ชีวิตสองปีในแม่โจ้

ชีวิตสองปีในแม่โจ้


โดย บุญช่วย เลี้ยงสกุล

         

การศึกษาทำให้นิสัยของมนุษย์งามน่าชม หลายคนที่พูดว่าการ กสิกรรมไม่ต้องศึกษาก็ทําได้ แน่นอน ใคร ๆ ก็ทำการกสิกรรมได้ แต่ผู้ที่มีการศึกษาสูงจึงจะทราบได้ว่า การศึกษากสิกรรมดีอย่างไร ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาคงทราบไม่ได้ว่า วิชากสิกรรมมีหลักอย่างไรบ้าง สําหรับผู้ที่ได้เรียนได้รู้คงทราบว่า วิชากสิกรรมเป็นวิชาที่ยาก ไม่ใช่เรียนจากการพูดหรือตำหรับตำราเท่านั้น ต้องอาศัยความชำนาญทางปฏิบัติเป็นส่วนมาก จึงจะยังผลให้สําเร็จได้ ผู้ใดที่ไม่นึกเช่นนี้ ก็เท่ากับไม่ได้เรียนหลักกสิกรรม

กสิกรรมเป็นการกระทำที่ยากลําบาก กสิกรต้องศึกษาและปฏิบัติงานด้วยความสามารถ ทั้งต้องเป็นผู้อดทน และ ขยันขันแข็ง จึงจะทราบผลว่าการกสิกรรมเป็นอย่างไร พวกเราได้อุทิศร่างกายและใจบากบั่นมาเป็นกสิกรก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวนั้น ผู้ที่ทําการกสิกรรมสําเร็จนั่นคือ พวก Working Patriots ไม่ใช่ Talking Patriots และเพื่อความต้องการ Working Patriots นี้เองที่พวกเราได้ใช้ชีวิตมาศึกษาวิชากสิกรรมมาเป็น กสิกรแท้ ๆ แต่ชีวิตการศึกษาได้ฝ่าฟันอุปสรรคและสิ่งแวดล้อมอย่างไรนั้นก็คือ ชีวิตสองปีในแม่โจ้ที่จะกล่าวต่อไป

พ.ศ. 2478 เป็นปีแรกที่พวกเราทั้งหลายได้เข้ามาศึกษา บริเวณแม่โจ้ยังทึบไปด้วยทิวไม้ การเป็นอยู่ขลุกขลักมากในต้นปี เดี๋ยวถูกย้ายอยู่เรือนโน้นเดี๋ยวเรือนนี้ กว่าจะเรียบร้อยกันได้ก็เกือบสิ้นภาคต้น ในชั้นแรก พวกเรายังไม่สนิทสนมกันเพราะต่างคนก็มาจากจังหวัดต่าง ๆ ย่อมมีความกระดากอาย ในการพูดจาอยู่บ้าง ต่อมาพอคุ้นเคยกันแล้วก็ดูกลมเกลียวกันดี เรือนพักของพวกเราส่วนมากประกอบขึ้นด้วยไม้ตึง สามเดือนแรกให้ความสุขแก่พวกเราเป็นอย่างดี พอย่างขึ้นเดือนที่ 4 ที่ 5 ตามฝาและเพดานเริ่มมีมอดร่วงหล่น พวกเราจะนอนพักผ่อนโดยไม่กางมุ้งไม่ได้ เพราะขี้มดร่วงเข้าหูเข้าตาช่างทําความรําคาญให้แก่พวกเรามากจริง ๆ เพราะต้องกางมุ้งไว้ตลอดปี กระนั้นพวกเรายังต้องทรมานในเรื่องน้ำอีก บริเวณแม่โจ้มีลําห้วยน้อยมีน้ำไหลริน ๆ ติดก้นห้วย ห้วยนี้คือ ห้วยแม่โจ้ น้ำในห้วยก็ไม่ค่อยสะอาดนัก พวกเราใช้น้ำในลําห้วยนี้อาบ โดยขุดบ่อไว้ข้าง ๆ ทางน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงในบ่อเป็นการกรองอย่างธรรมชาติ แล้วใช้น้ำในบ่อที่ขุดไว้ตักอาบ มิใช่จะปลอดภัย พวกเราที่อาบน้ำนี้มีอาการคันตามเนื้อตามตัวและเป็นผื่นเป็นเม็ดขึ้บางคนเกาจนเป็นแผลเหวอะหวะ ถ้าเราไม่อาบเราจะไปอาบน้ำที่ไหน จําใจจำจน เมื่อเกิดผื่นคันขึ้นพวกเราก็พากันไปหาพนักงานพยาบาลของโรงเรียนที่เรือนพยาบาลขอยาใส่ พอให้ประทังไปเท่านั้น ต่อมาโรงเรียนจัดการขุดเหมืองระบายน้ำจากเหมืองแม่แฝกของกรมชลประทานเข้าบริเวณโรงเรียน พวกเราได้ใช้น้ำในเหมืองอาบโรคผื่นคันก็เบาบางลง ที่นี้ในส่วนน้ำดื่ม พวกเราต้องไปหาบจากถังที่สถานีทดลองกสิกรรม ระยะทางราว 1 กิโลเมตร หาบมาใส่กะถางไว้ดื่ม พวกเราทําเช่นนี้ ทุกวันทั้งเช้าเย็น ต่อมาโรงเรียนได้จัดการสร้างถังประปาขึ้น แต่นั้นมาพวกเราก็ไม่ต้องไปหาบน้ำดังที่เคยทํามาแล้ว เรื่องอาหารการกินก็ยุ่งเหยิงอยู่ โรงอาหารชั้นเดิมสร้างด้วยไม้ตึง ขณะรับประทานมีขี้มอดร่วงหล่นลงอาหารพวกเราปัดเป่ากันจ้าระหวั่น แล้วไม่ช้าโรงอาหารถาวรก็บังเกิดขึ้น ส่วนอาหารนั้นเต็มที่หน่อย บางวันก็พอบางวันก็ไม่พอ พวกเราบ่นกันอุบอิบ อาหารก็ไม่สู้จะดีนัก สําหรับข้อนี้น่าเห็นใจอยู่ เพราะโรงเรียนอยู่ห่างจากตลาดถึง 23 กิโลเมตร การออกไปซื้อจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ก็ลําบาก ดังนั้นอาหารจึงดีบ้าง ไม่ดีบ้าง

พวกเรามาเรียนวิชากสิกรรม จึงต้องทําตัวเป็นคนเลี้ยงง่าย เพื่อให้บังเกิดความชิน จะได้ด้านต่ออุปสรรคทั้งปวง พวกเราต้องตื่นลงงานแต่เช้า ระฆังปลุกให้เตรียมตัวเวลา 5.30 นาฬิกา และลงทำงานเมื่อ 6.00 นาฬิกา ไปจน ถึง 7.00 น. งานที่พวกเราทำ ถางป่า ขุดตอ ขนพื้น เลื่อยไม้ ทาพื้น หุงเข้า หาบขนอิฐ ขุดดิน ทำความสะอาดโรงอาหาร วัดพื้นที่ ทำหลักแปลง และ ฯลฯ เมื่อเลิกงาน ตอนเช้าแล้ว เวลา 8.30 น. พวกเราเริ่มรับประทานอาหารเช้า และพอ 9.30 น. ก็เข้าห้องเรียน เลิกเรียน เวลา 11.30 น. และรับประทานอาหารกลางวัน เวลา 12.30 น. เข้าเรียน ในห้องเรียนอีก 2 ชั่วโมง เลิกเรียนเวลา 14.30 น. และเวลา 15.00 น. ลงทํางานอีก งานก็คล้าย ๆ กับตอนเช้า แต่ผลัดเปลี่ยนแยกย้ายกันไปทําตามแต่ครูจะกะให้ ถึงเวลา 17.00 น. ก็เลิกงาน เวลา 17.30 น. รับประทานอาหารเย็น พักผ่อน ไปจนถึง 19.30 น. จึงเรียนตามลำพัง เวลา 21.00 น. สวดมนตร์ และเวลา 21.30 น. ดับไฟนอน เหล่านี้เป็นกิจวัตรที่พวกเราทุกคนปฏิบัติในเวลา 2 ปี

การงานที่พวกเรากระทํามีหลายอย่างหลายชนิด แต่งานประจําที่ทุกคนต้องทำในปีที่ 1 คือ แปลงขนาด 10 แปลง ทั้ง 10 แปลง ต่างก็ปลูกพืชล้มลุกชนิดต่าง ๆ ขยันขันแข็ง หมั่นรดน้ำ รดปุ่ย พรวนดิน เมื่อใดมีศัตรูมาทําลายต่างก็จัดการปราบด้วยยาพิษมีน้ำยาโลติ้น เป็นต้น ต่อจากงานนี้ก็งานเลี้ยงหมู เอาอาหารให้หมูกิน ตอนหมูบ้าง และมีงานของหมวด คือ ดูแลพืชผัก ส่วนงานอื่น ๆ พวกเราก็แบ่งแยกกันไปทําเป็นเวลา  เช่น ทําถนน ขุดจอมปลวก ปรับที่ทําสนาม ขุดเหมืองน้ำ โค่นต้นไม้ ขุดตอ เลื่อยไม้ ขนพื้น ถากหญ้า และอื่น ๆ อีก ในปีที่ 2 งานก็ไม่น้อย มี

แปลงส่วนตัว 200 ตารางเมตร มีไร่ของหมวดหลายไร่ พวกเราต้องไปฟื้นดิน ยกแปลง ขุดบ่อน้ำ ทําเหมือง แล้วปลูกยาสูบ ปลูกมะเขือเทศ ปลูกถั่ว เป็นจำนวนเนื้อที่ทั้ง 5 ไร่ 10 ไร่ และมีแปลง 50 ตารางเมตรของหมวดอีกหลายสิบแปลง นอกจากงานพืชก็มีงานอื่นที่พวกเราทำ อีก เช่น การเลี้ยงไก่ การฟักไข่ การเลี้ยงลูกไก่ การออกทําการฝึกหัดสอนตามโรงเรียนประชาบาล การสอนในที่ประชุม งานขุดดิน ถมที่ลุ่ม และในปี  พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของชีวิตพวกเรา ในระหว่างปิดเรียนภาคกลาง ได้ระดมขุดดินสร้างสระน้ำขึ้น 1 สระ กว้าง 20 เมตร ยาว 64 เมตร เป็นที่ระลึกของพวกเราก่อนออกจากโรงเรียน

เมื่องานซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของพวกเราได้สําเร็จไปแล้วตามที่ครูกําหนดให้ทํา พวกเราก็ยังต้องขยันในการเรียนอีกด้วย เรียนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการกสิกรรม ทำงานไปด้วยเรียนกันไปด้วย แต่ผลแห่งการเรียนนั้นจะเหมือนกับผู้ที่ไม่ทํางาน แต่มาสมัครสอบนั้นหรือไม่ – ไม่ทราบ ถ้าผลของการเรียนของพวกเราสู้พวกสมัครสอบไม่ได้ “ก็น้อยใจอยู่ ” เพราะพวกเราต้องทํางาน ส่วนผู้สมัครสอบไม่ต้องทํางานอย่างพวกเรา อย่างไรก็ตาม พวกเราต่างขมักเขม้นในการเรียน ไม่ต่างอะไรกับการทำงาน เราทํางานหนักเพียงใดเราก็เรียนให้หนักเท่านั้น

การเรียนและการงานแม้จะเหนื่อยยากสักเท่าไร แต่หาได้ทําให้พวกเรารามือหรือท้อถอยเลย เพราะพวกเรานึกกันว่ามาอยู่แม่โจ้ ต้องโจ้ให้เต็มที่ การโจ้เต็มที่นี้เองทำให้พวกเราเหน็ดเหนื่อย เมื่อเหน็ดเหนื่อยแล้วควรจะได้รับการพักผ่อน เช่น การเที่ยวเตร่บ้าง แต่พวกเราจะเอาเวลาที่ไหนไปเที่ยวเตร่ได้ เพราะต้องทำงานและเรียนกันแต่เช้าจนเย็น มีเวลาแต่บ่ายวันเสาร์ ซึ่งไม่มีงานและวันอาทิตย์ทั้งวัน ฉะนั้นในโอกาสนี้ เราหาเวลาไปเวียงบ้าง

นานวัน นานเดือน ผลของการงาน การเรียน การเป็นอยู่ การสมาคม การเคลื่อนไหวในกิจการการปกครอง และคุ้มครอง ย่อมแปลกหูแปลกตาขึ้นตามกาละเทศะ จะแปลกไปเช่นไรนั้นต้องทราบเป็นรายบุคคล เพราะต่างคนอุปสรรคต่าง ๆ กันแล้วแต่จะได้รับได้ประสพเหตุการณ์นั้น ๆ ชีวิตจิตใจของคนเราย่อมผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลง และความหมุนเวียน สรุบได้ว่าการศึกษาวิชากสิกรรม 2 ปี ทําให้จิตใจของผู้ศึกษาเปลี่ยนแปลงไปได้นานาประการ แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ขอจงเป็นแต่ความดี ตลอดไป และเสมอไป

ที่มา : หนังสือ แม่โจ้ 2479 หน้า 145-149