การแฮกนาปลูกข้าว


สังคมไทยปลูกข้าวเพื่อการบริโภคมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล เรียกได้ว่า  ข้าวเป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงคนในสังคมไทย  ดังนั้นการผลิตข้าวจึงเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตของคนไทย  การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวบ้านที่มีอาชีพทำนารวมไปถึงการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม  ความเชื่อเกี่ยวกับข้าว สามารถใช้เป็นอุบายให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและสมดุลย์ พิธีกรรมการปลูกข้าวจึงถือกำเนิดขึ้น กลายเป็นวัฒนธรรมสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน  อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผู้ที่ประกอบอาชีพการทำนา

ประเพณีการทำนาของคนล้านนาในสมัยก่อน  จะทำพิธีเคารพเจ้าที่เพื่อขออนุญาติเจ้าที่และสภาพแวดล้อมทั้งปวง  โดยจะมีพิธีกรรม “แฮกนา” หรือแรกนา ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญพิธีกรรมหนึ่งทางด้านการเกษตรที่เกษตรกรจะทำก่อนช่วงฤดูทำนา (ก่อนทำนาปลูกข้าว) ในราวเดือนแปดเหนือหรือเดือนหกใต้  เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง แม่โพสพ แม่ธรณี ที่จะเริ่มทำนา เพื่อให้ได้ผลผลิตดี ไม่มีอะไรมารบกวน  ก่อนการแฮกนาตามความเชื่อจะมีการศึกษาตำราพญานาคในหนังสือปีใหม่สงกรานต์ของแต่ละปีว่าพญานาคหันหน้าไปทางทิศใด เพื่อดูว่าควรจะไถนาไปในทิศทางใด ซึ่งจะไม่ไถนาย้อนเกล็ดพญานาคเพราะมีความเชื่อว่าไม่เป็นมงคล เพราะผาลไถไปไถย้อนเกล็ดนาคผู้รักษาน้ำซึ่งการไถนาย้อนเกล็ดนาค เรียกกันว่า “ไถเสาะเกล็ดนาค”

                                                      “ข้าวเชื้อ” หรือ ข้าวเจื้อ

ส่วนข้าวที่จะนำมาเป็นพันธุ์ข้าวสำหรับหว่าน เรียกกันว่า “ข้าวเชื้อ” หรือ ข้าวเจื้อ ในภาษาเหนือนั่นเอง โดยนำมาล้างทำความสะอาดเพื่อเอาข้าวเปลือกลีบออกและแช่ข้าวเชื้อไว้ในน้ำ 3 วัน แล้วนำออกจากน้ำมาวางไว้บนบก 3 วัน ตามคำที่เรียกกันว่า “น้ำสาม บกสาม”  เพื่อรอให้ข้าวเปลือกงอกราก จากนั้นจะทำการเฝือตีขี้ไถให้แตกหรือเรียกอีกอย่างว่าการไถนาให้ดินแตกออกจากกัน และนำน้ำเข้านาปรับดินหน้านาให้จมปริ่มน้ำเล็กน้อย แล้วทำการเต็กเปี๋ยงหรือการปรับหน้าดินให้เสมอกัน  นำท่อนไม้อกนกมาครืดผิวหน้านาให้เป็นร่องเพื่อแบ่งเป็นแปลงรอการนำข้าวเปลือกพันธุ์หรือข้าวเชื้อมาหว่าน เมื่อครบกำหนดการแช่ข้าวพันธุ์แล้วจึงทำพิธีแฮกหว่าน

พิธีแฮกหว่าน หรือแฮกนาน้อย จะทำเล็กๆ ไม่ใหญ่โต ทำตอนก่อนการหว่านกล้า  เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางและเป็นการเคารพสิ่งแวดล้อม  โดยมีการอัญเชิญพระแม่ธรณีและเทวดาทุกองค์ เพื่อบอกว่าจะเริ่มทำนา โดยจะหว่านกล้าก่อน สัก 1 ไร่ เพื่อทำต้นกล้า  โดยมีสะตวงซึ่งเป็นกระทงที่ทำด้วยกาบ ภายในสะตวง ประกอบด้วย เครื่องบูชา ธงหรือช่อสามเหลี่ยม หมาก เมี่ยง บุหรี่ และอาหารคาวหวาน โดยมีความเชื่อว่าเครื่องบูชาและอาหารเหล่านี้จะส่งถึงเทวดาที่มาชุมนุมกัน และยังมีต้นเอื้องหมายนาซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีอยู่ตามนาทั่วไป นำเอามาใช้ในพิธีกรรมด้วย โดยเอาไปปักไว้ที่ปลายนาและมุมคันนาทุกด้าน  เพื่อบอกให้รู้ว่าที่นาของเรามีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งจะนำไปพร้อมกับ“ตาแหลว”และกรวยดอกไม้ (ตาแหลว ตาหมายถึงดวงตา ส่วนแหลวหมายถึง นกเหยี่ยวหรือเหยี่ยวนกเขา) ซึ่งการนำตาแหลวไปปักไว้ที่คันนามีความเชื่อว่าเหยี่ยวมีสายตาเฉียบคมและกว้างไกล  ใช้เป็นเครื่องลางจะช่วยไม่ให้โรคและแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ มาทำร้ายข้าวกล้าในนาได้ และมีไม้ยันต์นะโมต๋าบอด ยันต์นี้ทำด้วยไม้ แผ่นกว้างประมาณสองนิ้ว ยาวหนึ่งคืบและมีการเขียนคาถากำกับลงไปด้วย มีความเชื่อว่า แมลง  ผี หรือใครก็ตามที่จะเข้ามาทำลายนาข้าว ที่ผ่านยันต์นะโมต๋าบอดเข้ามา ตาของคนที่เข้ามาจะบอด  มองไม่เห็นอะไรในทุ่งนาและไม่มีอะไรให้ทำลาย เป็นความเชื่อในการป้องกันข้าวกล้า การแฮกหว่านหรือการแฮกนาน้อย ผู้ทำพิธีคือหัวหน้าครอบครัว พร้อมด้วยลูกหลานและญาติมิตร  มาร่วมกันทำเพื่อบอกกล่าวว่าพร้อมจะเริ่มทำนาแล้ว เสร็จพิธีก็จะนำข้าวเชื้อที่แช่ไว้แล้วมาหว่านลงแปลง หรือฮิ้ว จนเต็มพื้นนา เรียกว่า “ต๋ากล้า” หรือ “ตกกล้า” ข้าวเชื้อก็จะงอกแตกรากเป็นต้นกล้าข้าวต่อไป

ในการทำนา ช่วงระหว่างรอต้นกล้าเจริญเติบโต ชาวนาก็จะไปไถนาที่เหลือและทดน้ำเข้านา ทิ้งขี้ไถให้แช่น้ำไว้เพื่อรอให้ขี้ไถเหลวเละ เรียกกว่า “ดองขี้ไถ” ทำให้ต้นหญ้าต่างๆ ถูกดองจนเน่าเปื่อยเพื่อเป็นปุ๋ยให้ต้นข้าวในวันข้างหน้า เมื่อเตรียมผืนนาเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาถอนต้นกล้า หรือถ๋กต้นกล้า โดยการถอนต้นกล้านั้นต้องดึงเฉียงขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้ต้นกล้าหลุดจากหน้าดิน แล้วนำต้นกล้ามาฟาดกับฝ่าเท้าด้านในเพื่อสลัดดินให้หลุดออกจากราก แล้วมัดด้วยตอกให้เป็นฟ่อนขนาดเท่ากำมือ นำฟ่อนต้นกล้าไปตัดปลายใบออก แล้วนำมากองรวมกันวางเป็นวงกลมหันรากออกด้านนอก ให้กองสูงราวสองศอก เพื่อบ่มใบต้นกล้าให้เป็นสีเหลืองเมื่อนำไปปลูกแล้วใบต้นกล้าสีเหลืองจะหลุดออกและแตกกอเป็นต้นข้าวใหม่กอใหญ่

                                                      “ฟ่อนต้นกล้า”

การปลูกข้าวกล้า จะมีขึ้นราวเดือนเก้าเหนือหรือเดือนเจ็ดใต้ เรียกว่าปลูกนา การปลูกข้าวเป็นงานที่หนักและต้องใช้แรงงานมาก ชาวมาจึงมาช่วยกันปลูก โดยไม่มีค่าจ้าง เรียกว่า “เอามื้อ” พอปลูกของตัวเองเสร็จก็ต้องไปช่วยปลูกของเพื่อนบ้าน เรียกว่า “ส้ายมื้อ”  เมื่อจะเริ่มปลูกข้าวกอแรก จะมีพิธี “แฮกปลูก” หรือ “แฮกนาใหญ่” โดยมีการหาฤกษ์ยามเช่นเดียวกับการแฮกหว่าน ปกติการปลูกข้าวจะนิยมปลูกในวันกานหรือวันอังคาร วันผัดหรือวันพฤหัสบดี วันสุกหรือวันศุกร์ วันเสาหรือวันเสาร์ โดยจะเลี่ยงวันที่คนโบราณได้บอกต่อๆ กันมาว่าเป็น “วันเสียข้าวเสียของ” หรือวัน “ถูกปากนก ปากจั๊กแต๋น”  หมายถึงวันที่ไม่ถูกกับแมลงศัตรูพืชทั้งปวง คือวันขึ้น 5 6 7 8 9 12 ค่ำ และแรม 6 10 14 ค่ำ ของทุกเดือน ตามวันเวลาของล้านนาการแฮกนาจะไม่ทำในวันผีต๋ามอย คือวันขึ้น 1 2 6 7 9 10 11 12 13 14 ค่ำ และแรม 1 2 5 7 8 10 15 ค่ำ ตามเวลาของล้านนาและตามความเชื่อว่าผีต๋ามอยจะทำให้ผีมาทำลายต้นข้าวให้เสียหาย 

                                “เอื้องหมายนาที่มัดต๋าแหลว และกรวยดอกไม้”

ส่วนการแฮกปลูกหรือแฮกนาใหญ่  จะทำตอนที่จะปลูกข้าว โดยที่จะดูผืนนาของตนเองว่า มีประมาณเท่าไหร่ เพื่อดูขอบเขตผืนนาของตนเองและจะทำพิธีเพื่อทำเขตแดนและบอกกล่าวพระแม่ธรนี  การแฮกปลูกจะต้องเตรียมเสาต๋าแหลวใหญ่ สูงประมาณ  3 เมตร ปลายเสามีไม้ขวางมัดด้วยต๋าแหลว และมัดด้วยสวยดอกหรือกรวยดอกไม้  ไม้ขวางมัดด้วยต๋าแหลวใหญ่หรือต๋าแหลวหลวง เพื่อให้เห็นไปไกล ๆ  ให้ครอบคลุม  มีโซ่สร้อยตอก โดยเอาเส้นตอกมาม้วนเป็นสร้อย 2 สาย มีความหมายว่า มีความสอดคล้องยืดยาว สืบต่อ ปลายสร้อยมีปลาช่อน ทำจากไม้น้ำนอง  คือไม้ที่อยู่ต้นน้ำหรือขุนน้ำ โดยต้องไปอธิฐานขอมาจากป่าต้นน้ำมาทำเป็นรูปปลาช่อน มีความหมายเปรียบเสมือนว่าปลาช่อนอยู่ที่แห่งไหนน้ำก็จะสมบูรณ์ เชื่อว่านาจะไม่ขาดน้ำ 

เมื่อปักเสาเรียบร้อยแล้วก็ยังมีเครื่องประกอบพิธี ท้าวทั้ง 4 โดยมีการตั้งเสาเพื่อวางสะตวงที่ทำด้วยกาบกล้วย ภายในสะตวงมีเครื่องสักการะประกอบด้วย หมาก เมี่ยง บุหรี่ อาหารคาวหวาน อย่างละ 4 และกรวยดอกไม้  โดยวางไว้ทิศตะวันออกเพื่อสักการะท้าวทาระตะ ทิศใต้สักการะท้าววิรุณหะ  ทิศตะวันตกสักการะท้าววิรูปะคะ ทิศเหนือสักการะท้าวอุเวระ  ด้านบนสุดของแท่นคือพญาอิน  ปักช่อสีเขียว แม่นางธรณีข้างล่าง  ปักช่อสีขาว  เชื่อว่าทิศทั้งสี่ เหนือ ตก ออก ใต้ ข้างบนมีพญาอิน ข้างล่างมีแม่ธรณี จะคุ้มครองที่นาให้รอดปลอดภัย  และเตรียมเอื้องหมายนาที่มัดตะแหลวไว้ เพื่อนำไปปักคันนา มีการขึ้นท้าวทั้ง 4 เพื่อเชิญท้าวทั้ง 4 พร้อมด้วย พระอินทร์ แม่พระธรณี โดยให้คนในครอบครัว และญาติพี่น้องมารวมกัน เพื่อบอกกล่าวและเตรียมความพร้อมของทุกคนในครอบครัวที่จะเริ่มทำนาในปีนี้ หลังจากทำพิธีบอกกล่าวแล้ว ก็จะให้ลูกหลานหรือคนในครอบครัว จะนำเอาเอื้องหมายนาที่มัดต๋าแหลว และกรวยดอกไม้ ไปปักหมายคันแดน หรือคันนาทุกแจ่ง แล้วจะบอกให้ทุกคนดูเอาเอื้องหมายนาเป็นที่หมายว่าคันแดนเราถึงไหน เพื่อไม่ให้เกิดการลุกล้ำกันในการทำนา เป็นการบริหารผืนหนาไม่ให้เกิดการขัดแย้ง เหลื่อมล้ำหรือแย่งที่ดินกัน ในความเชื่อว่า ถ้าทำพิธีนี้แล้ว ศัตรูพืช จะมาระรานไม่ได้  เพราะมีต๋าแหลวสูงคอยเป็นเครื่องลาง เป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลผืนนาให้การทำนาได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ

                                                        “การขึ้นท้าวทั้ง 4”

การแฮกนา ไม่ว่าจะแฮกหว่านหรือแฮกปลูก ถ้าถอดองค์ความรู้ออกมาคือการบริหารพื้นที่นา การเตรียมความพร้อมในการทำนา การปันเขตปันแดน ทำให้ชาวนามีความสุข  ไม่ล้ำเขตแดนกัน ลดความขัดแย้ง เกิดความสามัคคีในชุมชน

Source: สารคดีผะหญาล้านนา ตอน ฮีตข้าววิถีคนล้านนา โดย นิคม พรหมมาเทพย์
Complier: Yaowapa Kuankhum
Photograph: Yaowapa Kuankhum
Proof Reading: Benjarat Supaudomlerk