ครั้งหนึ่งในแม่โจ้

ครั้งหนึ่งในแม่โจ้

โดย คุณหญิงช่วงเกษตรศิลปการ

 

 

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 ต้น ๆ เดือน เดินทางไปเชียงใหม่ทั้งครอบครัว การเดินทางไปครั้งนี้ เนื่องจากคุณพระช่วงต้องย้ายไปรับราชการที่นั่นในตําแหน่งหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมกลางดงกลางป่า ที่ห้วยแม่โจ้ อําเภอสันทราย เวลานั้นเพิ่งเริ่มสร้างสถานี ไม่มีอาคารบ้านเรือนพอจะอาศัยได้ ต้องปลูกกระต๊อบหลังคาใบตองตึง ฝาตองตึงอยู่ แต่เรือนที่สร้างด้วยใบไม้นี้หน้าร้อนอยู่สบายที่สุด (ตัวดิฉันเองเวลานี้ก็อยากอยู่บ้านเล็ก ๆ หลังคาจากฝาจาก แต่เทศบาลไม่อนุญาตให้ปลูกในเขต) ผู้ที่ทํางานเริ่มที่สถานีทดลองทุกคนอยู่กระต๊อบทั้งนั้น ตอนแรกครอบครัวต้องเช่าบ้านอยู่ในเวียงก่อน พอปลูกกระต๊อบเสร็จก็ย้ายไปแม่โจ้ เพราะ  คุณพระช่วงเสียดายเงินค่าเช่าบ้าน ซึ่งเวลานั้นเดือนหนึ่งเจ้าของบ้านเขาเรียกร้องเอาตามอัตราเงินเดือน เป็นเงินเดือนละหลายร้อยบาท ซึ่งถ้าเป็นคนธรรมดาค่าเช่าจะน้อยกว่าตั้งครึ่ง

คุณหญิงช่วงเกษตรศิลปการ

ตอนแรก ๆ ไปอยู่แม่โจ้ มีพวกแม่ค้านําของมาขาย มีมะม่วงแก้ว กล้วยน้ำว้า สัปรด มะเขือเทศอย่างเป็นพวง ๆ ตอนหลังจะส่งผักอะไร แม่ค้าจะพยายามหามาให้ เพราะได้ราคาแพงกว่าขายคนอื่น มีคนเอาดอก บีโกเนียเสียบผมมาขายของ ตอนหลังสั่งให้หาต้นมา ได้มาประมาณ 10 กว่ากระถาง ปลูกไว้เต็มนอกชาน    มากรุงเทพฯ 10 กว่าวัน คนใช้ไม่รดน้ำต้นไม้บีโกเนียตายหมด เสียดายและเสียใจมาก คนส่วนมากไม่ค่อยมีนิสัยรักต้นไม้ คุณพระช่วงปลูกต้นท้อไว้ 1 แปลง ประมาณ 5 ไร่ เริ่มออกดอก มาบวชเสีย 3 เดือน กลับไปต้นท้อตายหมดเพราะน้ำท่วมเวลาฝนตก เมื่อพระช่วงอยู่ เวลาฝนตกจะถีบรถไปรอบ ๆ ดูว่าน้ำจะขังที่ไหน ก็ไปให้คนแหวกทางให้น้ำไหลไป เพราะได้เลือกที่เนินปลูก แต่ทางน้ำเกิดอุดตันไม่มีคนดู งานที่สร้างไว้ 4 ปี จึงเสียหายหมดในระยะสามเดือน หรือจะพูดให้ถูกว่าในเวลาสามวัน คนเราเป็นคนเหมือนกันแต่ความรู้ ความขยัน และความรอบคอบผิดกันมาก

คุณหญิงช่วงเกษตรศิลปการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ)

ตอนหลังกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดําริจะตั้งโรงเรียนเกษตรที่แม่โจ้ ได้มาขอฝากงานสร้างโรงเรียนกับพระช่วง ฯ ได้ทํางานสองตําแหน่งคือ ตําแหน่งอาจารย์ใหญ่อีกตําแหน่งหนึ่ง เวลาเปิดโรงเรียนมีคนมาสมัครเป็นนักเรียนเกินความคาดหมาย จะรับเพียงชั้นเดียวประมาณ 30 กว่าคน แต่ไม่อาจปฏิเสธผู้ที่อยากเรียนเหล่านั้นได้ ต้องรับไว้หมดในปีแรก 60 กว่าคน เงินทองก็อัตคัต สร้างเรือนใบตองตึงให้นักเรียนอยู่ พวกนักเรียนส่วนมากเข้าใจถึงสถานการณ์ดี พยายามปรับตัวของเขาแต่ละคนให้เข้ากับความลําบากกลางป่า ไม่ค่อยมีคนบ่นหรืองอแง มีหลายคนเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล แต่เข้ากันกับคนทั่ว ๆ ไปได้ดีมาก บางคนก็ทํางานไปเรียนไปด้วย งานนั้นคืองานอดิเรก เช่น ตัดผม เป็นต้น

ตัวดิฉันเอง ตอนแรก ๆ สร้างโรงเรียน เขาขอให้ดิฉันเข้าช่วยงานครัวปรุงอาหารให้นักเรียน เพราะพ่อครัวแม่ครัว เป็นคนเมือง (เชียงใหม่) ต้องสอนให้ทํากับข้าวไทยเป็นกัน ไทยเหนือ ไทยใต้ บางวันเหนื่อยมาก เพราะต้องเดินจากบ้านไปโรงเรียนไกลและต้องคอยดูแลลูก ๆ ไปพร้อมกัน แต่ปลื้มใจที่เด็กเขาไม่ว่าไม่บ่น ก็มีใจมีแรงทําไปได้ เขาไม่ติก็เป็นบุญคุณมากอยู่แล้ว ไม่ต้องการความดีความชอบอะไร

โรงครัว

รู้สึกว่าการอยู่แม่โจ้ถึงลําบากบ้างก็มีความสุข ในสถานที่ที่เราอยู่ ระหว่างทางจากสถานีทดลองไปโรงเรียน ข้างทางมีวัดร้าง พบซากอิฐก้อนโต ๆ คงหลายร้อยปี อิฐนั้นยังอยู่ในดิน ได้ทำพิธีถอนและได้ใช้อิฐนั้นเป็นประโยชน์หลายอย่าง พยายามถามประวัติของวัด ก็ไม่มีใครทราบ แต่เป็นหลักฐานแสดงว่าที่นั้นเคยเจริญมาแล้ว

การสร้างสถานีทดลองตอนแรก ต้องขุดต้นไม้ทําแปลงทดลองมากมาย แต่ต้นไม้เหล่านั้น ต้นไม่ค่อยโตเป็นไม้ขนาดกลาง ๆ เราได้เว้นต้นไม้ไว้เป็นขอบแปลงหลายแถว กว้างประมาณ 4 วา ต้นไม้จึงขึ้นอยู่รอบ เป็นแนวน่าดู คนที่มาเยี่ยมบางคนไม่เคยทราบ ก็ชมว่า แหมคุณพระช่วงปลูกต้นไม้ได้โตเร็วมาก แต่พอทราบความจริง ก็ชมเชยว่าเป็นความคิดที่ดีที่เว้นต้นไม้ไว้ ปลูกเองก็นานกว่าจะโต ต้นไม้เหล่านั้นได้อาศัยผูกวัว ควาย พอพักตอนกลางวัน ได้ดีมาก ตอนนี้ดูเหมือนไม่มีเหลือเลย

เราอยู่ในแม่โจ้ประมาณ 6 ปี ดิฉันปลูกต้นจําปาไว้ริมบ้าน และมะม่วงทางทิศตะวันตกสองต้น เพื่อให้บ้านเย็น ต้นมะเกี๋ยง (ชมพู่ป่าลักษณะคล้ายชมพู่กะเทย) เริ่มโตตอนย้าย ภายหลังมะม่วงหลังบ้านโตมาก ร่มบ้านดี แต่คนที่อยู่ภายหลังบอกว่ามดแดงชุมเลยตัดทิ้งเสีย เผอิญดิฉันไปเยี่ยมแม่โจ้พบต้นมะม่วงเพิ่งถูกตัด ยางยังเปียก ๆ อยู่ ก็เสียใจและเสียดายมาก จะขอเว้นไม่กล่าวนามท่าน ภรรยาท่านเองก็เสียดายต้นมะม่วง และเล่าว่า ตั้งแต่ตัดแล้วต้องไปอาศัยนั่งที่หน้ามุขทางทิศตะวันออก เพราะร้อนไปหมดทั้งบ้าน มะม่วงสองต้นโตขนาดผ่าสูญ (กลาง) 14 นิ้วเศษ พุ่มโตเท่าบ้าน

เมื่อเขียนมาถึงตอนนี้ จะขออธิบายเรื่องการปราบมดแดงแบบโบราณ ที่ชาวสวนเขาทํากัน ถ้าผิดถูกขออภัยด้วย เวลาฝนตกมดจะเข้ารัง เขาจะปีนไปตัดทิ้งทั้งรังออก บางคนเอาถังน้ำเตรียมไว้พอตัดแล้วรีบใส่ถัง มดจะไม่กระจายมาก แต่เวลานี้เขามียาฉีดอย่างดีใช้ ไม่ต้องกังวลเรื่องมดแดงไม่อยากพลอยบาปฆ่ามด

เวลาอยู่แม่โจ้ ปลูกกระเทียม, ฟักเขียว, ฟักทอง, ดอกมะลิทุกชนิด, กุหลาบ และผักต่าง ๆ ใครต้องการไม่เคยหวงเลย ใบชะพลูเต็มใต้ถุนครัว เก็บเอาไปทําเมี่ยงคําขายได้ดีเพราะมีมากมาย ปลูกเผือกไว้ 1 ร่อง เวลาจะต้องการขุดมากินได้ตลอดปี ปลูกทะยอยไว้ เวลาย้ายกลับ ฟักเขียว ฟักทอง ออกลูกเกลื่อนไปหมด คนครัวเสียดายจะเก็บมากรุงเทพฯ ถูกห้ามเด็ดขาดทิ้งไว้แจกพวกพ้องข้างหลัง

เวลาไปอยู่ใหม่ ๆ น้ำอัตคัตต้องขุดหลุมลงในกลางลําห้วยซึ่งแห้ง ตักน้ำที่ละกระบวยมาใส่ถัง เอามากิน มาอาบ ตอนตั้งโรงเรียนน้ำเหมืองแม่แฝกไหลมาแล้ว พระช่วงเป็นผู้วางผังทําระดับทดน้ำเข้ามาเอง เผอิญไปถูกหลักวิชาเข้า ได้รับคําชมเชยจากพวกชลประทาน เขาก็ส่งคนมาช่วยเรียงหินทําเหมืองให้เรียบร้อย บ้านครูก็ค่อยสร้างที่ละหลังจนครบจํานวนที่พวกครูจะได้อาศัย หลังละ 850 บาท ถังน้ำ 50 รวม 900 บาท

สุดท้ายนี้ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลอภิบาลสถานีทดลองและแม่โจ้เทคโนโลยีอินสตีททิ้ว (วิทยาลัยแม่โจ้) ให้สถิตย์สถาพรรุ่งเรืองตลอดกาล สมความมุ่งหมายของคุณพระช่วงที่ได้ริเริ่มและถวายชีวิตไว้ที่นี้ (แม่โจ้)

ที่มา : หนังสือเกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอาจารย์ อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524 หน้า 48-50