โรงเรียนเกษตรแม่โจ้สมัยบุกเบิก

by

|

in

กําจร บุญแปง

สิ่งประทับใจครั้งแรก

ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477 ผมได้ไปรายงานตัวที่แผนกศึกษาธิการในฐานะเป็น นักเรียนทุนครูเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็เดินทางออกจากจังหวัดกลับไปบ้านที่บ้านต้นซาง หมู่ที่ 9 ต. สันทรายหลวง อ. สันทราย โดยพาหนะรถจักรยานสามล้อแบบตอปิโด (คือรถพ่วงข้าง คนโดยสารนั่งข้างคนขี่รถ แต่หันหน้าไปข้างหน้า 1 คน และหันหน้าไปทางท้ายรถ 9 คน) เสียค่ารถหนึ่งสลึง (25 สตางค์) สำหรับระยะทางราว 10 กม. ของถนนหินและดิน เมื่อกลับถึงบ้าน แล้วก็เก็บรวบรวมของใช้เพื่อเดินทางต่อไปแม่โจ้ โดยพาหนะเกวียนเทียมวัวคู่ เสียค่าจ้างเกวียน อีกสลึงเดียว (25 สตางค์) สมัยนั้นถนนหลวงจาก อ. สันทรายไปแม่โจ้ยังไม่มี รถต่าง ๆ ที่กล้ามาวิ่งจึงต้องใช้เส้นทางชนบทที่ติดต่อระหว่างหมู่บ้านกันเอง เกวียนของผมใช้เส้นทางจากบ้านต้นซาง ผ่านเข้าไปทางปิฎก ผ่านวัดแม่แก้ดหลวงไปออกวัดแม่แก้ดน้อย (ซึ่งบางที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดแพะ) แล้วก็ต่อไปถึงบ้านแม่โจ้ ระยะทางที่ไปเกวียนนี้ประมาณ 7 กม. แต่ค่าจ้างสมัย พ.ศ. 2477 เพียง 25 สตางค์ ซึ่งถูกเหลือเกินเมื่อเปรียบกับราคาค่าโดยสารรถสมัยปัจจุบัน ระยะนั้นโรงเรียนแม่โจ้กำลังก่อสร้างเตรียมงานเปิดเรียนในวันที่ 7 มิถุนายน 2477 ซึ่งห้องเรียนก็เสาไม้กลมมุงด้วยตองตึง ผมไปถึงรายงานตัวกับอาจารย์ใหญ่พร้อมเพื่อน ๆ อีกสองสามคน อาจารย์ คุณพระช่วงฯ ก็พาไปที่บ้าน 2 ซึ่งก็สร้างด้วยไม้กลมมุงตองตึง ฝาก็ตองตึง แต่ยกพื้นสูงกว่า ระดับดิน ร่มชายคาบ้านและใต้ถุนคงยังมีตอสั้น ๆ อยู่ อาจารย์ใหญ่ก็บอกว่า นี่แหละเรือนนอน ของพวกเธอ พวกเธอต้องขุดตอทิ้งเอง หลังจากนั้นท่านก็พาไปเบิกเครื่องนอน มีมุ้งหลังหนึ่ง หมอนพร้อมกับปลอกหนึ่งใบ เสื่อ ๑ ผืน พร้อมกับเครื่องมือมี จอบ ตะเกียงรั้ว ขวานและ มีดฟันหญ้า ผมได้มาก็จัดการทำด้ามจอบด้ามขวานเอาเอง มีเพื่อน ๆ แอบจ้างคนงานทำด้ามจอบด้ามขวาน ก็ถูกอาจารย์ใหญ่ดุเอา ท่านต้องการให้ทำเอาเอง วันรุ่งขึ้นก็เริ่มทำงาน ผมเจองานขุดร่องระบายน้ำรอบ ๆ ห้องเรียน อาจารย์คุณพระท่านก็นุ่งกางเกงผ้าตุ่น (ทอที่ลำพูน) ขาสั้นสวมหมวกสานด้วยไม้ไผ่ปีกกว้าง หมวกนี้ชาวบ้านป่าเก้ดทำขาย อาจารย์พระช่วงฯ ท่าน ก็แบกจอบไปทำร่วมกับผมและเพื่อน ๆ อีกสามสี่คน ตอนบ่ายขณะที่ทำงานฝนเจ้ากรรมก็ตก ผมและเพื่อน ๆ ก็ยังคงทำงานมีอาจารย์พระช่วงฯ ทำรวมอยู่ด้วย พวกผมต่างก็มองหน้ากันที่จะเข้าพักหลบฝนหรืออย่างไรครั้นมองอาจารย์คุณพระช่วงฯ ท่านก็ทำงานเฉยเหมือนไม่มีฝนตก พวกเราก็ไม่กล้าหลบฝนต่างก็เปียกฝนทำไปจนฝนหยุด สิ่งนี้แหละครับประทับใจผม ท่านอาจารย์ทำ สิ่งประทับ ให้กับลูกศิษย์ต่อไปขณะทำงานอยู่ถ้าฝนตก ผมจะหยุดหลบฝนก็ต้องให้อาจารย์ที่ควบคุมงานอนุญาตเสียก่อน

วันเปิดเรียน วันที่ 7 มิ.ย. 2477

9 น. เราพร้อมใน “ห้องเรียน” ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่มีสภาพเป็นห้องเลยแต่นิดเดียว เพราะสภาพของมันก็คือ โรงรูปสี่เหลี่ยม มีเสากลมสูง หลังคามุงด้วยตองตึง เปิดโล่งทั้งสี่ด้าน ไม่มีฝาห้อง พื้นก็คือพื้นธรรมชาติมีทั้งดินและฝุ่น โต๊ะเรียนก็แบบนักเรียนตามวัด คือใช้กระดาน 2 แผ่นเป็นที่รองเขียนและที่นั่งก็กระดาน 2 แผ่น เป็นม้ายาวนั่ง ได้ถึง 4 คน ระฆังก็แผ่นเหล็ก วันนั้นเท่าที่ผมจำได้ แขกผู้ใหญ่ที่ไปเปิดก็มีพระยาอนุบาลพายัพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ขุนอภิรักษ์จรรยา ศึกษาธิการจังหวัด และเจ้าราชภาคินัย อธิบดีศาล ท่านเจ้าราชภาคินัย ท่านให้ โอวาทเป็นภาษาเมืองเหนือที่จำได้แม่นยำตอนหนึ่งว่า “สูเจ้าบ่หันดี สูเจ้าบมาเฮียน ฯ” เพื่อนที่ : ไปจากภาคกลางคือ คุณประเสริฐ รัตนาคม ฟังไม่ใคร่รู้เรื่องทึกทักเอาว่าภาษาเหนือถ้าเป็นตัว “ร” ก็เปลี่ยนเป็นอักษร “ฮ” เช่น “เรียน” พูดเป็น “เฮียน” ส่วนคุณหลวงอิงคผมจำได้แม่น ตอนท่านปราศรัยและกล่าวว่า “พวกเธอหน้าตาดี ๆ ทั้งนั้น ฯลฯ” หลังจากทำพิธีเปิดเรียนแล้ว ไม่มีการเรียนในชั้น มีแต่ลงงานตั้งแต่เช้ามืด ลงงาน 9 น. และ 13-15 น. ทุกวันเป็นเวลา ร่วมเดือน เจอแต่ตอไม้ตลอดไป เมื่อต้นไม้ตอไม้มันพร่องไปบ้างจึงจะมีการเรียนในชั้นและทำแปลงขนาดสำหรับนักเรียนฝึกปลูกพืชผักแถมยังแปลง 50 ต.ร.ม. เพิ่มอีก 1 แปลงด้วย (คุณประเสริฐ รัตนคม ปัจจุบันอยู่ที่ จ.ว. พิษณุโลก ทํางานเกี่ยวกับโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์)

พระฆงดำ

คำว่า “พระฆง” ก็คือพระพิมพ์ที่บรรจุกรุตามจังหวัดลำพูนและจังหวัดอื่น ๆ สำหรับ จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศไทย ว่าเป็นแหล่งพระเครื่องที่ทรงพุทธานุภาพ เป็นเลิศคือ พระรอด และ พระฆง ซึ่งเรียกรวม ๆ กันไปว่า พระลำพูน ถ้าเป็นพระพิมพ์ สีดำยิ่งขลังมาก เขาถือกันว่าอย่างนั้น พวกนักเรียนเกษตรแม่โจ้ที่ภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือจึงเรียก อาจารย์พระช่วงฯ ว่า “พระฆงดำ” เพราะท่านผิวดำ ร่างไม่สูงนัก พูดเก่งและเด็ดขาด พวกผม จึงตั้งฉายาท่านว่า “พระฆงดำ” ท่านเดินเก่งและเร็ว อีกทั้งบริเวณแม่โจ้ก็ยังเป็นป่าทึบอยู่ ขณะที่ทำงานระดมอยู่เป็นพวก ๆ หรือเป็นหมวด ๆ นั้น เผลอไม่ได้ไม่รู้ท่านมาจากไหน แผลบเดียวท่านออกจากป่ามายืนอยู่ข้างหลังพวกผมกำลังขุดดินอยู่ราวกับปาฏิหารย์ มีวันหนึ่งผม และคุณประเสริฐ รัตนาคม กำลังขุดดินอยู่ ปากก็พูดคุยกันไปพร้อมกับขุดดิน ที่พูดดัง ๆ ก็ เพื่อให้ช่วยแก้เหนื่อยได้ คุณประเสริฐไปจากจังหวัดพิษณุโลก เพิ่งจะรู้ว่า วัฒโนทัยเป็นโรงเรียน สตรีของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะขุดดินทีหนึ่งก็ตะโกน “วัฒโน ๆ” ไปพร้อมจังหวะจอบ เผลอ ประเดี๋ยวเดียวอาจารย์คุณพระช่วงฯ มาจากไหนเมื่อไรไม่ทราบ ยืนอยู่ข้างหลังคุณประเสริฐโดย คุณประเสริฐไม่รู้ ส่วนคุณประเสริฐก็ขุดดินทีก็ตะโกน วัฒโน ๆ ไปเรื่อย ๆ อาจารย์ คุณพระช่วง ฯ ท่านก็ว่า ที่หลังอย่าทำเสียงขณะทำงานนะ หลังจากนั้นทุก ๆ คนก็ทำงานโดยไม่ มีการส่งเสียงอีกต่อไป นี่แหละครับความขลังของ “พระฆงดำ” วันต่อ ๆ ไปขณะที่ทำงานทุก คนจะมองรอบ ๆ มองดูต้นทางที่อาจารย์คุณพระช่วงฯ จะมา ถ้าเห็นอาจารย์กำลังเดินมาแต่ไกล เขาจะตะโกนดังๆ ว่า “เฮ้ย พระฆงดำมา”

ริเริ่มเพื่อชาติบ้านเมือง

ขณะที่ผมเรียนอยู่ปี 2 คือปี พ.ศ. 2478 มีการศึกษาเรื่องวิชาพืชไร่ด้วย ท่าน อาจารย์ใหญ่ก็ได้ให้การศึกษาแก่นักเรียนแม่โจ้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นของใหม่ คือ ยาสูบ

ผมได้รับมอบแปลงฝึกหัดเนื้อที่ 50 ตารางเมตร สำหรับฝึกหัดปลูกยาสูบพันธุ์ ต่างประเทศ เพราะขณะนั้นบริษัท B.A.T (British American Tobacco) กำลังเริ่มดำเนินงาน ยาสูบเวอร์ยิเนียที่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการ สมัยนั้นท่านเป็นทั้งอาจารย์ใหญ่ ร.ร. ฝึกหัดครูและหัวหน้าสถานีทดลองของกรมเกษตร ท่านรู้จักฝรั่งผู้จัดการใหญ่ดูเหมือนจะชื่อ มิสเตอร์ ปีตาร์ด ท่านจึงมาเริ่มทดลองขั้นต้นว่า ยาสูบเวอร์ยิเนียพันธุ์ไหนจึงจะเหมาะกับสภาพ ดิน ฟ้า อากาศ ของจังหวัดภาคเหนือ งานนี้ท่านก็ใช้แรงนักเรียนแม่โจ้เป็นเสมือนชาวไร่ ท่านพานักเรียนไปศึกษาและดูวิธีเพาะเมล็ดยาสูบ เริ่มแรกก็เพาะในแปลงกระจก คือขอบแปลงก็ใช้ฝากระจก ฝาปิดก็ฝากระจก พอเมล็ดยางอกและกล้าโต ใบโต ขนาดเท่าเหรียญ 5 สตางค์ ก็ย้ายออกจากแปลงเพาะไปปลูกในแปลงใหญ่ ให้โตพอต้นทานแสง แดดจัดได้ย้ายปลูกต่อไป พันธุ์ยาเวอร์ยิเนียที่นำมาทดลองปลูกในแม่โจ้ก็ราว ๆ 10 พันธุ์ แต่ ผมจำได้ไม่หมด มีที่จำได้ก็คือ พันธุ์ฮิกกอรี่ (Hickory) พันธ์ไว้ท์เบอร์เลย์ (White Berley) พันธุ์มารีแลนด์ (Mary land) พันธุ์จอยเน่อร์ (Joyner) ฯลฯ

ท่านจ่ายกล้ายาพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้ให้นักเรียกปลูกในแปลง ผมเองได้รับภาระปลูกพันธุ์ ไวท์เบอร์เลย ซึ่งภายหลังทราบว่า เป็นใบยาใช้มวนบุหรี่ซิกก้า กว้างเกือบเท่าใบสัก ต้นสูง พนักงานคุมคนงานเกี่ยวกับเรื่องยาสูบนี้เท่าที่ผมจำได้ก็มี เจ้าชื่น สิโรรส กับ คุณมงคล งามวิสัย (ถึงแก่กรรมแล้ว) และอาจมีคนอื่นก็ได้ซึ่งผมไม่ทราบ เมื่อจ่ายให้นักเรียนไปปลูกก็รู้สึกว่า เติบโตที่เป็นส่วนมาก แต่ก็มีบางพันธุ์เจริญเติบโตไม่เต็มที่ ต่อมาทางฝ่ายสถานีทดลองแม่โจ้ ก็ขยายการทดลองให้กว้างขวางต่อไป จนกระทั่งทางบริษัท B.A.T ลงทุนสร้างเตาบ่มให้สถานี ทดลองๆ หนึ่งเตานี้เป็นก้าวแรกของยาสูบในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และต่อมาการปลูกยาสูบเวอร์ยิเนีย ได้ขยายกิจการกว้างขวางออกไปเกือบทุกจังหวัดทางภาคเหนือและได้ลง ไปจนถึงสุโขทัย ปัจจุบันยาสูบพันธุ์ต่างประเทศกลายเป็นพืชเงินของเกษตรภาคเหนือ และเป็นสินค้าส่งขายต่างประเทศ และยังทำให้คนไทยมีบุหรี่ซิกกาแรตสูบในราคาถูกกว่าต่างประเทศมาจน ทุกวันนี้ ทั้งนี้สมควรจารึกไว้ได้ว่า ท่าอาจารย์คุณพระช่วง ฯ เป็นผู้หนึ่งที่ได้บุกเบิกอาชีพยาสูบ ให้ได้เป็นผลสำเร็จและกระจายความรู้นี้ออกไปทั่วในหมู่ชาวไร่ ทำให้ได้มีรายได้ดีขึ้นกว่าเดิม เรื่องการศึกษาพืชไร่ที่ท่านอาจารย์ใหญ่นำมาให้พวกนักเรียนแม่โจ้ได้ศึกษานอกจากยาสูบพันธุ์ ต่างประเทศแล้ว ก็มีถั่วเหลืองอีกอย่างหนึ่งที่ท่านให้นักเรียนฝึกหัดปลูกในแปลง เพื่อหาความชำนาญ เพราะถั่วเหลืองเป็นพืชอาหารสำคัญอย่างหนึ่งของภาคเหนือ

ถั่วเหลืองหรือถั่วเน่า

ทำไมประชาชนภาคเหนือจึงเรียกถั่วเหลือว่า “ถั่วเน่า” ทั้งนี้ก็เพราะว่า ชาวไทยใหญ่ ในภาคเหนือใช้เป็นอาหาร ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร เท่าที่ใช้กันในขณะนั้นก็คือ

เอาถั่วเหลืองที่กะเทาะเปลือกแล้วแช่น้ำให้อิ่มตัว และนำไปนึ่ง (Steaming) ให้สุก แล้วนำใส่ภาชนะหมักให้บูด หรือ เน่า พอมีกลิ่น ต่อไปจึงเอาไปตำให้ละเอียด แล้วนำมาทำเป็น แผ่น ๆ ตากแห้ง ชาวบ้านจึงมักจะเรียกแผ่นถั่วนี้ว่า “ถั่วเน่าแอ๊บ” ถ้าจะรับประทานนำไป ปิ้งไฟให้เหลืองสุกดีแล้วเอาไปตำน้ำพริกแดงกินกันโดยไม่ใช้ปลาร้าหรือกะปี นอกจากนี้ยังนำไป ตำน้ำพริกอ่องแบบของชาวไทยใหญ่ก็ได้ นำไปตำใส่ผักกาดจอแทนปลาร้าก็ได้ ผักกาดจอ คือต้มส้มผักกาด แต่ในที่นี้ผมอยากให้ทราบแต่เพียงว่า อาจารย์คุณพระช่วงฯ ท่านเริ่ม ทดลองให้นักเรียนปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝน ในแปลงของนักเรียนนี้เป็นรากฐานการริเริ่มของ ถั่วเหลืองเท่านั้น

ผู้เขียน : นายตาคำ (ชื่อเปลี่ยนใหม่เป็น กำจร) บุญแปง ศิษย์รุ่นแรก เลขประจำตัว 2 ปี 2477-2478 (เรียน 2 ปี) (เขียนเท่าที่จำได้และประสพมากับตนเอง ขณะศึกษาอยู่แม่โจ้)

ที่มา : หนังสือหนังสือเกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอาจารย์อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524 หน้า 221-225