ต๋าแหล๋ว

ต๋าแหลว” ในภาษาเหนือหมายถึง ตาเหยี่ยว  เป็นเครื่องหมายทางพิธีกรรมตามความเชื่อของคนล้านนา  เพื่อแสดงอาณาเขตที่มีเจ้าของ เขตหวงห้าม และยังเชื่อว่าจะสามารถปกป้องพื้นที่นั้นให้คลาดแคล้วจากภัยพิบัติทั้งปวง และจะนำมาใช้ในพิธีแฮกนาด้วย

“ต๋าแหลว” ทำจากไม้ไผ่ที่จักเป็นตอกแผ่นบาง สานให้เป็นรูปดวงตาเหยี่ยวมีหลายรูปแบบ 

  1. แบบสามเหลี่ยม หรือสามแฉก มีความเชื่อว่าเหมือนมีคนมานั่งท่องบทสวด มะ อะ อุ ตลอดเวลา ซึ่งบทสวดนี้ “มะ” หมายถึง คุณแห่งพระพุทธเจ้า คือ มนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ “อะ” หมายถึง คุณแห่งพระธรรมเจ้า คือ อกาลิโก เอหิปสฺสิโก “อุ” หมายถึง คุณแห่งพระสงฆ์ คือ อุชุปฏิปนฺโน สาวกสงฺโฆ ( สิระ อาสาวดีรส.2553 : 65) เป็นคาถาที่จะช่วยปกป้องไม่ให้ศัตรูหรือภัยอันตรายเข้ามาใกล้
  2. แบบห้าแฉก มีความเชื่อว่าเหมือนมีคนมานั่งท่องบทสวด นะโม พุท ธา ยะ ตลอดเวลา บทสวดนี้เรียกอีกอย่างว่าบทสวดพระเจ้าห้าพระองค์ ซึ่ง “นะ” หมายถึง พระกุกกุสันโธ ใช้เขียนแทน ธาตุน้ำ หรือ อาโปธาตุ “โม” หมายถึง พระโกนาคม ใช้เขียนแทนธาตุดิน หรือปฐวีธาตุ “พุท” หมายถึง พระกัสสปะ ใช้เขียนแทนธาตุไฟ หรือ เตโชธาตุ “ธา” หมายถึง พระสมณะโคดม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ใช้เขียนแทน ธาตุลม หรือวาโยธาตุ ส่วน “ยะ” หมายถึง พระศรีอารยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป หลัง พ.ศ. ๕๐๐๐) ใช้เขียนแทน อากาศธาตุเชื่อว่าบทสวดนี้จะปกป้องภัยอันตรายจากศัตรูทั้งปวงที่จะเข้ามาใกล้
  3. แบบแปดแฉก มีความเชื่อว่าเหมือนมีคนมานั่งท่องบทสวด อิติปิโส ภควโต ตลอดเวลา เป็นบทสวดเพื่อสรรเสริญพระพุทธคุณ เชื่อว่าเป็นบทสวดที่ช่วยป้องกันภูติผีปีศาจและคลาดแคล้วจากอัตรายทั้งปวง
ตาแหลว 5 แฉก

ในภาคเหนือหรือล้านนา ยังมีต๋าแหลวอีกหลายประเภท โดยแบ่งตามการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นต๋าแหลวหลวง ต๋าแหลว 7 ชั้น ต๋าแหลวแม่หม้าย และต๋าแหลวหมาย ซึ่งจะมีการทำลักษณะที่แตกต่างกันไป ในภาคกลางเรียกว่า เฉลว ใช้ป้องกันภัยอัตรายหรือคุณไสย แพทย์พื้นบ้านสมัยโบราณมักใช้ปักไว้ที่หม้อยา เพื่อปลุกฤทธิ์ยาและไม่ให้สิ่งใดเข้ามาละลาบละล้วงเครื่องยา ปัจจุบันเฉลวยังเป็นตราสัญญลักษณ์เภสัชกรรมไทยด้วย

Source: สารคดีผะหญาล้านนา ตอน ฮีตข้าววิถีคนล้านนา โดย นิคม พรหมมาเทพย์
Complier: Yaowapa Kuankhum
Photograph: Yaowapa Kuankhum and Narong Narongchaipanya
Proof Reading: Benjarat Supaudomlerk