กำเนิดสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ

mjuagri_Page_290
เทพประสงค์ วรยศ, ๒๕๒๔. ได้พรรณนาว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า ม.จ.สิทธิพร กฤดากร แม้ว่าจะทรงเล่าเรียนด้านวิศวกรรมและไม่เคยปรากฏว่าได้ทรงเล่าเรียนวิชาการเกษตรจากสถาบันการศึกษาใด แต่ก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านพืชตอน (พืชไร่) และไร่นาผสมมาก โดยได้ทรงทำการปฏิบัติและทดลองที่ฟาร์มบางเบิดมากว่า 10 ปี พระองค์จึงได้ทรงเชิญ ม.จ.สิทธิพรฯ มาวางโครงการปรับปรุงงานเกษตร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2474 และโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม (กรมเพาะปลูกเดิม) กระทรวงพาณิชย์ ในต้นปี พ.ศ. 2475

จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ประกอบกิจการฟาร์มบางเบิดด้วยหัตถ์ของพระองค์มาอย่างได้ผลเป็นที่ประจักแก่ชาวไทยและแม้ชาวต่างประเทศโดยทั่วไปมาแล้วนี้ พระองค์ท่านได้ตระหนักอย่างแน่ชัดว่าวิธีจะแก้ไขสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้องฟื้นคืนดีขึ้นต้องแก้ที่ชาวนา โดยหาทางปรับปรุงส่งเสริมให้ชาวนารู้จักและนิยมปลูกพืชไร่หมุนเวียนไปกับการทำนา ทั้งต้องส่งเสริมให้มีการทำสวนผักหลังบ้านร่วมกับการเลี้ยงปศุสัตว์ไว้เป็นอาหารบริโภค ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นวิธีบำรุงและอนุรักษ์ดินที่ดีแล้ว ยังเป็นลู่ทางที่สามารถช่วยให้ชาวนามีรายได้จากการประกอบอาชีพหลายหน้า และเป็นพลัง (มูลภัณฑ์กันชน) ที่จะช่วยต่อรองกับบรรดาพ่อค้ามักฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบไปด้วยในตัว แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ประเทศสยามจะมีสินค้าพืชไร่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศได้เงินตราต่างประเทศมาชดเชยการขายข้าวที่กำลังทรุดโทรมขาดดุลการค้ากับต่างประเทศให้ดีขึ้นต่อไป

แนวทางการปรับปรุงส่งเสริมดังกล่าวนี้ ม.จ.สิทธิพรฯ มีนโยบายให้จัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมขึ้นตามท้องที่ในชนบทต่าง ๆ เพื่อนำพันธุ์พืชไร่ ตลอดทั้งพันธุ์ข้าวคุณภาพดีผลผลิตต่อไร่สูงไปทำการทดลองปลูกเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาความเหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นต่าง ๆ พร้อมกับทดลองปศุสัตว์และสัตว์พาหนะให้ได้ผลเป็นตัวอย่างที่ดีแล้วขยายพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ให้แพร่หลาย พร้อม ๆ กับการแนะนำเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการแผนใหม่ให้ถึงกสิกรชาวไร่ชาวนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นการล้มล้างทัศนคติผิด ๆ ที่มีอยู่แก่กสิกรชาวนาให้หมดไปด้วย แต่งานตามนโยบายนี้ก็ยังไม่สามารถจะกระทำได้อย่างทั่วถึงในขณะนั้น เพราะขาดด้วยงบประมาณแผ่นดิน การจัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมจึงดำเนินการตามชนบทได้เพียงภาคละ 1 สถานีเท่านั้น คือ ที่ภาคใต้ ได้จัดตั้งขึ้นที่บ้านชะมวง ตำบลควนเนียง อำเภอกำแพงเพชร (อำเภอรัตภูมิ ปัจจุบัน) จังหวัดสงขลา ปีต่อมาย้ายมาตั้งที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ภาคอีสาน ได้จัดตั้งขึ้นที่โนนวัด (เนินสูง) จังหวัดนครราชสีมา ส่วนที่ภาคเหนือกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการหาสถานที่ๆ เหมาะสมอยู่ ดังนั้นเมื่ออธิบดีกรมตรวจกสิกรรมเสด็จไปตรวจราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ จากหนังสือมีหลักฐานภายหลังว่าในคณะนั้นมีหม่อมเจ้าธานี เสิกสงัด ชุมพล ร่วมเดินทางไปด้วย พระยากัลยาณมิตรได้มีโอกาสรับเสด็จและได้มีโอกาสปรารภกันถึงเรื่องงานส่งเสริมอาชีพกสิกรรม จึงได้ทูลเชิญให้เสด็จไปตรวจดูสภาพพื้นที่อันเป็นป่าแพะในเขตตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างดอนและมีพื้นที่กว้างขวางพอและทางด้านทิศตะวันออกก็กำลังจะมีคลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการชลประมานแม่แฝกผ่านด้วย เมื่อได้ทรงตรวจสภาพพื้นที่โดยทั่วไปแล้ว แม้จะทรงพบว่าเป็นดินปนทรายค่อนข้างมากและดินชั้นล่างเป็นดินกรวดลูกรังอัดแน่น คุณภาพของดินไม่ดีองค์ท่านก็ไม่ถือเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด กลับทรงพอพระทัยและตกลงเอาป่าแพะห้วยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร เป็นที่จัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ

เรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับ หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพันตรี หม่อมเจ้าธานีเสิกสงัด ชุมพล, ๒๕๒๔. ที่ระบุว่า …เมื่อเสด็จกลับถึงประเทศไทย ก็ได้ย้ายไปรับราชการอยู่ในกระทรวงเกษตร (โดยที่ยังเป็นทหารกองหนุน) สังกัดกองสถานีทดลอง กรมการเกษตราธิการ โดยที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้ทรงชักชวนให้ทำงานกับท่าน แต่ก็ยังทรงช่วยราชการกระทรวงกลาโหมอยู่เช่นเสด็จฯ บรรยายวิชาการเกษตรให้แก่นายทหารฝึกหัด (พ.ศ.๒๔๗๓) ยิ่งกว่านั้นได้เสด็จฯ ไปประทับที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปทรงเลือกพื้นที่เพื่อใช้จัดตั้งสถานีกสิกรรม ทรงได้ที่ดินที่แม่โจ้ อันเป็นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์น้อย ทำให้มีผู้สงสัยกันมากจึงต้องทรงอธิบายว่า ถ้าเลือกที่ดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้วมาเป็นพื้นที่ทำการทดลองทางเกษตร ผู้ที่มาทำการทดลองจะไม่มีทางแสดงให้คนทั้งหลายได้เห็นถึงวิธีการปรับปรุงที่ดินให้ดีขึ้นโดยวิธีของหลักวิชาได้เลย ดังนั้นจึงต้องทรงเลือกทำเลที่ไม่สู้สมบูรณ์ เพื่อให้นักการเกษตรในอนาคตได้รู้จักปรับปรุงพลิกพื้นที่อันกันดารให้กลายเป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ขึ้นให้จงได้ พื้นที่แถบนั้นยังเป็นที่ป่า ไม่มีเจ้าของ และอยู่ในบริเวณที่โครงการชลประทานแม่แฝกจะส่งน้ำไปถึงในภายหลังอีกด้วย เมื่อทรงเลือกพื้นที่ๆ เหมาะสมแล้ว ก็ได้ทรงวางผังและทรงควบคุมการก่อสร้างที่พักของเจ้าหน้าที่ เป็นงานหักร้างถางพงซึ่งไม่สู้ปลอดภัยนัก เช่น ปรากฏมีงูเห่าตามมาคุกคามถึงในอาคารชั่วคราวที่ประทับทรงงานอยู่เป็นต้น ประทับได้ปีกว่าก็ทรงย้ายเข้ากรุงเทพฯ และทรงลาออกจากกระทรวงเกษตร แผนงานที่ทรงวางไว้ที่แม่โจ้นั้น พระช่วงเกษตรศิลปการได้ดำเนินการต่อมาจนเป็นสถานีทดลองกสิกรรมที่แม่โจ้ และต่อมาได้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถม กสิกรรม แล้วเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรม คณาจารย์อีกหลายรุ่นดำเนินการต่อมาจนกระทั่งบัดนี้เป็นสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เชียงใหม่

เทพประสงค์ วรยศ, ๒๕๒๔. ได้พรรณนาว่า เมื่อหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เสด็จกลับถึงพระนครแล้ว ปัญหาที่เหลืออยู่ก็อยู่ที่ตัวบุคคลที่จะส่งไปดำเนินการจัดตั้งและดำเนินงาน ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะต้องเป็นผู้มีทั้งความรู้ความสามารถเป็นที่ไว้วางพระทัยขององค์ท่านได้ และที่สำคัญก็ต้องเป็นผู้ที่รักงานนี้อย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ยอมอุทิศตนเข้าไปบุกเบิกและอดทนต่อสู้ต่อภัยธรรมชาติในป่าดงกันดารและห่างไกลแห่งนี้ ในระยะนั้นบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวที่ท่านทรงรู้จักและเชื่อถือไว้วางใจก็มีอยู่ไม่กี่คน เช่น หลวงสุวรรณวาจก กสิกิจ ท่านก็แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ที่คอหงส์แล้ว คุณหลวงองคศรีกสิการ ท่านก็ได้แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคอีสาน ที่โนนวัดแล้ว ดังนั้นที่ยังเหลืออยู่คือ คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ แต่ขณะนั้นทางราชการทหารโดยกระทรวงกลาโหมได้เห็นความสามารถและขอโอนตัวไปวางแผนดำเนินการฝึกอบรบความรู้ทางวิชาการกสิกรรมแก่นายทหารระดับชั้นผู้บังคับหน่วยทหาร และจัดตั้งกองเสบียงสัตว์พาหนะของทหารอยู่ แต่โดยเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนในแผนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ประกอบกับงานทางด้านทหารที่พระช่วงฯ ได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการไว้นั้นเข้ารูปปรากฏผลดีพอที่ผู้อื่นจะรับดำเนินงานนั้นต่อไปได้แล้ว ม.จ.สิทธิพรฯ จึงทรงติดต่อขอตัวพระช่วงฯ คืนจากกลาโหมมาสังกัดที่กรมตรวจ กสิกรรมกระทรวงเกษตรพาณิชยการ (พาณิชย์และคมนาคม เดิม) แล้วทรงมอบงานให้ไปดำเนินการตามนโยบายทันที

วันที่ 12 สิงหาคม 2478 คุณพระช่วงฯ ได้เดินทางขนย้ายครอบครัวจากกองเสบียงทหารบก จังหวัดปราจีนบุรี ถึงจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 2 คนคือนายดาบสุรัต พรหมเสน และนายขัณโฑ โล่เพชร ได้รับการต้อนรับช่วยเหลือด้วยดีจากท่านขุนอภิรักษ์จรรยา (วิญญาต ปุตรเศรณี) ธรรมการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอดีตเป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบรุ่นพี่ โดยได้ติดต่อเตรียมจัดหาบ้านเช่าไว้ให้ เป็นบ้านของนายโปไล้ (ทำงานกองทาง) ตั้งอยู่ที่ข้างวัดดอกเอื้อง ใกล้ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 400 บาท กรมตรวจกสิกรรมได้มอบรถยนต์กระบะบรรทุกยี่ห้อด๊อจช์ชนิด 6 ล้อให้ไว้ใช้ในราชการ 1 คัน เมื่อนำครอบครัวเข้าอยู่อาศัยบ้านพักเรียบร้อยแล้ว คุณพระช่วงฯ ก็ได้ศึกษาสภาพพื้นที่ ๆ จะไปปฏิบัติงานและเส้นทางคมนาคมจากผู้รู้ แต่ก็มีอยู่ไม่กี่คนในขณะนั้น ที่จะรู้จักหมู่บ้านแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทรายดี เมื่อนำความรู้ที่หาได้ประกอบกับความรู้ที่ได้จาก ม.จ.สิทธิพรฯ ก็พอสรุปได้เลา ๆ ว่า ต้องเดินทางโดยรถยนต์ได้เพียงถึงอำเภอสันทรายเท่านั้น (ระยะทางประมาณ 10 ก.ม.) ต่อจากนั้นมีแต่ทางเกวียนแคบ ๆ รถยนต์เดินไม่ได้ ต้องเดินทางต่อด้วยเกวียน หรือม้า จักรยานก็ใช้ไม่ได้เพราะทางเป็นทรายมาก ถ้าจะเดินด้วยเท้าต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะทางคดเคี้ยวลุ่ม ๆ ดอน ๆ และทรายมาก เส้นทางลัดที่สุดก็ไปตามทางเกวียนที่เลาะไปตามแนวคันคลองส่งน้ำเหมืองแม่แฝกที่กำลังขุดและ ตบแต่งยังไม่แล้วเสร็จ เป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,030 ฟิต ห่างไกลจากพระนครประมาณ 770 กิโลเมตร

วันที่ 14 สิงหาคม 2476 ตรงกับวันจันทร์แรม 8 ค่ำเดือน 9 ปีระกา เป็นวัน (ดี-เดย์) ที่คุณพระช่วงบุกเข้าดงแม่โจ้ เดินทางโดยรถยนต์ด๊อจซ์กะบะของหลวง พร้อมด้วยนายดาบสุรัต พรหมเสน และนายขัณโฑ โล่เพชร (ทำหน้าที่เป็นพลขับ) ได้แวะที่สำนักงานชั่วคราวโครงการ ชลประทานเหมืองแม่แฝกได้แนะนำตัวทำความรู้จักกับหลวงสินธุกิจปรีชาหัวหน้าโครงการ (ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีกรมชลประทาน) แล้วเดินทางต่อถึงที่ว่าการอำเภอสันทราย ขุนพิจารณ์ประชากิจ นายอำเภอได้ต้อนรับอำนวยความสะดวกให้ยืมม้าขี่เป็นพาหนะพร้อมคนนำทาง เมื่อได้หาซื้ออาหารกลางวันรับประทานกันแล้ว (ยังไม่เที่ยงวันแต่ต้องรองท้องไว้ก่อนในป่าไม่มีขาย) ฝากรถยนต์ไว้ที่อำเภอ แล้วเดินทางต่อไปตามทางเกวียนในป่าเลาะไปตามเนินมูลดินคันคลองชลประทานเป็นทางลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่พบปะผู้คนเพราะเป็นเส้นทางเดินเข้าป่าไม่ค่อยมีคนใช้เส้นทางนี้มากนัก เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงเศษก็บรรลุเข้าถึงดงไม้ป่าโปร่งที่เรียกว่าดงแม่โจ้ เป็นเขตป่าสงวนของทางราชการเป็นพื้นที่กว้างประมาณ 800 ไร่เศษ มีต้นตึง ต้นเหียง และหญ้าคาขึ้นอยู่แออัดทั่วไป พื้นที่ลาดเทลงทางทิศตะวันตกเล็กน้อย ทางด้านเหนือเป็นป่าช้าห้วยเกี๋ยงและหนองน้ำ ที่เรียกว่าหนองบัว ทางทิศตะวันออกติดกับคลองส่งน้ำชลประทานโครงการเหมืองแม่แฝกตลอดเหนือจรดใต้ ทางด้านใต้จากบ้านท่าเกี๋ยน ทางทิศตะวันตกจรดแนวถนนที่มีโครงการจะตัดขึ้นจาก อ.สันทราย อ.พร้าว ซึ่งอีกด้านหนึ่งของถนนเป็นเขตวัดและหมู่บ้านแม่โจ้ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ ชายป่ามีบ้านฝาและหลังคาตองตึงประมาณ 10 หลัง ตอนกลางของพื้นที่มีห้วยโจ้ผ่านกลางจากตะวันออกลงไปทางทิศตะวันตกเป็นห้วยแห้งมีน้ำไหลก้นห้วยริน ๆ เท่านั้น ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านได้รับคำตอบว่าป่านี้มีงูและไข้ชุกชุม ชาวบ้านเป็นไข้จับสั่นตัวเหลือง ๆ ซีด ๆ แทบทุกครัวเรือน สัตว์ป่าที่ ดุร้ายไม่เคยปรากฏนาน ๆ จะพบวัวป่าบ้าง สำหรับลักษณะเนื้อดินนั้น ดินบนเป็นทรายดินล่างเป็นกรวดสีเหลืองอัดแน่นเป็นดินจัดอยู่ในขั้นเลวขาดแคลนธาตุอาหารพืชที่สำคัญทุกชนิด ออกจะเป็นด่างจัด ซึ่งพิจารณาตามรูปแบบการแล้วสามารถพูดได้ว่า ดงแม่โจ้แห่งนี้มิได้มีสิ่งดีงามอะไรที่พอจะเป็นสิ่งยั่วเย้ายวนใจ ให้คิดที่จะมาอยู่และคิดตั้งหลักปักกิจการงานอะไรขึ้นเลย ซึ่งพระยาอนุบาลพายัพกิจ ปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่ (ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่) ท่านก็ไม่เชื่อว่าพระช่วงเกษตรศิลปการ จะดำเนินการได้ คงไปไม่รอดต้องละทิ้งกลางคันแน่นอน แต่คุณพระช่วงท่านก็พอใจที่ดินพื้นนี้ ท่านเคยพูดว่า ดินไม่สำคัญเท่าน้ำ ถ้ามีน้ำเพียงพอเนื้อดินจะเลวอย่างไรก็พอสามารถแก้ไขได้ สำหรับความกันดารที่เป็นป่าดงแห้งแล้งห่างไกลผู้คนก็หาเป็นอุปสรรคใด ๆ ไม่ เพราะเมืองที่สำคัญ ๆ และมีชื่อเสียงของโลกปัจจุบันก็เกิดขึ้นในที่ ๆ เป็นป่าดงมาก่อนทั้งสิ้น และในการดำเนินงานนั้น เมื่อต่อไปเกิดมีอุปสรรคปัญหาหรือเหตุสุดวิสัยใด ๆ เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้งานหยุดชะงักหรือยุบเลิกลง ตามที่ปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่ หวั่นเกรง แต่กากของงานก็คงต้องมีเหลือทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้เห็นเป็นประวัติศาสตร์ และศึกษาข้อมูลว่า ครั้งหนึ่งได้มีผู้คิดและดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่สำเร็จ วันนี้คุณพระช่วงฯ และคณะเดินทางกลับถึงบ้านในเมืองเชียงใหม่เมื่อเวลาเกือบ 20.00 นาฬิกา และได้เดินทางชนิดไปเช้าเย็นกลับ (ชนิดไม่เคยเห็นดวงตะวันในเมืองเชียงใหม่) เพื่อปฏิบัติงานเช่นนี้ติดต่อกันตลอดมา

เมื่อการสำรวจพื้นที่และทำแปลน วางผังที่ตั้งอาคารที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงานของสถานีทดลอง ทั้งได้กำหนดแบ่งแยกพื้นที่เพื่อการทดลองเพาะเลี้ยงทั้งพืชทั้งสัตว์เสร็จแล้ว ก็เริ่มรับสมัครเจ้าหน้าที่และคนงาน คนงานชุดแรกก็มีนายน่วม ทรัพย์เนียม นำลูกน้องมารับจ้างเป็นช่างก่อสร้าง และมีชาวบ้านมารับจ้างถากถางป่าขุดตอไปพร้อมกับงานก่อสร้าง เริ่มต้นตั้งแต่ที่ทำการสถานีบ้านพักเจ้าหน้าที่และคอกสัตว์ สำหรับตัวอาคารที่ทำการสถานีนั้นมุงด้วยสังกะสีเพื่อรองน้ำฝนไว้ใช้บริโภคและได้สร้างถังน้ำซีเมนต์ขนาดบรรจุน้ำได้หมื่นแกลลอน 1 ถัง ทั้งได้เสนอขอเครื่องทุ่นแรงและเจ้าหน้าที่วิชาการจากกรมฯ ด้วย ซึ่งในเดือนต่อมากรมฯ ก็ได้จัดส่งเครื่องมือทุ่นแรง ชนิดใช้แรงสัตว์เช่นเครื่องพรวนดิน ไถเหล็ก เครื่องสูบน้ำและอื่น ๆ มาให้ พร้อมกับส่งหม่อมเจ้าธานีเสิกสงัดชุมพล ซึ่งสำเร็จวิชาการเกษตรจากปารีส ประเทศฝรั่งเศสมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าสถานีทดลอง ฯ 1 องค์ และได้รับบรรจุเองทางแม่โจ้ 4 คน ได้แก่ นายชื่น สิโรรส นายมงคล งามวิสัย นายดาบสุรัต พรหมเสน และนายขัณโฑ โล่เพชร รวมเป็น 6 คนด้วยกัน ซึ่งนับได้ว่าท่านทั้ง 6 ตลอดทั้งคนงานที่กล่าวชื่อมาแล้วนี้ เป็นคณะบุคคลรุ่นบุกเบิกและก่อตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพขึ้นโดยแท้จริง

งานทดลองของสถานีที่เริ่มขึ้นเป็นอันดับแรกได้แก่การเพาะยาสูบพันธุ์ต่างประเทศรวม 2 พันธุ์ด้วยกันคือ พันธุ์ Joiner และพันธุ์ White Berley เริ่มด้วยการจัดทำแปลงเพาะกล้ายาให้พอแก่การใช้ปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ ได้ทำการเตรียมดินปลูกยาไปพร้อมกัน กำหนดจะปลูกในเดือนกันยายนที่จะถึงนั้น โดยได้ทูลเชิญ ม.จ.สิทธิพรฯ อธิบดีให้เสด็จมาปลูกเป็นปฐมฤกษ์ ครั้นเมื่อกล้าหญ้าเจริญแข็งแรงพอที่จะนำไปปลูกได้แล้ว ม.จ.สิทธิพรฯ ก็เสด็จมาถึง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2476 (เป็นวันพฤหัสขึ้น 9 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา) และได้ทรงปลูกต้นยาสูบต้นแรกเป็นปฐมฤกษ์ลงบนพื้นดินของแม่โจ้ ทั้งยังทรงได้ช่วยอำนวยการปลูกอยู่จนมืด ต้องจุดตะเกียงทำกันจนแล้วเสร็จในที่ 1 ไร่ จึงหยุด อีก 9 ไร่ทำกันในวันต่อมาจนเสร็จ การปลูกทำยาในตอนนี้เป็นเรื่องยุ่งยากพอใช้ เพราะน้ำจากคลองชลประทานยังปล่อยมาไม่ได้ คลองส่งยังไม่เรียบร้อยต้องใช้วิธีขนน้ำรดเป็นต้น ๆ ไปก่อน อาศัยน้ำฝนช่วยเป็นหลัก แต่ก็จำต้องลงเมื่อกระทำให้ทันตามฤดูกาล ส่วนเหตุผลที่ยกเอางานปลูกยาสูบขึ้นมาทำก่อนเป็นอันดับแรกก็โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2474 ตามสถิติของกรมศุลกากรแจ้งว่า สินค้าขาเข้าประเภทบุหรี่มวน (ซิกกาแรต) มีจำนวนมากและสูงเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าถึง 8 ล้านบาทเศษ นับเป็นมูลค่าที่สูงมากถ้าเทียบกับราคาพืชผลอื่น ๆ ที่ส่งเป็นสินค้าขาออกในขณะนั้น ดังนั้นถ้ากสิกรไทยของเรานิยมปลูกยาสูบกันเป็นจำนวนมากขึ้นแล้วก็ย่อมจะสามารถช่วยแก้สภานะเศรษฐกิจในด้านนี้ได้อีกทางหนึ่งโดยทันที ใบยาสูบที่บ่มแล้วของฟาร์มบางเบิดเคยส่งเป็นตัวอย่างไปต่างประเทศ ได้รับคำตอบรับรองคุณภาพว่า เป็นใบยาอยู่ในชั้นดี และทางต่างประเทศยินดีรับซื้อจำนวนไม่จำกัด
งานยาสูบผ่านไปแล้วงานขั้นตอนต่อไปคือ สร้างโรงบ่มใบยา ซึ่งในขณะนั้นมีวิธีบ่มใบยานิยมทำกันอยู่ 3 วิธีได้แก่

1. ใบยาที่จะนำไปใช้มวนบุหรี่ซิการ์ ใช้วิธีบ่มด้วยแสงแดด (Sun cured tobacco)

2. ใบยาที่จะนำไปหันทำบุหรี่มวน (ซิกกาแรต) ใช้วิธีบ่มด้วยความร้อน (Fluecured tobacco)

3. ใบยาพื้นเมืองที่จะนำไปหั่นทำยาตั้งหรือก้อนใช้วิธีบ่มด้วยการผึ่งลม (Air curedtobacco)

ต้นยาที่สถานีทำการทดลองปลูก เป็นยาประเภทที่จะใช้ไปหั่นทำยาสูบมวนกระดาษ(ซิกกาแรต) ต้องใช้วิธีบ่มแบบ Flue cured tobacco เพื่อให้ได้ใบยาอยู่ในชั้นดีตลาดต้องการจึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงบ่ม โรงบ่มโรงแรกของสถานีฯ เป็นโรงบ่มแบบของอินเดีย ม.จ.สิทธิพรฯ ได้ประทานแบบแปลนให้ไว้แต่วันมาทรงปลูกยาสูบ เป็นโรงกรุฝาด้วยไม้ เมื่อสร้างเสร็จและทดลองบ่มดู ปรากฏว่าบังคับความร้อนได้ผลไม่สมบูรณ์ ความร้อนยังรั่วระเหยได้ตามรอยต่อของไม้ ต่อมา มร.ฮินชฮู๊ด (ชาวอังกฤษ) ผู้อำนวยการใหญ่โรงงานยาสูบ บี.เอ.ที บ้านใหม่ ยานนาวา พระนคร ได้มาเยี่ยมชมกิจการสถานีทดลองฯ ได้ชอบพออัธยาศัยของคุณพระช่วงฯ เป็นส่วนตัวได้ออกปากรับจะสร้างโรงบ่มแบบทันสมัยเป็นโรงปูนซีเมนต์ให้ 1 โรง เมื่อ มร. ฮินชฮู๊ดกลับพระนครไปแล้วไม่นาน ก็ส่ง มร. ปีตาร์ด ซึ่งประจำอยู่ที่ปตตเวีย (จาร์กาตาร์) ประเทศอินโดนีเซีย เดินทางมาจัดสร้างให้เป็นมูลค่าประมาณ 1,000 บาท

งานของสถานีทดลองฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อได้มีการขยายงานด้านทดลองปลูก ถั่วเหลือง หอมฝรั่ง และพืชผักต่างประเทศ เช่น กล่ำปลี กล่ำดอก กล่ำปม บีท แคร๊อต แร๊ดดีส และมะเขือเทศ (ระยะนั้นเชียงใหม่ยังไม่มีการปลูกผักพันธุ์ต่างประเทศอย่างเป็นอาชีพ) ทางด้านสัตว์เลี้ยง คุณพระช่วงฯ ได้สั่งพันธุ์สุกรพันธุ์ ยอร์คเชีย ล๊าชช์ไวท์ มิดเดิลไวท์ และเอสเซกซ์ รวม 4 พันธุ์ ๆ ละ 1 คู่ขนาด 3 เดือน ไก่ได้แก่พันธุ์เล็กฮอร์น โรคไอแลนด์เรด อ๊อสตาลอบ และบาพลีมัธล๊อค รวม 4 พันธุ์ ๆ ละ 1 ชุด 5 ตัว (ตัวผู้ 1 ตัวเมีย 4) ขนาด 3 เดือนเช่นกัน ทั้งพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืชสั่งมาจากประเทศออสเตรเลียทั้งหมด ส่วนสัตว์พาหนะก็ได้ซื้อควายจากชาวบ้านทางแม่ริมและสันทรายรวมได้ 8 ตัว สำหรับใช้งาน การปฏิบัติงานระยะนี้เริ่มเคร่งเครียดคัดตัวเจ้าหน้าที่มากขึ้น ต้องใช้เวลาในการใกล้ชิดผูกพันกับงานทุกด้านอย่างละมือไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีน้อยและต่างก็มีประสบการณ์ต่อสิ่งใหม่ ๆ นี้น้อย ความหนักหน่วงจึงตกอยู่แก่หัวหน้าสถานีและผู้ช่วยฯ ที่จะต้องวางแผนและขั้นการปฏิบัติงานขึ้นไว้ เป็นวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และคนงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนชัดแจ้งและแน่นอน อุปสรรคและปัญหาของงานก็เกิดมีขึ้น ต้องติดตามแก้ไขอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะเป็นงานที่เริ่มต้นใหม่คนก็ใหม่ ที่กำลังตกอยู่ในสายตาของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาทางพระนครคงกำลังจ้องดูผลงานนี้อยู่ คุณพระช่วงฯ ท่านจึงตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่า “จะไม่ให้มีการผิดพลาดล้มเหลวได้” ส่วนงานด้านสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยน้ำบริโภคสำหรับเจ้าหน้าที่และคนงาน ก็ได้เร่งรัดการก่อสร้างให้ได้ทันเสร็จเรียบร้อยไม่เดือดร้อนกันแล้ว ที่ยังเหลือก็แต่บ้านพักสถานีฯ เท่านั้นที่ยังไม่มี ต้องรองบประมาณที่จะจัดสรรเพิ่มเติมมาให้ แต่คุณพระช่วงฯ ท่านคงรอไม่ไหวเพราะงานทดลองรัดตัวท่านให้ต้องมีเวลาอยู่กับงานตลอดทั้งกลางวันและแม้เวลากลางคืน อีกประการหนึ่งงานด้านบริหารและอำนวยการ ตลอดทั้งงานธุรการ การเงิน ตลอดถึงงานเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลของตน ซึ่งจะต้องรวบรวมรายงานหน่วยเหนือทุกระยะยังวางมือไม่ได้ ดังนั้น การที่จะต้องเดินทางไปเช้าเย็นกลับระหว่างแม่โจ้กับเชียงใหม่ทุกวันเป็นประจำ หรือแม้จะพักค้าง 4-5 วันจึงกลับครั้งหนึ่งก็ไม่มีใครเค้ากระทำกัน เพราะนอกจากจะเป็นความลำบากยากเย็นในการเดินทางแล้วยังต้องเสียเวลาในการเดินทางวันหนึ่งหลายชั่วโมงเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ ซึ่งคุณพระช่วงฯ ท่านก็ได้เคยอดทนทรมานกายเสียสละความสุขของครอบครัวปฏิบัติการโดยไม่เสียราชการทางแม่โจ้ เป็นเวลาเกือบ 5 เดือนมาแล้ว ท่านจึงไม่รองบประมาณ ท่านได้ให้ช่างไม้สร้างบ้านพักชั่วคราวให้ก่อน หมดเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 100 บาทเศษเป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง เสาไม้ทุบเปลือก พื้นทำด้วยฟาก ฝาและหลังคามุงด้วยตองตึง เมื่อบ้านเสร็จท่านก็ขนย้ายครอบครัวจากในเมืองเชียงใหม่เข้ามาอยู่ทันทีในต้นเดือนมกราคม 247๗ โดยมิได้คำนึงถึงความรู้สึกของคนในครอบครัวของท่านแต่ประการใด ขณะนั้นอากาศกำลังหนาวจัด บ้านพักแบบพื้นโปร่งแบบนี้ไม่ได้ช่วยป้องกันความหนาวเหน็บได้เลยเพราะเป็นบ้านโปร่ง ไอหนาวเข้าบ้านได้รอบตัว กลางดึกเงียบสงัดได้ยินแต่เสียงน้ำค้างตกกระทบหลังคาตองตึงตลอดเวลา เมื่อหนาวจัดนอนไม่หลับ ต้องอาศัยก่อไฟขึ้นในเตาอั้งโล่ วางเต้าไว้กลางห้องใช้สังกะสีวางบนอั้งโล่ เมื่อสังกะสีถูกไฟเผาจะเกิดความร้อนและกระจายความร้อนไปรอบๆ เป็นการช่วยบรรเทาความหนาวเหน็บไปได้บ้าง นี่แหละคือบ้านพักของคุณพระช่วงเกษตรศิลปการ หัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

ศิษย์แม่โจ้ รุ่น 1, ๒๕๓๑. ได้ระบุว่า สมัยเมื่อดำรงตำแหน่ง หัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ ที่ห้วยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ท่าน (พระช่วงเกษตรศิลปการ) ได้เริ่มทดลองเป็นแม่บทและแนวทางขึ้นไว้มากมายหลายงานด้วยกัน ทั้งพืชไร่ พืชผัก สวนผลไม้ การบำรุงดิน การใช้ปุ๋ย การเตรียมดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดการขยายพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ ขอยกมากล่าวเป็นเรื่องๆดังต่อไปนี้

1. งานทดลองพืชไร่ ท่านได้ให้ความสนใจกับพืชที่ท่านเห็นว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในอนาคต ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีผู้สนใจปลูกกันอย่างจิงจัง ได้แก่ ยาสูบ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพด โดยตั้งเป้าหมายอยู่ที่การศึกษาหาความเหมาะสมแก่การเป็นไปได้ที่จะนำมาปลูกและจะให้ผลดีที่สุด ด้วยการนำมาปลูกเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์ต่างประเทศ และพันธุ์ที่นำมาจากต่างท้องที่ และได้ทำการทดลองเรื่องการเตรียมดินปลูก ระยะปลูกและการให้น้ำ อัตราการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไปพร้อมกัน เมื่อพันธุ์ใดปรากฏผลให้เห็นว่าดี เป็นผลตรมเป้าหมาย ก็ออกนำเผยแพร่ให้กสิกรใกล้เคียงได้ทดลองปลูก โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกแนะนำการปลูก เฉพาะยาสูบได้สร้างเตาบ่อใบยาขึ้น ๑ เตา เพื่อให้เจ้าหน้าที่และนักเรียนเกษตรฝึกหาความรู้และประสบการณ์ (เตาแรกสร้างขึ้นอย่างประหยัดตามแบบของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ประทานให้ เตาที่ ๒ ผู้จัดการบริษัท บี.เอ.ที.สร้างให้ด้วยไมตรีจิต ใช้ได้ผลดี เก็บและควบคุมความร้อนได้ดีกว่าเตาที่สร้างเอง) จากงานที่ปฏิบัติจามที่กล่าวนี้ เป็นผลให้

1.1 ในเวลา 3-4 ปีต่อมา กสิกรในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนพากันนิยมปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียอย่างแพร่หลายเพิ่มขั้น และเริ่มมีเตาบ่มใบยาแบบแม่โจ้เกิดขึ้น (ดูเหมือนมีที่อำเภอแม่ริมจะเกิดขึ้นก่อน) และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับมา ซึ่งความนิยมนี้ได้ขยายลงมาถึงลำปางและจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดทั้งจังหวัดภาคเหนือตอนล่างต่อความมั่งมีศรีสุขให้แก่ชาวบั้นชาวเมืองได้อย่างทั่วถึง เพราะชาวบ้านมีงานทำมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับจ้างเก็บใบยา งานบ่มใบยา คัดใบยาเป็นต้น

1.2 ข้าวโพด ได้นำข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์มาทดลองปลูก เพื่อใช้เลียงสุกรและไก่ ได้ทำการขยายพันธุ์ไว้ทำพันธุเอง เป้าหมายของงานนี้ก็คือ เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการปลูก และเพื่อการเลี้ยงสัตว์ อันจะเป็นตัวอย่างแก่กสิกรทั่วไปด้วย ผลที่ได้รับคือ ในด้านการปลูก นับว่าสำเร็จเป็นผลดี ในแง่ใช้เป็นอาหารสัตว์คือสุกรและไก่ได้ผลดีกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารตามแบบพื้นเมืองทั่วไป แต่ระยะนั้นพืชผักพื้นบ้านพื้นเมือง เช่น หยวกกล้วย ผักโขม ผักเบี้ย และอื่นๆ ยังมีอยู่มากทั่วไปหาง่าย ไร้ราคา กสิกรชาวบ้านจึงยังไม่สนใจที่จะคิดปลูกข้าวโพดเพื่อการเลี้ยงสัตว์ (ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไดเกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งเพื่อการเลี้ยงสัตว์ภายในและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งไปแล้ว)

1.3 ถั่วเหลืองและถั่วลิสง แต่เดิมในจังหวัดภาคเหนือมีการปลูกถั่วทั้งสองชนิดนี้อยู่บ้างแล้ว โดยรู้จักถั่วเหลืองในนามถั่วเน่า ถั่วลิสงในนามถั่วดิน เพื่อประโยชน์ปรุงเป็นอาหารว่าง และอาหารหลักในครัวเรือน เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีปลูกกันบ้างตามหัวไร่ปลายนา เมื่อสถานีทดลองฯได้นำพันธุ์ดีๆมาทดลองปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์พื้นเมืองจนทราบผลแล้วจึงนำออกเผยแพร่ส่งเสริมให้กสิกรใกล้เคียงได้ทดลองปลูก โดยเฉพาะในแหล่งที่มีระบายน้ำได้ โดยให้ปลูกระยะหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จแล้ว ผลที่ได้จากการส่งเสริมนี้ปรากฏว่า การปลูกได้ผลดีและมีกสิกรนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย นับเป็นพื้นที่ถึงแสนไร่ในปีต่อๆมา และความนิยมได้แพร่ขยายกว้างไปสู่จังหวัดใกล้เคียงตลอดทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือ

2. พืชผักสวนครัว มีวัตถุประสงค์ที่จะนำพืชผักฤดูหนาวจากต่างประเทศที่มีคุณค่าท่งอาหารและมีปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพืชผักพื้นเมือง มาทดลองปลูกเป็นตัวอย่างและขยายพันธุ์ ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะประชาชนเกิดนิยมรับประทานพืชผักเมืองหนาวกันรวดเร็วแพร่หลาย และสนใจปลูกกันตามวิธียกดินเป็นร่องทำแปลงปลูกตามหลังบ้านทั่วไป ผักที่นิยมปลูกก็ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาวปลี ผักสลัด คะน้า คื่นฉ่าย บีท แคร๊อต แร๊คดีส ผักกาดแก้ว และมะเขือเทศ รวมทั้งมันฝรั่งและหอมหัวใหญ่ คงเป็นเพราะอากาศอำนวยให้ จึงปลูกกันได้เจริญงอกงามน่ารับประทาน ปัจจุบันสามารถปลูกขายเป็นสินค้าได้ตลอดทั้งปี
มะเขือเทศพอนเดอโรซ่าก็เป็นผักอีกชนิดหนึ่ง ที่ถูกสั่งเข้ามาเพื่อปลูกทดลอง เพราะผลโต สีสวย เนื้อมาก รสดี ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองที่มีปลูกกันอยู่ในขณะนั้น มีเป้าหมายเพื่อเป็นตัวอย่างและศึกษาความเป็นไปได้ด้านปลูกพืชอุตสาหกรรมและการค้า (แบบครบวงจร) ในปี 2479 ได้ขยายพันธุ์ให้แพร่หลายไปตามที่ต่างๆและเกิดความนิยมรับประทานกันเพิ่มขึ้นโดยทั่วๆไป ทางโรงเรียนได้พานักเรียนทำในแบอุตสาหกรรมในครัวเรือน ในรูปนำมะเขือเทศคั้นเพื่อดื่มกินและต้มคั้นเอาแต่เนื้อ (เพื่อทำเป็นซ้อสมะเขือเทศ) บรรจุปีบแล้วส่งขายทางจังหวัดพระนคร

3. ด้านปศุสัตว์ มีวัตถุประสงค์นำมาเลี้ยงทดลองเพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของพันธุ์ต่างๆที่นำมาเลี้ยง ด้วยการให้อาหารที่กสิกรทั่วไปสามารถจะเลี้ยงได้ และทั้งขยายพันธุ์แท้และลูกผสม ที่เหมาะสมแก่การที่กสิกรจะนำไปเลี้ยง ได้แก่ ไก่พันธุ์ต่างๆ สุกรพันธุ์ต่างๆ ผลที่ได้จากงานนี้ กสิกรนิยมเลี้ยงไก้พันธุ์ มิดเดิลไวท์ และล๊าชไวท์ และลูกผสมกับพันธุ์พื้นเมือง วิธีการเลี้ยงแม้จะเลี้ยงในกรงหรือในเล้า แต่การปฏิบัติเลี้ยงดูก็ยังทำแบบที่ไม่เป็นตามหลักวิชาการมากนัก แม้แต่การป้องกันโรคไม่เหมือนปัจจุบัน ทุกอย่างเป็นไปตามหลักวิชาและเทคนิคต่างๆ ด้วยการต่อสู้ประกวดแข่งขันกันอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญไปแล้วเช่นกัน

4. ด้านผลไม้ การทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าผลไม้ชนิดใดที่สามารถจะนำมาปลูกและให้ผลดี และเพื่อหาความเหมาะสมในวิธีขยายพันธุ์ตามวิธีต่างๆและทำการศึกษาวิธีการใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยพืชสด (ด้วยการไถกลบ)และการคลุมดิน โดยได้นำต้นผลไม้ คือ ลำไย ลิ้นจี่ ท้อ ส้มโอ และส้มเขียวหวาน มาปลูกทดลอง ปรากฏผลคือ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีทาบกิ่งและติดตา เป็นวิธีที่เหมาะสมและได้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ โดยเฉพาะลิ้นจี่ ได้ขยายพันธุ์ไปปลูกที่อำเภอฝางแล้วได้เผยแพร่พันธุ์ให้กับกสิกรใกล้เคียงได้ทดลองปลูกด้วย แต่ระยะนั้นชาวบ้านทั่วๆไปยังรู้จักลิ้นจี่ไม่มากนัก และประกอบกับไม่ได้คิดกันว่าลิ้นจี่จะสามารถปลูกได้ผลดี ความก้าวหน้าในการทำสวนลิ้นจี่จึงเป็นไปอย่างค่อนข้างเฉื่อยช้าไป เมื่อเวลาล่วงเลยมาเมื่อลิ้นจี่ให้ผลที่แสดงให้เห็นว่าสามารถนำมาปลูกได้ผลดี ไม่แพ้ลิ้นจี่จากต่างประเทศ ความนิยมการปลูกลิ้นจี่จึงเริ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งในปัจจุบันนี้ลิ้นจี่ได้กลายเป็นผลไม้ที่ทำงานและชื่อเสียงให้กับจังหวัดต่างๆในภาคเหนืออย่างกว้างขวางไปแล้ว

5. การทำนาข้าวจ้าว วัตถุประสงค์ที่นำมาปลูกก็เพื่อเป็นตัวอย่างและขยายพันธุ์สำหรับชาวนา ผู้สนใจได้รับแจกพันธุ์ไปปลูกเพราะในยุคนั้นโดยทั่วไปชอบปลูกทำกันแต่นาข้าวเหนียว ผลที่ได้รับจากงานนี้ในปีต่อมา มีชาวนาสนใจยืนพันธุ์ไปปลูก และเมื่อเกี่ยวข้าวได้แล้วก็ทำการซ้อมด้วยมือ นำมาส่งขายให้กับโรงครัวของโรงเรียน และปัจจุบันจังหวัดในภาคเหนือไม่ต้องซื้อข้าวจ้าวจากทางใต้ขึ้นไปเพื่อบริโภคอีกแล้ว เพราะสามารถผลิตได้เองไม่ขาดแคลนเหมือนในกาลก่อน ผลพวงที่เป็นผลพลอยได้ จากงานทดลองของสถานีกสิกรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ นอกจากได้ใช้เป็นที่ฝึกปฏิบัติงานให้แก่นักเรียนเกษตร และนักเรียนฝึกหัดครู ที่ทางราชการได้จัดตั้งขึ้นติดตามมาในปีถัดๆมา เป็นการให้ความรู้และประสบการณ์และเพิ่มทักษะที่มีคุณค่าแก่นักเรียนเป็นอย่างยิ่ง

คุณหญิงช่วงเกษตรศิลปการ, 2524. ได้ระบุไว้… เดินทางไปเชียงใหม่ทั้งครอบครัวการเดินทางไปครั้งนี้ เนื่องจากคุณพระช่วงฯ ต้องย้ายไปรับราชการที่นั้นในตำแหน่งหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมกลางดงกลางป่า ที่ห้วยแม่โจ้ อำเภอสันทราย เวลานั้นเพิ่งเริ่มสร้างสถานี ไม่มีอาคารบ้านเรือนพอจะอาศัยได้ ต้องปลูกกระต๊อบหลังคาใบตองตึง ฝาตองตึงอยู่ แต่เรือนที่สร้างด้วยใบไม้นี้ หน้าร้อนอยู่สบายที่สุด (ตัวดิฉันเองเวลานี้ก็อยากอยู่บ้านเล็ก ๆ หลังคาจากฝาจาก แต่เทศบาลไม่อนุญาตให้ปลูกในเขต) ผู้ที่ทำงานเริ่มที่สถานีทดลอง ทุกคนอยู่กระต๊อบทั้งนั้น ตอนแรกครอบครัวต้องเช่าบ้านอยู่ในเวียงก่อน พอปลูกกระต๊อบเสร็จก็ย้ายไปแม่โจ้ เพราะคุณพระช่วงฯ เสียดายเงินค่าเช่าบ้าน ซึ่งเวลานั้นเดือนหนึ่งเจ้าของบ้านเรียกร้องเอาตามอัตราเงินเดือนเป็นเงินเดือนละหลายร้อยบาท ซึ่งถ้าเป็นคนธรรมดา ค่าเช่าจะน้อยกว่าตั้งครึ่ง
ตอนแรก ๆ ไปอยู่แม่โจ้ มีพวกแม่ค้านำของมาขาย มี มะม่วงแก้ว กล้วยน้ำว้า สับปะรด มะเขือเทศอย่างเป็นพวง ๆ ตอนหลังจะสั่งผักอะไรแม่ค้าจะพยายามหามาได้ เพราะได้ราคาแพงกว่าคนอื่น มีคนเอาดอกบีโกเนียเสียบผมมาขายของตอนหลังสั่งให้หาต้นมา ได้มาประมาณ 10 กระถาง ปลูกไว้เต็มนอกชาน มากรุงเทพฯ 10 กว่าวัน คนใช้ไม่รดน้ำต้นไม้ให้บีโกเนียตายหมด เสียดายและเสียใจมาก คนส่วนมากไม่มีนิสัยรักต้นไม้ คุณพระช่วงฯ ปลูกต้นท้อไว้ 1 แปลง ประมาณ 5 ไร่ เริ่มออกดอก มาบวชเสียเสีย 3 เดือน กลับไป ต้นทอตายหมด เพราะน้ำท่วมเวลาฝนตก เมื่อพระช่วงอยู่เวลาฝนตก จะถีบรถไปรอบ ๆ ดูว่าน้ำจะขังที่ไหน ก็จะให้คนแหวกทางให้น้ำไหลไป เพราะได้เลือกที่เนินปลูก แต่ทางน้ำเกิดอุดตันไม่มีคนดู งานที่สร้างไว้ 4 ปี จึงเสียหายหมดในระยะสามเดือน หรือจะพูดให้ถูกว่าในเวลาสามวัน คนเราเป็นคนเหมือนกันแต่ความรู้ ความขยัน และความรอบคอบผิดกันมาก

ชื่นสุข โลจายะ, 2524. ระบุไว้ว่า …จำได้ว่าขณะที่อยู่กับคุณพ่อที่แม่โจ้ ดิฉันพึ่งอายุแค่ 4 ขวบ อยู่ที่นั้นจนกระทั้งอายุ 8 ขวบ จึงกลับมาอยู่กรุงเทพฯ เราเริ่มต้นที่แม่โจ้ด้วยการอยู่ในบ้านกระต๊อบหลังคามุงด้วยใบตองตึง (ใบพลวง) ใบตองตึงเป็นใบไม้ใหญ่รูปคล้ายใบหูกวาง เอามาเย็บติดต่อกันเป็นตับ ๆ คล้ายตับจาก เวลาจะเดินทางจากบ้านแม่โจ้เข้าเมืองเชียงใหม่ บางครั้งไม่มีเกวียนจะนั่งก็ต้องเดินเอาใบตองตึงมาปิดศีรษะกันแดด ตอนเขากลับเข้าแม่โจ้เวลากลางคืน คุณพ่อเอาปืนมาวางบนตักเกรงจะมีอันตราย กลางทาง เพราะเป็นการเดินทางในป่าที่แสนมืด ช่างน่ากลัวเสียจริง ๆ เด็ก ๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องผจญภัยคล้ายในหนัง…

ปานทิพย์ วิริยะพานิช, ๒๕๒๙. ได้พรรณนาไว้ว่า ว่า …เมื่อปี 2476 คุณพ่อย้ายไปบุกเบิกเป็นหัวหน้าสถานีทดลองเกษตรกรรมแม่โจ้ เราต้องย้ายครอบครัวไปอยู่แม่โจ้ เชียงใหม่ ขณะที่เราเดินทางเข้าแม่โจ้ด้วยเกวียน น้องแต๋ว (ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม) ยังเล็กแบเบาะ เกวียนที่นั่งมาตกหลุมกระแทกถูกปากน้องแตก อากาศหนาวเย็นมาก 4 องศา เราสองคนพี่น้องนอนกอดกันในเกวียน ได้ยินเสียงแม่ร้องให้กอดน้องตอนนั้นมืดแล้ว เราไม่รู้ว่าจะไปไหนกัน ต่อมาน้องจำได้ว่าเราอยู่หน้ากระท่อม ริมทางเดินมีตุ่มใหญ่ 2 ใบอยู่หน้าบ้านแล้วก็มีที่เลี้ยงวัวของพวกฮ่อบรรทุกของมาบนหลังเป็นขบวนยาว เสียงกระดิ่งที่คอวัวดังสนั่นผ่านทางเกวียนอีกด้านห้างไปพอควรเรากลัวจนตัวสั่น พี่ตุ๊ (ชื่นสุข โลจายะ)ช่วยเอาน้องลงซ่อนในตุ่มซึ่งยังไม่มีน้ำ แล้วพี่ก็ลงไปซ่อนในอีกใบข้างประตูกระท่อม เรารอจนเสียงเงียบหายไปจึงโผล่หน้าออกมา แล้วพี่ตุ๊โผล่จากตุ่มน้ำออกมาก่อนช่วยน้องปีนออก ไม่นานนักคุณพ่อก็สร้างบ้านซึ่งเป็นบ้านหลังแรกของเราเอง ทั้งยังเป็นบ้านในความฝันที่เราทั้งสองพูดถึงอดีตอันสดชื่นบริสุทธิ์อยู่บ่อย ๆ บ้านที่แม่โจ้เป็นบ้านชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ซึ่งคุณพ่อทำไม้ตีตารางโปร่งเอาไว้เก็บของและนั่งเล่น พื้นเป็นดินเหนียวปรับให้เรียบพอควร เราใช้เป็นที่เล่นขายของและอื่น ๆ เพราะไม่กล้าออกไปไกลบ้าน แม่นายก็จะคอยส่งเสียงเรียกหาอยู่เสมอว่า “ตุ๊ ตุ่ม” ๆ ชีวิตตอนนั้นเป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ ไร้ภาระ ว่าง เบา ไร้ทุกข์ มีแต่ความรักความอบอุ่นของ พ่อ แม่ และพี่ตุ๊ คุณพ่อตื่นตีห้า ถีบจักรยานสวมสเวตเตอร์ มีหมวกกะโล่สวม มีจอบเสียมติดท้ายรถ ออกไปดูงานทุกเช้า เราเริ่มทดลองปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียร์ของอเมริกันเพราะคุณพ่อจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Winconsin ซึ่งภายหลังน้องแต๋วก็ได้ไปเรียนต่อจบโท ทางชีวเคมี ก่อนไปได้ปริญญาเอก ที่ Harvard กับ Professor Jean Mayer…