื่อพุทธศักราช 2551 และ รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวาระครบรอบ 75 ปี เมื่อพุทธศักราช 2551

      โดยที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย เป็นนักวิชาการ ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสําเร็จในหน้าที่การงาน รวมทั้งบําเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ด้านลําไยที่มีการเผยแพร่ ผลงานอย่างกว้างขวาง และเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศได้นําไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป จึงนับว่า เป็นบุคคลที่มี เกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็น ศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

Go to Top